คณนะ-คณนา-คณานับ (บาลีวันละคำ 908)
คณนะ-คณนา-คณานับ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำพวกนี้ไว้ทั้ง 3 คำ คือ
(1) คณนะ อ่านว่า คะ-นะ-นะ
(2) คณนา อ่านว่า คะ-นะ-นา, คัน-นะ-นา, คน-นะ-นา
(3) คณานับ อ่านว่า คะ-นา-นับ
พจน.54 บอกความหมายไว้ว่า –
(1) คณนะ, คณนา : (คำแบบ) (คำกริยา) นับ เช่น สุดที่จะคณนา, คณานับ ก็ว่า เช่น สุดคณานับ. (ป., ส.).
(2) คณานับ : (คำกริยา) นับ.
ภาษาบาลีมีธาตุ (= รากของศัพท์) ตัวหนึ่ง คือ คณฺ ธาตุ (อ่านว่า คะ-นะ-ทาด) มีคำบอกความหมายว่า –
(1) คณเน = นับ, คำนวณ
(2) สงฺขฺยาเน = นับ
และมีศัพท์ที่ออกมาจาก คณฺ ธาตุคำหนึ่ง คือ “คณนา” (คะ-นะ-นา) กระบวนการทางไวยากรณ์คือ คณฺ + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลง อา ปัจจัยอิตถีลิงค์
: คณฺ + ยุ > อน = คณน + อา = คณนา แปลตามศัพท์ว่า “การนับ” (counting) ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การนับให้รู้ยอด, เลขคณิต, จำนวน (counting up, arithmetic, number)
(2) การนับ, การสำรวจ, สถิติ (counting, census, statistics)
(3) ศาสตร์ในการนับ, วิชาเลขสำหรับศึกษาและประกอบอาชีพ (the art of counting, arithmetics as a study & a profession)
“คณนา” คนเก่าออกเสียงตามสะดวกปากว่า “ครณา” (คอ-ระ-นา-) บางทีก็ตัดสั้นลงอีกเป็น “คณา” (คะ-นา) เช่น “แค่นี้ไม่ครณามือ” “แค่นี้ไม่คณามือ” หมายความว่า งานแค่นี้หรือเรื่องแค่นี้สามารถจัดการได้อย่างง่ายดาย
นับไม่ถ้วน ? :
มือหยิบจับนับอะไรได้ถ้วนทั่ว
นิ้วมือตัวมีกี่ข้อหนอฉงน
รู้อะไรในพิภพจบสากล
แต่ไม่รู้จักตนก็โง่ตาย
—————-
(ตามคำถามของคุณหมอ San C. Too)
#บาลีวันละคำ (908)
12-11-57