บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ผิดไม่เป็น

ผิดไม่เป็น

———-

ตอนที่มีการบวชถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อครบปัญญาสมวาร มีสื่อหลายสำนักใช้คำพูดว่า 

“บวชที่วัด…นี้แล้วไปจำวัดที่วัด…โน้น”

คำว่า “จำวัด” เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการใช้คำผิดความหมายของบรรดาสื่อทั้งหลายอันเกิดจากการไม่ศึกษาเรียนรู้หลักวิชาของเดิม หากแต่ยึดเอาความเข้าใจของตัวเองเป็นหลัก

ตามความหมายที่ใช้กันในภาษาไทย “จำวัด” หมายถึงพระนอนหลับ

ไปเปิดพจนานุกรมดูได้

หรือจะตีรวนอีกว่าพจนานุกรมก็เชื่อไม่ได้ (ความเข้าใจของข้าพเจ้าเชื่อได้กว่า)

แต่สื่อเอา “จำวัด” มาใช้ในความหมายว่า-พักอยู่ประจำที่วัด

“ไปจำวัดที่วัดโน้น” หมายความว่า ไปพักอยู่ที่วัดโน้น

ไม่รับรู้ความหมายว่า “จำวัด” หมายถึง “พระนอนหลับ” ใดๆ ทั้งสิ้น

เหมือนคนอ่านอังกฤษพยายามจะเกณฑ์ให้ sleep หมายถึง stay เพราะเห็นว่าขึ้นต้นด้วยตัว s เหมือนกัน

จำวัด คือ sleep

พักอยู่ที่วัด คือ stay

แต่สื่อบอกว่า “จำวัด” คือ stay

ใครบอกว่า จำวัด คือ sleep นั่นแหละผิด!

ก็ข้าจะใช้ของข้าอย่างนี้ ใครจะทำไม

—————–

มีเรื่องขำขันสั้นๆ เกี่ยวกับคำว่า “จำวัด” ที่นิยมเอาไปเล่ากัน คือพระเป็นโรคนอนไม่หลับ ไปหาหมอ เล่าอาการว่า “จำวัดไม่ได้” 

หมอถามว่า แล้วท่านจะกลับวัดถูกหรือ

…………..

พระบอกว่า “จำวัดไม่ได้” หมายถึงนอนไม่หลับ จึงต้องมาหาหมอ

แต่หมอเข้าใจไปว่า “จำวัดไม่ได้” คือจำไม่ได้ว่าอยู่วัดไหน หรือจำทางกลับวัดไม่ได้

ตลกเรื่องนี้กลายเป็นคำยืนยันที่ดีว่า “จำวัด” ใครๆ ก็รู้กันดีว่าหมายถึงพระนอนหลับ พระเองท่านก็รู้ความหมายนี้ เมื่อท่านนอนไม่หลับท่านจึงใช้คำว่า “จำวัดไม่ได้” และที่ท่านไปหาหมอก็เพราะท่านนอนไม่หลับ ไม่ใช่เพราะจำทางกลับวัดไม่ได้ หรือจำไม่ได้ว่าตัวเองอยู่วัดไหน

แต่ตลกเรื่องนี้ก็กลายเป็นเรื่องดูถูกหมอไปโดยปริยาย-ที่คนระดับเรียนหมอได้ (ซึ่งหมายถึงต้องมีสติปัญญาดี) กลับไม่รู้ความหมายของคำว่า “จำวัด”

แต่เมื่อเป็นเรื่องตลก ก็ไม่ต้องคิดถึงเหตุผล อ่านเอาตลกเป็นสำคัญ

อ่านเอาตลก แต่ก็ได้แง่คิดว่ามีคนเอาคำว่า “จำวัด” ไปคิดกันแปลกๆ 

นั่นหมายถึงว่า ถ้าเอา “จำวัดไม่ได้” (นอนไม่หลับ) ไปตีความว่า-จำไม่ได้ว่าอยู่วัดไหน แบบนั้นได้ ก็ต้องมีคนเอา “จำวัด” ไปตีความได้ด้วยเช่นกันว่าหมายถึงอยู่ประจำที่วัด 

“จำ” คืออยู่ประจำที่

“วัด” ก็คือวัด

“จำวัด” จึงคือ-อยู่ประจำที่วัดนั้นวัดนี้

ถ้ารู้ความหมายที่ถูกต้องว่า “จำวัด” คือพระนอนหลับ 

ถามว่า จะต้องเอามาตีความใหม่อย่างที่เล่ามานี้หรือ

การเข้าใจความหมายผิดไปจากเดิมจะไม่เกิด ถ้าศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจความหมายเดิมของถ้อยคำ

และเรื่องตลกข้างต้นจะไม่ตลกเลยถ้าคนฟังไม่รู้ความหมายจริงๆ ของคำว่า “จำวัด”

เรื่อง “จำวัดไม่ได้” มุกตลกอยู่ตรงที่พระใช้คำว่า “จำวัด” ตามความหมายเดิม ซึ่งคนฟังเรื่องนี้จะต้องรู้ความหมายอยู่แล้วจึงจะขำ 

ขำตรงที่-หมอเข้าใจคำว่า “จำวัด” ไปในอีกความหมายหนึ่ง

แต่สื่อเอาคำว่า “จำวัด” มาใช้ในความหมายที่เข้าใจเอาเอง เพราะไม่รู้ความหมายเดิม ไม่ใช่เพราะต้องการให้เป็นเรื่องขำขัน

และคนที่รู้เข้าใจความหมายเดิมก็ย่อมจะไม่ขำ แต่จะรู้สึกสังเวชว่า เออ! มันไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนอะไรเลย แหล่งตรวจสอบหาความรู้-คือพจนานุกรม-ก็มี แต่ไม่ทำ ไพล่ไปเอาความเข้าใจของตัวเองเป็นหลัก

—————–

สมัยหนึ่งนานมาแล้ว เคยมีเสียงบ่นว่าหนังสือพิมพ์ (สมัยนั้นหนังสือพิมพ์ขึ้นหน้า สื่ออื่นๆ ยังไม่ค่อยมี) ว่าใช้ถ้อยคำภาษาแปลกๆ และมักเขียนผิดพลาดคลาดเคลื่อน ทำให้เยาวชนจำไปใช้ผิดๆ

ผมจำได้แม่นว่าฝ่ายหนังสือพิมพ์ออกมาพูดแก้ว่า 

๑ หนังสือพิมพ์ต้องทำงานแข่งกับเวลา ไม่มีโอกาสที่จะมาพิถีพิถันถ้อยคำภาษาให้ถูกหลักไวยากรณ์ไปเสียทุกคำ และ –

๒ เยาวชนจะจำอะไรไปใช้ผิดๆ ไม่ใช่ความรับผิดชอบของหนังสือพิมพ์ เพราะหนังสือพิมพ์ไม่ใช่แบบเรียน

ถ้าคนที่เป็นต้นคิดคำแก้ตัวของฝ่ายหนังสือพิมพ์ยังมีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ ก็คงจะได้เห็นแล้วว่าที่อ้างว่า “หนังสือพิมพ์ไม่ใช่แบบเรียน” นั้น ไม่จริงเลย เพราะสื่อทุกชนิดเป็นแบบเรียนได้ทั้งนั้น

แบบเรียนไม่จำกัดอยู่แค่หนังสือที่อ่านดูรู้เห็นกันเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น

การทำอะไรให้ปรากฏแก่สายตาของผู้อื่นถือว่าเป็นแบบเรียนทั้งสิ้น

—————–

คำว่า “เทียนจำนำพรรษา” ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของการไม่ศึกษาเรียนรู้หลักวิชาเดิม หากแต่พอใจที่จะใช้ตามกันไป

คำนี้ต้นเหตุมาจากมีคนเรียกผ้าอาบน้ำฝนว่า “ผ้าจำนำพรรษา” ซึ่งเป็นการเรียกผิด

ผ้าอาบน้ำฝนไม่ใช่ผ้าจำนำพรรษา

ผ้าอาบน้ำฝนกับผ้าจำนำพรรษาเป็นผ้าคนละชนิดกัน

“ผ้าอาบน้ำฝน” เป็นผ้าสำหรับพระสงฆ์ใช้นุ่งสรงน้ำ (ผ้าผลัดอาบน้ำ) ชาวบ้านนิยมถวายก่อนวันเข้าพรรษา

“ผ้าจำนำพรรษา” เป็นผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบสามเดือนแล้วเพื่อให้พระเปลี่ยนจีวร ถวายหลังจากออกพรรษา แบบเดียวกับผ้ากฐิน 

แต่สังคมไทยแทบจะไม่รู้จัก “ผ้าจำนำพรรษา” ออกพรรษาแล้วก็เฮโลกันทอดกฐิน แต่ไม่มีใครถวายผ้าจำนำพรรษา เพราะไม่รู้จัก

มิหนำซ้ำมีคนช่วยกันทำให้เข้าใจผิดว่าผ้าจำนำพรรษาคือ “ผ้าอาบน้ำฝน”

ผ้าอาบน้ำฝนนั้นถวายก่อนเข้าพรรษา

มีคนเรียกผ้าอาบน้ำฝนผิด เป็น “ผ้าจำนำพรรษา”

เรียกผ้าอาบน้ำฝนว่า “ผ้าจำนำพรรษา” ก็ผิดชั้นหนึ่งแล้ว

เอาคำนั้นมาเรียกเทียนที่ถวายก่อนเข้าพรรษาว่า “เทียนจำนำพรรษา” เพราะเข้าใจว่าเหมือนผ้าจำนำพรรษา (ซึ่งเรียกผิดมาจากผ้าอาบน้ำฝน) จึงผิดซ้ำเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง

เรียกว่าผิดซ้ำซ้อนหรือผิดซ้ำซาก

เทียนที่ถวายก่อนเข้าพรรษาเขามีคำเรียกอยู่แล้วว่า “เทียนพรรษา” 

ก็ไม่เอา 

ไม่ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจ 

พอใจที่จะเรียกผิดๆ ตามกันไปว่า “เทียนจำนำพรรษา”

—————–

เมื่อปีที่แล้ว มีป้ายมาปักที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี ประกาศว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระราชทานเทียนจำนำพรรษา ประจำปี ๒๕๕๘ ให้แก่ วัดมหาธาตุวรวิหาร (ดูภาพประกอบ)

ประกาศนี้ก็ใช้คำว่า “เทียนจำนำพรรษา” 

เมื่อเป็นประกาศที่เกี่ยวกับเจ้านายเชื้อพระวงศ์ คนก็เกรง และพร้อมกันนั้นก็ย่อมจะพลอยเชื่อถือไปด้วยว่า คำว่า “เทียนจำนำพรรษา” เป็นคำที่ถูกต้อง ด้วยเหตุผลแบบคิดเอาเองว่า ถ้าไม่ถูกต้อง เจ้านายท่านจะใช้อย่างนี้หรือ

ความจริง ประกาศแบบนี้เจ้านายท่านไม่ได้เป็นผู้กำหนดถ้อยคำให้มาประกาศ เจ้าหน้าที่ผู้รับภารกิจมาดำเนินการต่างหากที่เป็นผู้ทำป้ายขึ้นมา แล้วก็ใช้ถ้อยคำไปตามความเข้าใจของตัวเอง

ผมเชื่อว่า นอกจากเรื่องนี้แล้ว น่าจะมีเรื่องอื่นๆ อีกที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้ทำไปตามความเข้าใจของตัวเอง แล้วทำไปทำมากลายเป็นว่าเป็นความประสงค์ของเจ้านาย

เมื่อเป็นประกาศที่เกี่ยวกับเจ้านายเชื้อพระวงศ์ คนก็เกรงอย่างที่ว่าแล้ว ขั้นแรกก็ไม่กล้าแตะต้อง และขั้นต่อไปก็มีแนวโน้มว่าจะพูดตามใช้ตาม ดังสุภาษิตอิศรญาณที่ว่า –

“ของสิ่งใดเจ้าว่างามต้องตามเจ้า 

ใครเลยเล่าจะไม่งามตามเสด็จ”

แทนที่จะช่วยกันแก้ไขผิดให้หมดไป แล้วใช้ถ้อยคำที่ถูก 

ก็เลยกลายเป็นสนับสนุนให้ผิดเป็นถูก

คิดกันบ้างหรือเปล่าว่า-เป็นการทำสิ่งที่ไม่เป็นเกียรติยศแก่เจ้านายไปโดยไม่รู้ตัว

—————–

ผิดกลายเป็นถูกที่ยกเป็นตัวอย่างได้อีกคำหนึ่ง คือคำว่า “อรหันต์” (พระอรหันต์) 

คำนี้เดิมกำหนดให้อ่านว่า อะ-ระ-หัน 

ในภาษาบาลีก็อ่านว่า อะ-ระ–

อยู่มาก็มีผู้ไม่รู้และไม่สนใจที่จะเรียนรู้ ไปอ่านว่า ออ-ระ-หัน เข้า

ถ้าคนที่อ่าน ออ-ระ-หัน เป็นคนใหญ่คนโตในบ้านเมือง ก็กลายเป็นข้ออ้างหรือเป็นคำรับรองไปในตัวว่า ไม่ผิด

สมัยก่อน มีคำอ้างอิงว่าคนระดับรัฐมนตรี หรือคนขนาดนายกรัฐมนตรีอ่านคำไหนว่าอย่างไรแล้ว จะมาว่าไม่ถูกไม่ได้ อ้างเหตุผลว่าคนระดับนี้ถ้าไม่แน่จริงเขาจะมาถึงตำแหน่งนี้ได้หรือ

ในที่สุด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ต้องปรับแก้คำอ่านเป็นว่า คำว่า “อรหันต์” อ่านว่า อะ-ระ-หัน ก็ได้ อ่านว่า ออ-ระ-หัน ก็ได้

พระอรหันต์ก็เลยกลายเป็นตัวอรหัน (ออ-ระ-หัน) –สัตว์ในนิยายไปเรียบร้อย

…………..

เรื่องที่ว่ามานี้ โดยเฉพาะคำว่า “จำวัด” “เทียนจำนำพรรษา” ผมเคยนำมาพูดคุยในเวทีแห่งนี้มาแล้ว แต่เวลานี้มีเหตุมากระทบจิตให้ชวนคิดถึงเรื่องทำนองนี้อยู่เนืองๆ ก็เลยยกมาว่าซ้ำ 

ขออภัยญาติมิตรไว้ ณ ที่นี้ด้วย

—————–

เมื่อมีปัญหาแบบนี้ สังเกตได้ว่ามักจะมีท่านจำพวกหนึ่ง จะว่านิยมทางประนีประนอมหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ออกมาบอกว่า ภาษาที่ยังไม่ตายย่อมคลี่คลายไปได้เรื่อยๆ การใช้คำผิดจากเดิม หรือใช้ในความหมายที่ผิดจากเดิม ตลอดจนที่อ่านผิดจากเดิม อาจมีแง่ที่ถูกต้องก็เป็นได้ 

เช่น “จำวัด” จะใช้ในความหมายที่ว่า “อยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่ง” ก็น่าจะใช้ได้ เพราะถ้อยคำก็ไม่ได้ขัดข้องตรงไหน-อย่างนี้เป็นต้น

สรุปก็คือ ท่านจำพวกนี้พอใจที่จะทิ้งหลักเดิม แล้วช่วยอธิบายผิดให้กลายเป็นถูก

เวลานี้มีท่านอีกจำพวกหนึ่งมาในมาดธรรมะ นั่นคือบอกว่า ถ้อยคำภาษาเป็นเรื่องสมมุติ เป็นอนิจจัง ไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่น คนส่วนใหญ่ใช้อย่างไร ก็ควรอนุวัตตาม เรื่องแบบนี้ไม่มีผิด ไม่มีถูก 

ฟังแล้วก็ทำให้นึกถึงนักศึกษาธรรมะสมัยใหม่ที่บอกว่า –

สันโดษคืองอมืองอเท้า ไม่ทำอะไร 

อุเบกขาคือวางเฉย ไม่รับผิดชอบอะไร

แล้วก็-ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ เป็นอนิจจัง ไม่ต้องไปแก้ไขอะไร

—————–

สัจจะนั้นท่านว่ามี ๒ อย่าง คือ –

๑ สมมติสัจจะ จริงโดยสมมติ คือจริงตามที่ตกลงยอมรับกัน

๒ ปรมัตถสัจจะ จริงโดยปรมัตถ์ คือจริงจริงๆ หรือจริงตามธรรมชาติธรรมดา ไม่ขึ้นอยู่กับสมมติของใคร

ท่านว่า สมมติสัจจะนั้นแม้จะเป็นเรื่องสมมติ แต่ก็เป็นเรื่องจริง คือเป็นสัจจะชนิดหนึ่งเหมือนกัน จึงต้องปฏิบัติต่อสัจจะชนิดนี้ให้ถูกให้ตรงให้จริงตามหลักตามเกณฑ์ของเรื่องนั้นๆ

ไม่ใช่อ้างว่าเป็นเรื่องสมมติ แล้วก็เลยทำอะไรๆ ได้อย่างเสรี ไม่ต้องมีหลักมีเกณฑ์

นักอธิบายธรรมะรุ่นครูท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนลิเกละครโขนหนัง ก็เป็นเรื่องสมมติ แต่เมื่อลงมือแสดงต้องแสดงให้สมบทบาท ให้สมจริง จึงจะประทับใจคนดู 

ถ้านักแสดงคิดไปว่าเป็นเรื่องสมมติ จะแสดงอย่างไรก็ได้ ก็เลยแสดงเล่นๆ เลอะๆ – นั่นคือบกพร่องต่อหน้าที่ ผลก็คือไม่มีใครอยากดู

อาจเพราะมีคนคอยอธิบายแก้แทนให้เช่นนี้ บรรดาท่านที่ใช้ถ้อยคำภาษาผิดๆ เมื่อผิดแล้วก็จึงมักจะเลยตามเลย คือไม่ยอมรับว่าผิด แต่กลับพยายามหาเหตุมาอ้างเพื่อให้เห็นว่า ที่ตนใช้ผิดนั้นถูกต้องแล้ว

อย่างคำว่า “จำวัด” เพียงแต่สื่อทำใจให้เป็นสัมมาทิฐิ ยอมรับความจริงว่า sleep ไม่ใช่ stay และ stay ก็ไม่ใช่ sleep แล้วหวนกลับไปศึกษาเรียนรู้ความหมายเดิมที่ถูกต้อง ก็จะเห็นชัดว่าผิดถูกเป็นอย่างไร แล้วกลับมาใช้ให้ถูกเสีย เรื่องก็จะยุติอย่างเรียบร้อยและสง่างาม 

แต่ไม่ทำ 

กลับดันทุรังจะให้ sleep มีความหมายอย่างเดียวกับ stay ให้จงได้

กลายเป็นเรื่อง-ข้าผิดไม่เป็น-ไปในที่สุด

ผมเชื่อว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานที่จะชำระปรับปรุงพิมพ์ครั้งต่อไป (อีกเมื่อไรก็ตาม) ที่คำว่า “จำวัด” จะต้องปรับแก้คำนิยามจากเดิมที่บอกว่า 

“จำวัด ก. นอนหลับ (ใช้แก่ภิกษุสามเณร).” 

เป็น – 

“จำวัด ๑ ก. นอนหลับ (ใช้แก่ภิกษุสามเณร).”

“จำวัด ๒ ก. พักอาศัยอยู่ในวัด (ใช้แก่ภิกษุสามเณร).”

รวมทั้งบรรดาคำต่างๆ ที่เขียนผิด อ่านผิด โดยท่านผู้ผิดไม่เป็นทั้งหลายก็จะถูกยกฐานะให้เป็นคำที่เขียนถูกอ่านถูกโดยทั่วหน้ากัน

ภาษาไทยจงเจริญเถิด

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๙

๑๑:๐๖

——-

ความคิดเห็นท้ายโพสต์

สมชาย แซ่จิว 

๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๙

แล้ว จำพรรษา นี่ใช้ได้ไหมครับอาจารย์

……

ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๙

คำที่ควรใช้คือ “จำพรรษา” นั่นแหละครับ แต่จะต้องมีคำอธิบาย เพราะพจนานุกรมท่านไปจำกัดความว่า “๓ เดือนในฤดูฝน” ซึ่งจะมีคนแย้งได้ว่า บวชนอกเทศกาลเข้าพรรษา แล้วบวชแค่ ๑๕ วัน ยังไม่ถึงเข้าพรรษา จะเรียกว่า “จำพรรษา” ได้อย่างไร

.

“จำพรรษา” เกิดในสมัยพุทธกาลซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระสงฆ์ส่วนใหญ่ยังไม่มีวัดอยู่ประจำ และยังนิยมจาริกไปตามที่ต่างๆ ตลอดทั้งปี พอถึงฤดูฝนจึงหยุดจาริก พักอยู่กับที่ตลอด ๓ เดือน “เข้าพรรษา” ในชั้นเดิมจึงมีความหมายตามที่พจนานุกรมท่านว่า

.

แต่ปัจจุบันในเมืองไทยพระมีวัดอยู่ประจำที่กันทั่วทั้งหมดแล้ว จะเป็นช่วงเวลาเข้าพรรษาหรือนอกพรรษาท่านก็อยู่ที่เดิมตลอด ความหมายของ “จำพรรษา” จึงควรขยายกว้างออกไป นั่นคือพจนานุกรมควรจะเพิ่มคำนิยามขึ้นอีกวรรคหนึ่งว่า “โดยอนุโลมหมายถึงอยู่ประจำที่วัดใดวัดหนึ่ง” ก็จะสมเหตุสมผลเป็นที่สุด

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *