บาลีวันละคำ

อาฏานาฏิยปริตร (บาลีวันละคำ 919)

อาฏานาฏิยปริตร

(ลำดับ 7 ในเจ็ดตำนาน)

อ่านว่า อา-ตา-นา-ติ-ยะ-ปะ-หฺริด

ประกอบด้วย อาฏานาฏิย + ปริตร

พระปริตรบทนี้เรียกว่า “อาฏานาฏิยสูตร” ก็มี

อาฏานาฏิย” เป็นชื่อเมืองของพวกยักษ์ คือ อาฏานาฏนคร

อาฏานาฏ + อิย ปัจจัย = อาฏานาฏิย + ปริตร = อาฏานาฏิยปริตร แปลว่า ปริตรที่ท้าวจตุโลกบาลแต่งขึ้นในเมืองอาฏานาฏะ

ขอนำความจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ในคำว่า “ภาณยักษ์” ซึ่งแสดงเรื่อง อาฏานาฏิยปริตร หรือ อาฏานาฏิยสูตร ไว้ มาเสนอ ดังนี้ –

………

คำว่า “ภาณยักษ์” มีความหมายว่า บทสวดของยักษ์, คำบอกของยักษ์, สวดหรือบอกแบบยักษ์; เป็นคำที่คนไทยเรียกอาฏานาฏิยสูตร ที่นำมาใช้เป็นบทสวดมนต์ในจำพวกพระปริตร (เป็นพระสูตรขนาดยาวสูตรหนึ่ง นิยมคัดตัดมาเฉพาะตอนที่มีสาระเกี่ยวกับความคุ้มครองป้องกันโดยตรง และเรียกส่วนที่ตัดตอนมาใช้นั้นว่า อาฏานาฏิยปริตร)

การที่นิยมเรียกชื่อพระสูตรนี้ให้ง่ายว่า “ภาณยักษ์” นั้น เนื่องจากพระสูตรนี้มีเนื้อหาซึ่งเป็นคำกล่าวของยักษ์ คือท้าวเวสสวัณ ที่มากราบทูลถวายคำประพันธ์ของพวกตน ที่เรียกว่า “อาฏานาฏิยา รกฺขา” (อาฏานาฏิยรักขา หรือ อาฏานาฏิยารักข์) แด่พระพุทธเจ้า ดังมีความเป็นมาโดยย่อว่า ยามดึกราตรีหนึ่ง ท้าวมหาราชสี่ (จาตุมหาราช หรือจตุโลกบาล) พร้อมด้วยบริวารจำนวนมาก ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ครั้นแล้ว ท้าวเวสสวัณ ในนามของผู้มาเฝ้าทั้งหมด ได้กราบทูลว่า พวกยักษ์ส่วนมากยังทำปาณาติบาต ตลอดจนดื่มสุราเมรัย เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้งดเว้นกรรมชั่วเหล่านั้น จึงไม่ชอบใจไม่เลื่อมใส ท้าวมหาราชทรงห่วงใยว่า มีพระสาวกที่ไปอยู่ในป่าดงเงียบห่างไกลอันเปลี่ยวน่ากลัว จึงขอถวายคาถา “อาฏานาฏิยา รกฺขา” ที่ท้าวมหาราชประชุมกันประพันธ์ขึ้น โดยขอให้ทรงรับไว้ เพื่อทำให้ยักษ์พวกนั้นเลื่อมใส เป็นเครื่องคุ้มครองรักษาภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้อยู่ผาสุกปลอดจากการถูกเบียดเบียน แล้วท้าวเวสสวัณก็กล่าวคาถาคำอารักขานั้น เริ่มต้นด้วยคำนมัสการพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ มีพระวิปัสสี เป็นต้น ต่อด้วยเรื่องของท้าวมหาราชสี่รายพระองค์ที่พร้อมด้วยโอรสและเหล่าอมนุษย์พากันน้อมวันทาพระพุทธเจ้า คาถาอาฏานาฏิยารักข์นี้ เมื่อเรียนไว้แม่นยำดีแล้ว หากอมนุษย์เช่นยักษ์เป็นต้นตนใดมีใจประทุษร้ายมากล้ำกราย อมนุษย์ตนนั้นก็จะถูกต่อต้านและถูกลงโทษโดยพวกอมนุษย์ทั้งหลาย หากตนใดไม่เชื่อฟัง ก็ถือว่าเป็นขบถต่อท้าวมหาราชสี่นั้น กล่าวแล้วก็พากันกราบทูลลากลับไป ครั้นผ่านราตรีนั้นไปแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเรื่องทั้งหมดแก่ภิกษุทั้งหลาย ตรัสว่าอาฏานาฏิยารักข์นั้นกอปรด้วยประโยชน์ในการคุ้มครองรักษาดังกล่าวแล้ว และทรงแนะนำให้เรียนไว้

พึงสังเกตว่า ความในอาฏานาฏิยสูตรนี้ทั้งหมด แยกเป็น 2 ตอนใหญ่ คือ ตอนแรก เป็นเรื่องของท้าวเวสสวัณและท้าวมหาราชอื่นพร้อมทั้งบริวาร (เรียกง่ายๆ ว่า พวกยักษ์) ที่มาเฝ้าและกราบทูลถวายอาฏานาฏิยารักข์จนจบ แล้วกราบลากลับไป ตอนหลัง คือ เมื่อพวกท้าวมหาราชกลับไปแล้ว ผ่านราตรีนั้น ถึงวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเรื่องแก่ภิกษุทั้งหลายซ้ำตลอดทั้งหมด พร้อมทั้งทรงแนะนำให้เรียนจำอาฏานาฏิยารักข์เป็นเครื่องคุ้มครองรักษาพุทธบริษัททั้งสี่

ในพระไตรปิฎกบาลี ท่านเล่าเรื่องและแสดงเนื้อความเต็มทั้งหมดเฉพาะในตอนแรก ส่วนตอนหลัง แสดงไว้เฉพาะพระพุทธดำรัสที่เริ่มตรัสเล่าแก่ภิกษุทั้งหลาย และพระดำรัสสรุปท้ายที่ให้เรียนจำอาฏานาฏิยารักข์นั้นไว้ ส่วนเนื้อความที่ทรงเล่าซ้ำ ท่านทำไปยาลใหญ่ (ฯเปฯ คือ ฯลฯ) แล้วข้ามไปเลย ตอนหลังนั้นจึงสั้นนิดเดียว

แต่ในหนังสือสวดมนต์แบบค่อนข้างพิสดารสมัยก่อน ที่เรียกว่าแบบ “จตุภาณวาร” ท่านนำอาฏานาฏิยสูตรมารวมเข้าในชุดบทสวดมนต์นั้นด้วย โดยบรรจุลงไปเต็มทั้งสูตร และไม่ใส่ไปยาลเลย ทำให้บทสวดนี้ยาวมาก (อาฏานาฏิยสูตร ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่ม 11 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ตั้งแต่ข้อ 207 ถึง 220 หน้า 208 ถึง 221 ยาวประมาณ 13 หน้า แต่ในประมวลบทสวดจตุภาณวาร ยาว 24 หน้า) และท่านได้แยก 2 ตอนนั้นออก โดยแบ่งพระสูตรนี้เป็น 2 ภาค คือ ปุพพภาค กับ ปัจฉิมภาค ยาวเท่ากัน, ปุพพภาคคือตอนแรกที่เป็นคำของยักษ์กราบทูลถวายอาฏานาฏิยารักข์ เรียกว่า ยักขภาณวาร ส่วนปัจฉิมภาคคือตอนหลังที่เป็นพระพุทธดำรัสตรัสเล่าเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า พุทธภาณวาร  นี้คือที่คนไทยเรียกให้สะดวกปากของตนว่า ภาณยักษ์ และ ภาณพระ ตามลำดับ โดยนัยนี้ เมื่อจะเรียกให้ถูกต้อง อาฏานาฏิยสูตรจึงมิใช่เป็นภาณยักษ์เท่านั้น แต่ต้องพูดให้เต็มว่ามี “ภาณยักษ์” กับ “ภาณพระ”

ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 เมื่อถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ คือในช่วงตรุษ-สงกรานต์ (ปรับเข้ากับปฏิทินสากลเป็นขึ้นปีใหม่ 1 เมษายน) ในพระบรมมหาราชวังเคยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดภาณยักษ์ในวันสิ้นปีเก่าตลอดคืนจนรุ่ง โดยสวดทำนองขู่ตวาดภูตผีปีศาจด้วยเสียงโฮกฮากดุดันบ้าง แห้งแหบโหยหวนบ้าง และในสมัย ร.๕ โปรดฯ ให้นิมนต์พระอีกสำรับหนึ่งสวดภาณพระ ด้วยทำนองสรภัญญะที่ไพเราะชื่นใจขึ้นเป็นคู่กัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ประชาราษฎร์ ว่าได้ขับไล่ภัยอันตรายสิ่งร้าย และอวยพรชัยสิริมงคลในกาลเวลาสำคัญแห่งการเปลี่ยนปี

———-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “อัฏนา” และ “อาฏานา” บอกความหมายไว้ว่า –

อัฏนา [อัดตะนา] : เรียกชื่อพิธียิงปืนเพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจตามประเพณีความเชื่อในระหว่างที่พระสงฆ์สวดอาฏานาฏิยสูตรในวันทําพิธีตรุษว่า ยิงปืนอัฏนา, อาฏานา ก็ว่า.”

————

อาฏานาฏิยสูตรในพระไตรปิฎกนั้นต่อมาท่านได้ย่อมาเป็นบทสวดในเจ็ดตำนาน โดยเริ่มต้นตั้งแต่คำว่า วิปัสสิสสะ  นะมัตถุ  ไปจนถึงคำว่า  พุทธัง  วันทามะ  โคตะมันติ แล้วข้ามไปสวดต่อตั้งแต่  เอเต  จัญเย  จะ  สัมพุทธา  อะเนกะสะตะโกฏะโย  ฯเปฯ  อายุ  วัณโณ  สุขัง  พะลัง จบลงเท่านี้

————-

ขอนำบทอาฏานาฏิยสูตรแบบที่สวดย่อในเจ็ดตำนานมาเสนอไว้ดังต่อไปนี้

อาฏานาฏิยปริตร

วิปัสสิสสะ  นะมัตถุ

จักขุมันตัสสะ  สิรีมะโต

สิขิสสะปิ  นะมัตถุ

สัพพะภูตานุกัมปิโน.

ขอนอบน้อมแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า

ผู้มีพระจักษุ มีพระสิริ

ขอนอบน้อมแด่พระสิขีพุทธเจ้า

ผู้ทรงอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั่วหน้า

เวสสะภุสสะ  นะมัตถุ

นหาตะกัสสะ  ตะปัสสิโน

นะมัตถุ  กะกุสันธัสสะ

มาระเสนัปปะมัททิโน.

ขอนอบน้อมแด่พระเวสสภูพุทธเจ้า

ผู้ทรงชำระกิเลส มีความเพียร

ขอนอบน้อมแด่พระกกุสันธพุทธเจ้า

ผู้ทรงย่ำยีมารและเสนามาร

โกนาคะมะนัสสะ  นะมัตถุ

พ๎ราห๎มะณัสสะ  วุสีมะโต

กัสสะปัสสะ  นะมัตถุ

วิปปะมุตตัสสะ  สัพพะธิ.

ขอนอบน้อมแด่พระโกนาคมน์พุทธเจ้า

ผู้มีบาปอันลอยแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์

ขอนอบน้อมแด่พระกัสสปพุทธเจ้า

ผู้พ้นพิเศษแล้วในธรรมทั้งปวง

อังคีระสัสสะ  นะมัตถุ

สัก๎ยะปุตตัสสะ  สิรีมะโต

โย  อิมัง  ธัมมะมะเทเสสิ

สัพพะทุกขาปะนูทะนัง.

ขอนอบน้อมแด่พระอังคีรสพุทธเจ้า

ผู้ศากยบุตร ผู้มีพระสิริ

ผู้ได้ทรงแสดงธรรมนี้

อันเป็นเครื่องบำบัดทุกข์ทั้งปวง

เย  จาปิ  นิพพุตา  โลเก

ยะถาภูตัง  วิปัสสิสุง

เต  ชะนา  อะปิสุณา

มะหันตา  วีตะสาระทา.

อนึ่ง พระพุทธเจ้าเหล่าใด ผู้ดับแล้วในโลก

ทรงเห็นแจ้งแล้วตามเป็นจริง

พระพุทธเจ้าเหล่านั้น เป็นผู้ไม่ส่อเสียด

เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม

หิตัง  เทวะมะนุสสานัง

ยัง  นะมัสสันติ  โคตะมัง

วิชชาจะระณะสัมปันนัง

มะหันตัง  วีตะสาระทัง.

ฯเปฯ

วิชชาจะระณะสัมปันนัง

พุทธัง  วันทามะ  โคตะมันติ.

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนอบน้อมพระพุทธเจ้า

พระองค์ใด ผู้โคตมโคตร

ผู้ทรงเกื้อกูลแก่ทวยเทพและมนุษย์

ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม

ฯลฯ

เราทั้งหลายขออภิวาทพระพุทธเจ้าผู้โคตมโคตร

ผู้ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ พระองค์นั้น

ฯเปฯ

เอเต  จัญเญ  จะ  สัมพุทธา

อเนกะสะตะโกฏะโย

สัพเพ  พุทธา  อะสะมะสะมา

สัพเพ  พุทธา  มะหิทธิกา.

พระพุทธเจ้าเหล่านี้ก็ดี เหล่าอื่นก็ดี หลายร้อยโกฏิ

พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทั้งหมดล้วนเสมอกับผู้ที่ไม่มีใครเสมอ

พระพุทธเจ้าทั้งหมดล้วนมีฤทธิ์มาก

สัพเพ  ทะสะพะลูเปตา

เวสารัชเชหุปาคะตา

สัพเพ  เต  ปะฏิชานันติ

อาสะภัณฐานะมุตตะมัง.

ทุกพระองค์ล้วนประกอบไปด้วยทศพลญาณ

ประกอบไปด้วยเวสารัชชญาณ

พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทุกพระองค์ล้วนตรัสรู้อยู่

ซึ่งฐานะแห่งผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด

สีหะนาทัง  นะทันเตเต

ปะริสาสุ  วิสาระทา

พ๎รัห๎มะจักกัง  ปะวัตเตนติ

โลเก  อัปปะฏิวัตติยัง.

พระพุทธเจ้าเหล่านั้นเป็นผู้องอาจไม่ครั่นคร้าม

บันลือสีหนาทในบริษัททั้งหลาย

ยังพรหมจักรอันใครๆ ยังไม่เคยหมุนได้

ให้พัดผันไปในโลก

อุเปตา  พุทธะธัมเมหิ

อัฏฐาระสะหิ  นายะกา

ท๎วัตติงสะลักขะณูเปตา-

สีต๎ยานุพ๎ยัญชะนาธะรา 

พ๎ยามัปปะภายะ  สุปปะภา

สัพเพ  เต  มุนิกุญชะรา.

พระพุทธเจ้าผู้นำโลก

ทรงประกอบด้วยพุทธธรรม 18 ประการ

มหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ

ทรงไว้ซึ่งอนุพยัญชนะ 80 ประการ

มีพระรัศมีอันงามผุดผ่องประมาณวาหนึ่งเป็นปริมณฑล

ทุกพระองค์ทรงเป็นพระมุนีผู้ประเสริฐ

ปานว่าพญากุญชรชาติอันมีตระกูล

พุทธา  สัพพัญญุโน  เอเต

สัพเพ  ขีณาสะวา  ชินา

มะหัปปะภา  มะหาเตชา

มะหาปัญญา  มะหัพพะลา.

พระพุทธเจ้าเหล่านั้นล้วนเป็นพระสัพพัญญู

ผู้สิ้นแล้วซึ่งกิเลสาสวะชำนะมาร

มีพระรัศมีตระการเป็นมหาเดช

ทั้งพระปัญญาก็วิเศษทรงพลานุภาพมาก

มะหาการุณิกา  ธีรา

สัพเพสานัง  สุขาวะหา

ทีปา  นาถา  ปะติฏฐา  จะ

ตาณา  เลณา  จะ  ปาณินัง.

ทั้งพระกรุณาก็หลายหลากเป็นปราชญ์ทรงปรีชา

ทรงนำสุขมาแก่สัตว์โลกทั้งปวง

เป็นเกาะแก้วกลางทะเลหลวงให้ได้พึ่งพักอาศัย

เป็นที่ปกป้องหลบภัยแก่ปวงสัตว์

คะตี  พันธู  มะหัสสาสา

สะระณา  จะ  หิเตสิโน

สะเทวะกัสสะ  โลกัสสะ

สัพเพ  เอเต  ปะรายะนา.

เป็นทางดำเนินถนัดประหนึ่งว่าพวกพ้องผ่อนสุขสบาย

เป็นที่ระลึกแล้วมิวายแสวงสิ่งเป็นหิตานุหิตประโยชน์

ทุกพระองค์ยังทรงโปรดเป็นที่พึงไปพึงถึงในเบื้องหน้า

ของชาวโลกตลอดสวรรค์ชั้นฟ้าทุกโลกธาตุ

เตสาหัง  สิระสา  ปาเท

วันทามิ  ปุริสุตตะเม

วะจะสา  มะนะสา  เจวะ

วันทาเมเต  ตะถาคะเต.

ข้าขอน้อมเกล้าถวายอภิวาทพระบาทยุคล

แห่งพระทศพลเหล่านั้น

และขออภิวันทน์ด้วยวาจาแลดวงจิต

ถวายพระธรรมสามิศตถาคตเจ้า

ผู้เป็นอุดมบุรุษทั้งหลายเหล่านั้นแล

สะยะเน  อาสะเน  ฐาเน

คะมะเน  จาปิ  สัพพะทา

สะทา  สุเขนะ  รักขันตุ

พุทธา  สันติกะรา  ตุวัง.

พระพุทธเจ้าผู้ทรงกระทำสันติคือพระนิพพาน

จงรักษาท่านให้มีความสุขทุกเมื่อ

ทั้งในยามนอนยามนั่งกระทั่งยืนเดิน

ตลอดกาลทุกเมื่อเถิด

เตหิ  ต๎วัง  รักขิโต  สันโต

มุตโต  สัพพะภะเยนะ  จะ

สัพพะโรคะวินิมุตโต

สัพพะสันตาปะวัชชิโต

สัพพะเวระมะติกกันโต

นิพพุโต  จะ  ตุวัง  ภะวะ.

ตัวท่านอันพระพุทธเจ้าทั้งหลายรักษาแล้วจงเป็นผู้สงบ

ปลอดพ้นแล้วจากปวงภัย

รอดพ้นไปจากโรคาพาธ

เว้นขาดจากความเดือดร้อนทั้งปวง

ล่วงพ้นจากการผูกพันกับผองเวร

และจงดับเย็นสิ้นทุกข์ทั้งมวล เทอญ

ฯเปฯ

สัพพีติโย  วิวัชชันตุ

สัพพะโรโค  วินัสสะตุ

มา  เต  ภะวัต๎วันตะราโย

สุขี  ทีฆายุโก  ภะวะ.

ความจัญไรทั้งปวงจงบำราศไป

โรคทั้งปวงของท่านจงหาย

อันตรายอย่ามีแก่ท่าน

ขอท่านจงเป็นผู้มีความสุข มีอายุยืน

อะภิวาทะนะสีลิสสะ

นิจจัง  วุฑฒาปะจายิโน

จัตตาโร  ธัมมา  วัฑฒันติ

อายุ  วัณโณ  สุขัง  พะลัง.

ธรรม 4 ประการ

คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ

ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติไหว้กราบ

มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์.

————-

สรุปว่า อาฏานาฏิยปริตรมีต้นกำเนิดมาจากยักษ์

แม้จะเป็นยักษ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความดุร้าย แต่ก็ทำความดีได้

: เป็นอะไรไม่สำคัญเท่ากับได้ทำอะไรไว้

: เป็นอะไร เป็นได้แค่ตาย

: แต่ทำอะไรไว้ อยู่ได้เลยตาย

#บาลีวันละคำ (919)

23-11-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *