ศาสตร์พระราชา (บาลีวันละคำ 1,652)
ศาสตร์พระราชา
บาลีว่าอย่างไร
………..
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2559 เวลา 20.15 น. มีข้อความตอนหนึ่งว่า –
“แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคตแล้ว แต่ ‘ศาสตร์พระราชา’ ยังคงอยู่คู่แผ่นดินไทย”
………..
“ศาสตร์” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “สตฺถ” (สัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (ส)-สฺ เป็น ตฺ
: สสฺ + ถ = สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” คำเดิมหมายถึง “ของมีคม” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศสฺตฺร” แปลว่า ดาบ, มีด, อาวุธ ใช้ในภาษาไทยว่า ศัสตรา หรือ ศาสตรา บางทีก็พูดควบกันว่า ศาสตราวุธ หรือ ศาสตราอาวุธ (weapon, sword, knife)
(2) สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ถ ปัจจัย แปลง รฺ เป็น ตฺ
: สรฺ + ถ = สรฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “หมู่เป็นที่เป็นไปแห่งส่วนย่อยทั้งหลาย” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “สารฺถ” หมายถึง กองเกวียนของพ่อค้า, กองคาราวาน, ขบวนยานพาหนะ (caravan)
(3) สาสฺ (ธาตุ = สอน) + ถ ปัจจัย, รัสสะ (หดเสียง) อา ที่ สา-(สฺ) เป็น อะ (สาสฺ > สสฺ), แปลง สฺ เป็น ตฺ
: สาสฺ + ถ = สาสฺถ > สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องสอนเนื้อความ” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศาสฺตฺร” หมายถึง คัมภีร์, ตำรา, ศิลปะ, วิชา หรือ ระบบวิชาความรู้. ใช้ในภาษาไทยว่า “ศาสตร์” (science, art, lore)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ศาสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศาสตร์’ คำสั่งหรือบัญชา; เวท, วิทยา, ธรรมศาสตร์, กฎหมาย; หนังสือทั่วไป; an order or command; scripture or Veda, science, institutes of religion, law; a book in general.”
ความหมายของ “ศาสตร์” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศาสตร-, ศาสตร์ : (คำนาม) ระบบวิชาความรู้, มักใช้ประกอบหลังคําอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์. (ส.).”
คำว่า “ศาสตร์พระราชา” ถ้าฟังเฉพาะเสียง อาจเขียนได้อีกอย่างหนึ่งว่า “ศาสน์พระราชา” คือเปลี่ยนจาก “ศาสตร์” เป็น “ศาสน์”
“ศาสน์” บาลีเป็น “สาสน” (สา-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน
: สาสฺ + ยุ > อน = สาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันท่านสั่งสอน” (2) “คำเป็นเครื่องสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก”
(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ส-(สฺ) เป็น อา (สสฺ > สาส)
: สสฺ + ยุ > อน = สสน > สาสน แปลตามศัพท์ว่า “คำสั่งสอนที่เบียดเบียนกิเลส”
คำว่า “สาสน” ในบาลีใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –
(1) คำสอน = teaching หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “ศาสนา”
(2) คำสั่ง (ในทางปกครองบังคับบัญชา) = order (to rule, govern)
(3) ข่าว = message คือที่เราคุ้นกันในคำว่า “สาส์น” (สาน)
บาลี “สาสน” สันสกฤตเป็น “ศาสน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศาสน : (คำนาม) คำสั่ง, บัญชา, ราชศาสน์หรือราชาชญา; ศาสนบัตร์หรือประทานบัตร์; ลิขิต; หนังสือสัญญา; ศาสตร์, ธรรมศาสตร์, หรือพระเวท; ธรรมกริยา, ตบัสหรือการระงับราคะ; การปกครอง; an order, a command; an edict; a royal grant; writing; a written contract or agreement; a Śastra, a religious scripture, or a Veda; devotion, devotional tranquility or the government of the passions; government or governing.”
ความหมายของ “ศาสน์” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศาสน-, ศาสนา : (คำนาม) ลัทธิความเชื่อถือของมนุษย์อันมีหลัก คือแสดงกําเนิดและความสิ้นสุดของโลกเป็นต้น อันเป็นไปในฝ่ายปรมัตถ์ประการหนึ่ง แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับบุญบาปอันเป็นไปในฝ่ายศีลธรรมประการหนึ่ง พร้อมทั้งลัทธิพิธีที่กระทําตามความเห็นหรือตามคําสั่งสอนในความเชื่อถือนั้น ๆ. (ส. ศาสน ว่า คําสอน, ข้อบังคับ; ป. สาสน).
………
ในภาษาไทย :
“ศาสตร์” เน้นที่หลักวิชาความรู้ (science)
“ศาสน์” เน้นที่คำสั่งสอนเพื่อนำไปปฏิบัติ (order, teaching)
“ศาสตร์พระราชา” บาลีว่า “ราชสตฺถ” (รา-ชะ-สัด-ถะ) = ราชศาสตร์ (ราด-ชะ-สาด) หมายถึง หลักวิชาของพระราชา
“ศาสน์พระราชา” บาลีว่า “ราชสาสน” (รา-ชะ-สา-สะ-นะ) = ราชศาสน์ (ราด-ชะ-สาด) หมายถึง คำสั่งสอนของพระราชา
…………..
: ถ้าอยู่แค่ “ศาสตร์พระราชา” ก็มีค่าเพียงแค่ “รู้อะไร”
: ถ้าไปให้ถึง “ศาสน์พระราชา” ก็เข้าถึงคุณค่าว่า “ทำอะไร”
12-12-59