บาลีวันละคำ

อาญาสิทธิ์ (บาลีวันละคำ 1,648)

อาญาสิทธิ์

อ่านว่า อา-ยา-สิด

ประกอบด้วย อาญา + สิทธิ์

(๑) “อาญา

บาลีเป็น “อาณา” (อา-นา) รากศัพท์มาจาก อาณฺ (ธาตุ = ส่งไป) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อาณฺ + = อาณ + อา = อาณา แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องส่งไป” ขยายความว่า “ส่งคำสั่งไปประกาศให้รู้และให้ปฏิบัติตาม” หมายถึง คำสั่ง, ข้อบังคับ, การบังคับบัญชา, การสั่ง, อำนาจ (order, command, authority)

อาณา” สันสกฤตเป็น “อาชฺญา” อ่านว่า อาด-ยา (เสียงที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดคือ อาด-เชีย) เอามาใช้ในภาษาไทยจึงมักออกเสียงตามสะดวกลิ้นไทยว่า อาด-ชะ-ยา

นอกจากปรับเสียงแล้วเรายังปรับรูปเป็น “อาญา” อีกรูปหนึ่ง ในภาษาไทยจึงมีใช้ทั้ง อาญา อาณา และ อาชญา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาญา : (คำนาม) อํานาจ; โทษ (มักใช้สําหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย) เช่น พระราชอาญา. (ป. อาณา; ส. อาชฺญา); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) คดีที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดตามกฎหมายอาญา เรียกว่า คดีอาญา แตกต่างกับคดีที่ฟ้องร้องเกี่ยวกับสิทธิส่วนเอกชน ซึ่งเรียกว่า คดีแพ่ง.”

(๒) “สิทธิ์

บาลีเขียน “สิทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ, อ่านว่า สิด-ทิ) รากศัพท์มาจาก สิธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ทฺธิ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ (สิธฺ > สิ)

: สิธฺ > สิ + ติ > ทฺธิ = สิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จ” หมายถึง การกระทำสำเร็จ, ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง (accomplishment, success, prosperity)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สิทธิ-, สิทธิ์ : (คำนาม) อำนาจอันชอบธรรม เช่น บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) อํานาจที่จะกระทําการใด ๆ ได้อย่างอิสระ โดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย (อ. right)”

อาญา + สิทธิ์ = อาญาสิทธิ์ แปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จที่เกิดจากอำนาจ” หรือ “อำนาจที่ทำให้เกิดความสำเร็จ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาญาสิทธิ์ : (คำนาม) อํานาจเด็ดขาด คือ สิทธิที่แม่ทัพได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดินในเวลาไปสงครามเป็นต้น, อาชญาสิทธิ์ ก็ว่า, โดยมีสิ่งสําคัญคือพระแสงดาบเป็นเครื่องหมาย เรียกว่า พระแสงอาญาสิทธิ์ หรือ พระแสงอาชญาสิทธิ์.”

…………..

แถม :

พจนานุกรมไทย-อังกฤษ โดยทั่วไปแปล “อาญาสิทธิ์” เป็นอังกฤษว่า absolute power ซึ่งมีความหมายว่า อำนาจเด็ดขาด

โดยนัยนี้ “อาญา” คือ power และ “สิทธิ์” คือ absolute

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล power เป็นบาลีไว้ดังนี้ –

(1) satti สตฺติ (สัด-ติ) = ศักย์, ความสามารถ

(2) bala พล (พะ-ละ) = กำลัง

(3) sāmatthiya สามตฺถิย (สา-มัด-ถิ-ยะ) = ความสามารถ

(4) thāma ถาม (ถา-มะ) = ความแข็งแรง, กำลัง

(5) pabhāva ปภาว (ปะ-พา-วะ) = อำนาจ, อานุภาพ

และแปล absolute เป็นบาลีไว้ดังนี้ –

(1) paripuṇṇa ปริปุณฺณ (ปะ-ริ-ปุน-นะ) = เต็มที่

(2) kevala เกวล (เก-วะ-ละ) = ทั้งมวล, ทั่วทั้งหมด

(3) ekaṃsika เอกํสิก (เอ-กัง-สิ-กะ) = สุดโต่งไปข้างเดียว, มีได้เพียงอย่างเดียว

(4) asīmita อสีมิต (อะ-สี-มิ-ตะ) = ไม่ถูกกำหนดขอบเขต

(5) abādhita อพาธิต (อะ-พา-ทิ-ตะ) = ไม่มีสิ่งไรๆ มากีดขวาง

(6) nicca นิจฺจ (นิด-จะ) = แน่นอน

(7) dhuva ธุว (ทุ-วะ) = ยั่งยืน

(8) asaṅkhata อสงฺขต (สัง-ขะ-ตะ) = ไม่มีสิ่งไรๆ มาเป็นตัวแปร

(9) paramattha ปรมตฺถ (ปะ-ระ-มัด-ถะ) = ประโยชน์สูงสุด

โปรดสังเกตว่า คำแปลเป็นบาลีไม่มีศัพท์ว่า “อาณา” หรือ “สิทฺธิ

ไม่ได้หมายความว่าไทยเราแปลอังกฤษเป็นบาลีผิด เพราะวิธีคิดย่อมต่างกัน

อีกประการหนึ่ง เราอาจจะมีคำว่า “อาญาสิทธิ์” มาก่อนที่จะเห็นคำอังกฤษว่า absolute power

เพราะฉะนั้น ดูวิธีถ่ายคำไว้พอเป็นทางนำให้เกิดความคิดนึกตรึกตรอง

…………..

: กับคนพาล ต้องใช้อาญาสิทธิ์

: กับบัณฑิต ต้องใช้เหตุผล

8-12-59