บาลีวันละคำ

ธชัคคปริตร (บาลีวันละคำ 918)

ธชัคคปริตร

(ลำดับ 6 ในเจ็ดตำนาน)

อ่านว่า ทะ-ชัก-คะ-ปะ-หฺริด

บาลีเป็น “ธชคฺคปริตฺต” อ่านว่า อ่านว่า ทะ-ชัก-คะ-ปะ-ริด-ตะ

ประกอบด้วย ธชคฺค + ปริตฺต

อนึ่ง พระปริตรบทนี้มักเรียกว่า “ธชัคคสูตร” (ทะ-ชัก-คะ-สูด)

บาลีเป็น “ธชคฺคสุตฺต” (ธชคฺค + สุตฺต) อ่านว่า อ่านว่า ทะ-ชัก-คะ-สุด-ตะ

(ความหมายของคำว่า “ปริตฺต” และ “สุตฺต” โปรดดูที่ “เจ็ดตำนาน” บาลีวันละคำ (912) 16-11-57)

ธชคฺค” มาจาก ธช + อคฺค

ธช” แปลว่า ธง แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่สะบัดไป” (หมายถึงธงทั่วไป)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธช” ว่า a flag, banner; mark, emblem, sign, symbol (ธง, สัญลักษณ์; เครื่องหมาย, เครื่องแสดง, เครื่องสังเกต)

อคฺค” ในที่นี้เป็นคำนาม แปลว่า ยอด (ส่วนยอดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ยอดเขา ยอดเจดีย์), ศูนย์รวม, เป้าหมายสูงสุด (top, point, the highest, topmost)

ธช + อคฺค = ธชคฺค แปลตรงตัวว่า “ยอดธง” (the top of a standard)

ธชคฺคปริตฺตธชัคคปริตร : ธชคฺคสูตฺตธชัคคสูตร เป็นชื่อของพระสูตรหรือพระปริตรบทหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโดยใช้ “ยอดธง” เป็นสื่อการสอน

บรรยายความ:

ธชัคคปริตรมีตำนานมาดังนี้:

สมัยหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี พระองค์ได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า –

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตได้เกิดเทวาสุรสงคราม (สงครามระหว่างเทวดากับอสูร) ขึ้น ในสงครามนั้นท้าวสักกเทวราชได้เรียกหมู่เทวดาในชั้นดาวดึงส์มาสั่งว่า ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เวลาที่พวกเราเข้าสู่สงคราม หากเกิดความกลัว หวาดสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้า ขอให้ดูยอดธงของเราเถิด ความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่จักหายไป หรือมิเช่นนั้นก็ให้ดูยอดธงของปชาบดีเทวราช ยอดธงของวรุณเทวราช หรือยอดธงของอีสานเทวราช (ผู้เป็นแม่ทัพในแนวนั้นๆ) ความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่ก็จักหายไปได้เช่นกัน

เมื่อเทวดาทั้งหลายได้ทำตามดังนั้นแล้ว ความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่ก็หายไปได้บ้าง ไม่หายบ้าง ทั้งนี้เป็นเพราะท้าวสักกะจอมเทพและเทพผู้เป็นจอมทัพในด้านนั้นๆ เป็นผู้ที่ยังไม่สิ้นราคะ โทสะ และโมหะ ยังเป็นผู้กลัว ผู้หวาดสะดุ้ง และยังต้องหลบลี้หนีภัยอยู่

พระพุทธองค์ตรัสสอนภิกษุต่อไปว่า –

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเวลาที่พวกเธอปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า โคนไม้ ในเรือนว่าง หรือจะที่ใดก็ตาม หากเกิดความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าขึ้นมา ขอให้พวกเธอระลึกถึงเราตถาคตเถิด เมื่อพวกเธอระลึกถึงแล้ว อาการเช่นว่านั้นจักหายไป หรือมิเช่นนั้นก็พึงระลึกถึงคุณแห่งพระธรรม หรือคุณแห่งพระอริยสงฆ์เถิด ความกลัว ความสะดุ้งก็จะหายไปได้อย่างแน่นอน เพราะเหตุว่าตถาคตและพระอรหันตสาวกทั้งหลายเป็นผู้หมดสิ้นสรรพกิเลสาสวะแล้ว หมดความกลัว ความหวาดสะดุ้ง และเป็นผู้ไม่ต้องหนีภัยใดๆ อีกต่อไปแล้ว

…………

เรื่อง เทวาสุรสงคราม ได้มีเล่าไว้ในคัมภีร์ชั้นบาลีหลายแห่ง แต่เรื่องที่มีชื่อเสียงมากและนำมาใช้สวดเป็นพระปริตร คือ ธชัคคสูตรนี้เอง

พระสูตรนี้มีข้อน่าสังเกตว่า มีคำขึ้นต้นว่า “ภูตะปุพพัง” (เรื่องเคยมีมาแล้ว) คำนี้ใช้ขึ้นต้นเมื่อจะเล่าเรื่องในอดีตที่จดจำกันมาได้ แสดงว่าเป็นเรื่องที่เล่ากันมานาน และการนำเรื่องเก่ามาเล่าในคัมภีร์ชั้นบาลีทุกแห่ง จะเป็นเรื่องนี้หรือเรื่องอื่นก็ตาม ก็เพื่อสาธกธรรม ดังที่เรียกว่า นิทานสุภาษิต ในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน นำเรื่องเทวาสุรสงครามตอนนี้มาเล่าก็เพื่อสอนให้ระลึกถึงพระรัตนตรัยในเมื่อเกิดความกลัวขึ้น (น่าจะรวมไปถึงความฟุ้งซ่าน หรือท้อแท้ถดถอยด้วย) เช่นเดียวกับพวกเทพที่เมื่อเข้าสงครามกับอสูร เกิดความกลัวขึ้นก็ดูยอดธงของพระอินทร์ หรือของเทวราชรองลงมาทั้งหลาย (พระยอดธงน่าจะสร้างขึ้นตามนัยพระสูตรนี้)

พระสูตรนี้ค่อนข้างยาว ปัจจุบันเวลาเจริญพระพุทธมนต์ในพิธีทำบุญต่างๆ จึงตัดสวดเฉพาะพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณเท่านั้น ส่วนการสวดเต็มสูตรนิยมสวดเฉพาะภายในวัดในเวลาเข้าพรรษา ซึ่งวัดต่างๆ นิยมเวียนสวดพระสูตรสำคัญๆ ทั้งหลายสลับกันไปหลังทำวัตรเย็นหรือทำวัตรเช้ามืด ทั้งนี้เพราะมีเวลามากพอ

อนึ่ง การเจริญพระพุทธมนต์ในพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหาร พระสงฆ์จะต้องสวดธชัคคสูตรนี้เป็นหลักด้วยเสมอ

(ประมวลความจาก อธิบายบทสวดมนต์ วัดสุทัศนเทพวราราม หน้า ๙๘-๑๐๐

พระมหาสุทธิพงษ์ อภิวํโส เรียบเรียง)

————-

เนื่องจากพระสูตรเต็มค่อนข้างยาว จึงขอนำเฉพาะข้อความตอนท้ายอันเป็นเสมือนคำสรุปมาเสนอไว้ดังต่อไปนี้

……………

อิทะมะโวจะ  ภะคะวา  อิทัง  วัตวานะ  สุคะโต  อะถาปะรัง  เอตะทะโวจะ  สัตถา

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า –

อะรัญเญ  รุกขะมูเล  วา

สุญญาคาเรวะ  ภิกขะโว

อะนุสสะเรถะ  สัมพุทธัง

ภะยัง  ตุมหากะ  โน  สิยา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอยู่ในป่าก็ดี

อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี

พึงระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้าเถิด

ความกลัวจะไม่พึงมีแก่เธอทั้งหลาย

โน  เจ  พุทธัง  สะเรยยาถะ

โลกะเชฏฐัง  นะราสะภัง

อะถะ  ธัมมัง  สะเรยยาถะ

นิยยานิกัง  สุเทสิตัง.

ถ้าว่าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้า

ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน

ทีนั้นเธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระธรรม

อันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว

โน  เจ  ธัมมัง  สะเรยยาถะ

นิยยานิกัง  สุเทสิตัง

อะถะ  สังฆัง  สะเรยยาถะ

ปุญญักเขตตัง  อะนุตตะรัง.

ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระธรรม

อันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว

ทีนั้นเธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระสงฆ์

ผู้เป็นบุญเขต ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า

เอวัมพุทธัง  สะรันตานัง

ธัมมัง  สังฆัญจะ  ภิกขะโว

ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา

โลมะหังโส  นะ  เหสสะตีติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึง

พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อยู่

ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี

ความขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีเลย.

————-

หมายเหตุ:

ลีลาการสวดของโบราณ เมื่อถึงสองบาทพระคาถาสุดท้าย …ภะยัง  วา  ฉัมภิตัตตัง  วา  โลมะหังโส – จะทอดเสียงสูงยาวตรงคำว่า “โส” จนขาดเสียง แล้วจึงขึ้น “นะ  เหสสะตีติ” จบบริบูรณ์

ลีลาเช่นนี้น่าฟังยิ่งนัก หวังว่าจะยังมีบางวัดรักษาเอาไว้ได้ – สาธุ.

ศึกษาพระสูตรฉบับเต็มได้ที่:

ธชัคคสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๘๖๓-๘๖๖

———–

อุดมคติของทหารเรือ (คนหนึ่ง):

ถึงเรือจะจมในน้ำ ธงไม่ต่ำลงมา

(วรรคหนึ่งของเพลง ดอกประดู่

พระนิพนธ์ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ “องค์บิดาของทหารเรือไทย”)

ความหมาย:

ถึงตกอับยับเยินจนเกินทน

จะครองตนอยู่ในธรรมไม่ต่ำทราม.

#บาลีวันละคำ (918)

22-11-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *