บาลีวันละคำ

กรณียเมตตสูตร (บาลีวันละคำ 915)

กรณียเมตตสูตร

(ลำดับ 3 ในเจ็ดตำนาน)

กรณียเมตตสูตร” อ่านว่า กะ-ระ-นี-ยะ-เมด-ตะ-สูด

บาลีเป็น “กรณียเมตฺตสุตฺต” อ่านว่า กะ-ระ-นี-ยะ-เมด-ตะ-สุด-ตะ

ประกอบด้วยคำว่า กรณีย + เมตฺตา + สุตฺต

กรณีย” แปลตามศัพท์ว่า “พึงทำ” หรือ “ควรทำ” หมายถึง กิจที่ควรทำ, สิ่งที่ควรทำ, ข้อผูกพัน, หน้าที่, การงาน (what ought to be done, duty, obligation; affairs, business)

คำเต็มๆ ที่เราคุ้นคือ “กรณียกิจ

เมตฺตา” แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รักใคร่” “ธรรมชาติที่มีอยู่ในมิตร” หรือ “ธรรมชาติของมิตร” หมายถึง ความรัก, ความเป็นเพื่อน, ความเห็นอกเห็นใจกัน, ความเป็นมิตร, การเอาใจใส่ช่วยเหลือผู้อื่น (love, amity, sympathy, friendliness, active interest in others)

(ความหมายของ “สุตฺต” โปรดดูที่ “มงคลสูตร”)

กรณีย + เมตฺตา + สุตฺต = กรณียเมตฺตสุตฺต > กรณียเมตตสูตร มีความหมายว่า “พระสูตรว่าด้วยเมตตาที่ควรกระทำบำเพ็ญให้เกิดมีขึ้น

บรรยายความ:

กรณียเมตตสูตร เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมตตสูตร” เป็นสูตรที่ว่าด้วยการเจริญเมตตา และอานุภาพแห่งแมตตา กล่าวถึงคุณสมบัติที่ควรฝึกให้มีในตน เช่น ความเป็นผู้องอาจ พากเพียร ซื่อตรง อ่อนโยน เป็นต้น และสอนให้แผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์โดยไม่มีประมาณ ให้มีจิตประกอบด้วยเมตตาอยู่เสมอ

กรณียเมตตสูตรมีคำสวดขึ้นต้นว่า “กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ ยันตัง สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะ ฯลฯ นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติ

พระสูตรนี้มีตำนานมาว่า:

ภิกษุ 500 รูป เรียนพระกรรมฐานจากสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วปรารถนาจะบำเพ็ญสมณธรรมในสถานที่อันสงัด จึงพากันเดินทางไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ประชาชนในหมู่บ้านนั้นมีศรัทธาเลื่อมใส ได้นิมนต์ให้เข้าไปพักในดงไม้ใกล้หมู่บ้าน แล้วนิมนต์ให้จำพรรษาอยู่ในที่นั้น

เหล่ารุกขเทวดาที่สถิตอยู่ในดงไม้นั้นพากันเดือดร้อนเพราะผู้มีศีลมาอยู่ ต้องลงจากต้นไม้มาอยู่ที่พื้นดิน บ้างก็ต้องระเหเร่ร่อนหาที่อยู่ใหม่ จึงคิดที่จะทำให้ภิกษุเหล่านั้นหวาดกลัว จะได้ไปเสียจากที่นั้น รุกขเทวดาชวนกันสำแดงร่างเป็นผีหัวขาดบ้าง ขาดครึ่งตัวบ้าง ทำเสียงเยือกเย็นโหยหวนน่าสยดสยองบ้าง แสดงอาการที่น่ากลัวต่างๆ หลอกหลอนภิกษุ

เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ยินได้เห็นดังนั้นก็เกิดความหวาดหวั่น ไม่เป็นอันเจริญสมณธรรมได้เป็นปกติ จึงพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบถึงอาการที่ได้ประสบ พระพุทธองค์จึงประทาน “กรณียเมตตสูตร” อันเปรียบประดุจ “พุทธาวุธ” (อาวุธของพระพุทธเจ้า) ให้ภิกษุเหล่านั้นสำหรับป้องกันตัว แล้วตรัสให้พวกเธอกลับไปบำเพ็ญสมณธรรม ณ ที่เดิมนั้นอีก

ภิกษุเหล่านั้นพากันกลับไปยังหมู่บ้านนั้น ชวนกันสาธยายพระสูตรนี้ตั้งแต่ปากทางเข้าดงไม้ที่เคยพัก เหล่าเทวดาก็เกิดเมตตา มิได้แสดงอาการที่น่าหวาดกลัวอีกต่อไป ซ้ำกลับช่วยดูแลรักษาและปรนนิบัติภิกษุเหล่านั้นเป็นอันดี

ภิกษุเหล่านั้นบำเพ็ญสมณธรรมได้เต็มที่ และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดภายในพรรษานั้นเอง

พระสูตรนี้ถือกันว่า ทำให้ภูตผีปิศาจรักใคร่ไม่มารบกวน โบราณาจารย์สอนให้หมั่นสวดสาธยายก่อนนอน จะเป็นสวัสดิมงคลนักแล

อนึ่ง เมื่อต้องเดินทางผ่านเทวสถาน ศาลเจ้า หรือเจ้าป่าเจ้าเขาที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่มีผู้นับถือ ท่านว่าให้สาธยายกรณียเมตตสูตรนี้ เหล่าเทวดาอารักษ์เหล่านั้นจะไม่ทำอันตรายใดๆ

ด้วยเหตุดังกล่าว พระสงฆ์จึงสวดกรณียเมตตสูตรทุกๆ ครั้งที่มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อเป็นเครื่องรักษาคุ้มครองพุทธศาสนิกชน และตักเตือนให้ปฏิบัติต่อกันด้วยเมตตา เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและผู้อื่นสืบไป

(ประมวลความจาก อธิบายบทสวดมนต์ วัดสุทัศนเทพวราราม หน้า ๘๔-๘๖ พระมหาสุทธิพงษ์ อภิวํโส เรียบเรียง)

เพื่อเจริญศรัทธาและปัญญา ขอนำ กรณียเมตตสูตร ทั้งบาลีและคำแปลมาเสนอไว้ ดังต่อไปนี้:

กรณียเมตตสูตร

(1) กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ

ยันตัง  สันตัง  ปะทัง  อะภิสะเมจจะ

กิจอันใด อันพระอริยเจ้าบรรลุบทอันระงับกระทำแล้ว

กิจนั้นอันกุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงกระทำ

สักโก  อุชู  จะ  สุหุชู  จะ

สุวะโจ  จัสสะ  มุทุ  อะนะติมานี

กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้กล้าหาญ และซื่อตรงดี

เป็นผู้ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่มีอติมานะ

(2) สันตุสสะโก  จะ  สุภะโร  จะ

อัปปะกิจโจ  จะ  สัลละหุกะวุตติ

เป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย

เป็นผู้มีกิจธุระน้อย (ไม่มีกังวลด้วยการงานมากนัก)

ประพฤติเบากายเบาจิต

สันตินท๎ริโย  จะ  นิปะโก  จะ

อัปปะคัพโภ  กุเลสุ  อะนะนุคิทโธ

มีอินทรีย์อันระงับแล้ว มีปัญญารักษาตน

เป็นผู้ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย

(3) นะ จะ ขุททัง  สะมาจะเร  กิญจิ

เยนะ  วิญญู  ปะเร  อุปะวะเทยยุง

วิญญูชนติเตียนชนทั้งหลายอื่นได้ด้วยกรรมอันใด

ไม่พึงประพฤติกรรมอันนั้นเลย

(พึงแผ่ไมตรีจิตไปในหมู่สรรพสัตว์ว่า -)

สุขิโน  วา  เขมิโน  โหนตุ

สัพเพ  สัตตา  ภะวันตุ  สุขิตัตตา

ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม

มีตนถึงความสุขเถิด

(4) เย  เกจิ  ปาณะภูตัตถิ

ตะสา  วา  ถาวะรา  วา  อะนะวะเสสา

สัตว์มีชีวิตทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่

ยังเป็นผู้สะดุ้ง (คือมีตัณหา)

หรือเป็นผู้มั่นคง (ไม่มีตัณหา) ทั้งหมดไม่มีเหลือ

ทีฆา  วา  เย  มะหันตา  วา

มัชฌิมา  รัสสะกา  อะณุกะถูลา

จะเป็นเหล่าสัตว์ที่ยาวก็ตาม ใหญ่ก็ตาม

ปานกลางก็ตาม สั้นก็ตาม ผอมหรือพีก็ตาม

(5) ทิฏฐา  วา  เย   จะ  อะทิฏฐา

เย  จะ  ทูเร  วะสันติ  อะวิทูเร

จะเป็นเหล่าสัตว์ที่ได้เห็นแล้วก็ตาม ไม่ได้เห็นก็ตาม

อยู่ไกลก็ตาม อยู่ใกล้ก็ตาม

ภูตา  วา  สัมภะเวสี  วา

สัพเพ  สัตตา  ภะวันตุ  สุขิตัตตา

ที่เกิดแล้วก็ตาม กำลังหาที่เกิดก็ตาม

ขอสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้นจงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด

(6) นะ  ปะโร  ปะรัง  นิกุพเพถะ

นาติมัญเญถะ  กัตถะจิ  นัง  กิญจิ

สัตว์อื่นอย่าพึงข่มเหงสัตว์อื่น

อย่าพึงดูหมิ่นอะไรๆ เขา ในที่ไรๆ เลย

พ๎ยาโรสะนา  ปะฏีฆะสัญญา

นาญญะมัญญัสสะ  ทุกขะมิจเฉยยะ

ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน

เพราะความกริ้วโกรธและความคุมแค้น

(7) มาตา  ยะถา  นิยัง  ปุตตัง

อายุสา  เอกะปุตตะมะนุรักเข

มารดาถนอมบุตรคนเดียวของตน

ด้วยยอมพร่าชีวิตได้ ฉันใด

เอวัมปิ  สัพพะภูเตสุ

มานะสัมภาวะเย   อะปะริมาณัง

พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ

ในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น

(8) เมตตัญจะ  สัพพะโลกัสมิง

มานะสัมภาวะเย  อะปะริมาณัง

บุคคลพึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ

ไปในโลกทั้งสิ้น

อุทธัง  อะโธ  จะ  ติริยัญจะ

อะสัมพาธัง   อะเวรัง  อะสะปัตตัง

พึงเจริญเมตตาอันไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู

ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง

(9) ติฏฐัญจะรัง  นิสินโน  วา

สะยาโน  วา  ยาวะตัสสะ  วิคะตะมิทโธ

จะยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม

เมื่อยังไม่ง่วงงุนอยู่เพียงใด

เอตัง  สะติง  อะธิฏเฐยยะ

พ๎รัห๎มะเมตัง  วิหารัง  อิธะมาหุ

ก็พึงตั้งสติอันนั้นไว้เพียงนั้น

นี่เรียกว่าการอยู่อย่างประเสริฐในพระศาสนานี้

(10) ทิฏฐิญจะ  อะนุปะคัมมะ

สีละวา  ทัสสะเนนะ  สัมปันโน

ผู้เจริญเมตตาไม่ข้องแวะความเห็นผิด

มีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยทัศนะ (คือมรรคผล)

กาเมสุ  วิเนยยะ  เคธัง

นะ  หิ  ชาตุ  คัพภะเสยยัง  ปุนะเรตีติ.

พึงกำจัดความหมกมุ่นในกามทั้งหลายเสียได้

ย่อมไม่ต้องกลับเข้านอนในครรภ์ (คือไม่ต้องเกิด) อีกโดยแท้ทีเดียวแล.

————–

: มองผู้อื่นว่าเป็นมิตร คือผลสัมฤทธิ์ของการแผ่เมตตา

#บาลีวันละคำ (915)

19-11-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *