บาลีวันละคำ

น้ำปานะ (บาลีวันละคำ 909)

น้ำปานะ

คำว่า “น้ำปานะ” เมื่อใช้พูดในหมู่ชาวพุทธ หมายถึงเครื่องดื่มที่ถวายพระภิกษุสามเณรหลังเที่ยงวันไปแล้ว

ธรรมเนียมชาวพุทธนิยมอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสามเณร 2 เวลา คือ ก่อนเที่ยงถวายภัตตาหาร หลังเที่ยงถวายน้ำปานะ

น้ำปานะ” เป็นคำที่ตัดมาจากคำว่า “อัฏฐปานะ” (อัด-ถะ-ปา-นะ) ใช้ในภาษาไทยว่า “อัฐบาน” (อัด-ถะ-บาน) สะกดเป็น “อัฏฐบาน” ก็มี

อัฐบาน” บาลีเขียน “อฏฺฐปาน” ประกอบด้วย อฏฺฐ + ปาน

อฏฺฐ” (อัด-ถะ) แปลว่า แปด (จำนวน 8)

ปาน” (ปา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “อันควรดื่ม” หมายถึง น้ำดื่ม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปาน” ว่า drink, including water as well as any other liquid (เครื่องดื่ม รวมถึงน้ำและของเหลวชนิดอื่นๆ)

อฏฺฐ + ปาน = อฏฺฐปาน แปลว่า เครื่องดื่ม 8 ชนิด

เครื่องดื่ม 8 ชนิดที่ระบุไว้ในคัมภีร์ ได้แก่ –

(1) อมฺพปานํ น้ำมะม่วง

(2) ชมฺพุปานํ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า

(3) โจจปานํ น้ำกล้วยมีเม็ด

(4) โมจปานํ น้ำกล้วยไม่มีเม็ด

(5) มธุกปานํ น้ำมะซาง

(6) มุทฺทิกปานํ น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น

(7) สาลุกปานํ น้ำเหง้าอุบล

(8) ผารุสกปานํ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อัฐบาน : น. นํ้าที่คั้นจากผลไม้ มี ๘ อย่าง คือ นํ้ามะม่วง นํ้าชมพู่หรือนํ้าหว้า นํ้ากล้วยมีเม็ด นํ้ากล้วยไม่มีเม็ด นํ้ามะซาง นํ้าลูกจันทน์หรือน้ำองุ่น นํ้าเหง้าอุบล นํ้ามะปรางหรือน้ำลิ้นจี่, เขียนว่า อัฏฐบาน ก็มี.”

อัฏฐปานะ คนเก่าเรียกว่า “น้ำอัฐบาน

เดี๋ยวนี้นิยมเรียกว่า “น้ำปานะ

ปัญหา :

ปัจจุบันมีเครื่องดื่มและเครื่องปรุงที่ชงเป็นเครื่องดื่มที่ผลิตขึ้นใหม่ๆ หลากหลายชนิดนอกเหนือไปจากเครื่องดื่ม 8 ชนิดที่ระบุไว้ในคัมภีร์ เวลานำไปถวายพระภิกษุสามเณรก็เรียกคลุมๆ ไปว่า “น้ำปานะ

ปัญหาก็คือ เครื่องดื่ม/เครื่องปรุงชนิดไหนบ้างที่พระภิกษุสามเณรควรดื่มหรือไม่ควรดื่ม ขณะนี้ดูเหมือนจะขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสำนัก แต่ยังไม่มีมาตรฐานกลางของคณะสงฆ์

: สัตว์ มองลัดแค่-กิน

: คนทั่วไป มองไกลไปที่-วิธีหากิน

: บัณฑิต มองพินิจลงไปว่า-ควรกินหรือไม่ควรกิน

—————–

(ใช้หนี้ให้ Metha Luongpee ผู้เป็นเจ้าหนี้มาตั้งแต่ 29 มิ.ย.57-และขออภัยในความไม่สะดวก)

#บาลีวันละคำ (909)

13-11-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *