บาลีวันละคำ

โมรปริตร(บาลีวันละคำ 917)

โมรปริตร

(ลำดับ 5 ในเจ็ดตำนาน)

อ่านว่า โม-ระ-ปะ-หฺริด

บาลีเป็น “โมรปริตฺต” อ่านว่า โม-ระ-ปะ-ริด-ตะ

ประกอบด้วย โมร + ปริตฺต

(ความหมายของ ปริตฺตปริตร โปรดดูที่ “เจ็ดตำนาน” บาลีวันละคำ (912) 16-11-57)

โมร” แปลว่า นกยูง (a peacock)

โปรดสังเกตภาษาไทย นกยูง ไม่ใช่ นกยุง

ท่านแสดงที่มาและความหมายของ “โมร” ไว้ ดังนี้ –

(1) มุรตีติ โมโร “ผู้ระแวง

มุรฺ (ธาตุ = ระวัง, ระแวง) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ มุ– เป็น โอ

(2) มียตีติ โมโร “ผู้ถูกเบียดเบียน

มิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + โอร ปัจจัย, ลบ อิ ที่ มิ

(3) มหิยํ วรตีติ โมโร “ผู้ร้องอยู่บนแผ่นดิน

(จาก มหิ = แผ่นดิน) + รุ (ธาตุ = ร้อง) + ปัจจัย, แปลง ที่ เป็น โอ, ลบ อุ ที่ รุ

ในภาษาบาลียังมีคำอื่นๆ อีกที่หมายถึงนกยูง คือ –

กลาปี (กะ-ลา-ปี) = “ผู้มีแพนหางอันงาม

เกกี (เก-กี) = “นกที่ร้องเก๊กๆ

นีลคีว (นี-ละ-คี-วะ) = “มีสร้อยคอสีเขียว

มยูร (มะ-ยู-ระ) = “นกที่ร้องอยู่บนพื้นดิน

วรที (วะ-ระ-ที) = “ผู้มีกำหาง

สิขณฺฑี (สิ-ขัน-ดี) = “ผู้มีกำหาง

สิขี (สิ-ขี) = “นกที่มีหงอน

บรรยายความ:

ตำนานโมรปริตรมีปรากฏในอรรถกถาโมรชาดก ทุกนิบาต (ทุ-กะ-) ต้นฉบับภาษาบาลีอยู่ในคัมภีร์ชาตกัฏฐกถา ภาค 3 หน้า 50-58 ขอถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดยประสงค์

ผู้ไม่คุ้นกับสำนวนภาษาบาลี ขอได้โปรดใช้ขันติธรรมในการอ่านเป็นพิเศษด้วยเทอญ

———–

ตำนานโมรชาดก

เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันจะสึกรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า “อุเทตยญฺจกฺขุมา  เอกราชา” ดังนี้

ภิกษุทั้งหลายนำภิกษุผู้กระสันจะสึกรูปนั้นไปเฝ้าพระศาสดา เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า เธอกระสันจริงหรือ ภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า ตรัสถามว่า เธอเห็นอะไรจึงกระสัน กราบทูลว่า เห็นมาตุคามคนหนึ่งซึ่งประดับตกแต่งกายสวยงาม

พระศาสดารับสั่งกะภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ธรรมดาว่าสตรีเพศทำไมจักไม่รบกวนจิตคนเช่นเธอเล่า แม้บัณฑิตแต่ปางก่อนพอได้ยินเสียงสตรี กิเลสที่สงบมาเจ็ดร้อยปีได้โอกาสยังกำเริบได้ทันที ผู้บริสุทธิ์ยังเศร้าหมองได้ แม้ผู้เปี่ยมด้วยยศสูงยังถึงความพินาศได้ จะกล่าวไปไยถึงผู้ไม่บริสุทธิ์

แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า –

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นนกยูง มีสีกายดุจทองคำ น่าดู น่าเลื่อมใส นกยูงนั้นคอยระวังชีวิตของตน อาศัยอยู่ ณ ภูเขาลูกหนึ่งในป่าหิมพานต์

ตอนใกล้รุ่ง นกยูงทองจับอยู่บนยอดเขา มองดูดวงอาทิตย์กำลังขึ้น ผูกมนต์อันประเสริฐเพื่อรักษาป้องกันตัว ณ แหล่งที่จะไปหากิน กล่าวเป็นคาถาว่า “อุเทตะยัญจักขุมา” เป็นต้น แล้วจึงไปหากิน

ครั้นเที่ยวหากินตลอดวันแล้ว ตอนเย็นก็บินไปจับอยู่บนยอดเขา มองดูดวงอาทิตย์อัสดง ระลึกถึงพระพุทธคุณ ผูกมนต์อันประเสริฐอีกบทหนึ่งเพื่อรักษาคุ้มกันในที่อยู่ กล่าวเป็นคาถาว่า “อะเปตะยัญจักขุมา” เป็นต้น

กาลต่อมา มีพรานคนหนึ่งท่องเที่ยวไปในป่าหิมพานต์ เห็นนกยูงโพธิสัตว์

จับอยู่บนยอดเขา จึงกลับมาบอกแก่ลูกให้ทราบไว้

อยู่มาวันหนึ่ง พระนางเขมาพระเทวีของพระเจ้ากรุงพาราณสี ทรงสุบินเห็นนกยูงสีทองแสดงธรรม ตื่นบรรทมแล้วได้กราบทูลสุบินแด่พระราชาและว่า หม่อมฉันประสงค์จะฟังธรรมของนกยูงทอง

พระราชาจึงมีพระดำรัสถามพวกอำมาตย์

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า พวกพราหมณ์คงจะทราบ

พราหมณ์ทั้งหลายสดับพระราชปุจฉาแล้วกราบทูลว่า ขอเดชะ นกยูงสีทองมีอยู่เป็นแน่

พระราชาตรัสถามว่า มีอยู่ที่ไหน

กราบทูลว่า พวกพรานคงจักทราบ

พระราชารับสั่งให้ประชุมพวกพรานแล้วตรัสถาม

ครั้นแล้วบุตรพรานคนนั้นก็กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช นกยูงสีทองมีอยู่จริง อาศัยอยู่ ณ ภูเขาลูกหนึ่งในป่าหิมพานต์

พระราชารับสั่งว่า ถ้าเช่นนั้นเจ้าจงไปจับนกยูงนั้นมาอย่าให้ตาย

พรานจึงเอาบ่วงไปดักไว้ ณ ที่นกยูงหากิน แม้นกยูงเหยียบบ่วง บ่วงก็หาได้รัดไม่

พรานไม่สามารถจับนกยูงได้ พยายามอยู่ถึงถึงเจ็ดปี จนถึงแก่ความตายไปในป่าหิมพานต์นั้นเอง

ฝ่ายพระนางเขมาราชเทวี เมื่อไม่ได้สมพระประสงค์ก็สิ้นพระชนม์

พระราชาทรงกริ้วว่า พระเทวีสิ้นพระชนม์ลงเพราะนกยูงเป็นเหตุ จึงรับสั่งให้จารึกอักษรไว้ในแผ่นทองว่า “ในป่าหิมพานต์มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อทัณฑกบรรพต นกยูงทองตัวหนึ่งอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น ผู้ใดได้กินเนื้อของมัน ผู้นั้นจะไม่แก่ไม่ตาย จะมีอายุยืน” แล้วเก็บแผ่นทองไว้ในหีบทอง

ครั้นพระราชาสวรรคตแล้ว พระราชาองค์ใหม่ครองราชสมบัติ ได้ทรงอ่านข้อความในแผ่นทอง ก็มีพระประสงค์จะไม่แก่ไม่ตาย จึงทรงส่งพรานให้ไปเที่ยวเสาะหานกยูงอีก

ฝ่ายพรานคนนั้นไปถึงป่าหิมพานต์แล้วยังไม่สามารถจะจับนกยูงโพธิสัตว์ได้ ก็ตายอยู่ในป่านั้นเอง

เหตุการณ์ผ่านไปโดยทำนองนี้ จนพระราชาสวรรคตไปหกรัชกาล

ครั้นถึงองค์ที่เจ็ดครองราชสมบัติ ก็ทรงส่งพรานไปอีกคนหนึ่ง

พรานคนนี้ไปสืบเสาะคอยสังเกต ก็รู้ถึงเหตุที่บ่วงมิได้กล้ำกรายเพราะนกยูงโพธิสัตว์เจริญพระปริตรป้องกันตนก่อนแล้วจึงไปหากิน

พอรู้ดังนี้ พรานก็กลับมาจับนางนกยูงตัวหนึ่งมาฝึกให้รู้จักรำแพนและรู้จักขันตามสัญญาณดีดนิ้วมือหรือปรบมือ

ครั้นฝึกนางนกยูงจนชำนาญดีแล้วพรานก็พามันไปยังที่อยู่ของนกยูงทอง กะเวลาที่นกยูงทองยังไม่ทันได้เจริญพระปริตร ดักบ่วงแล้วส่งสัญญาณให้นางนกยูงขันขึ้น

นกยูงทองได้ยินเสียงนกยูงตัวเมียก็เร่าร้อนด้วยกิเลส ไม่อาจเจริญพระปริตรได้ดังเช่นทุกวัน บินโผไปหา ก็ติดบ่วงนายพราน ณ ที่นั้น

พรานจับนกยูงทองไปถวายพระเจ้าพาราณสีได้สำเร็จ

พระราชาทอดพระเนตรเห็นรูปสมบัติของนกยูงทองก็ทรงพอพระทัย

นกยูงโพธิสัตว์ทูลถามว่า เพราะเหตุไรจึงให้จับข้าพเจ้า

พระราชาตรัสว่า มีจารึกบอกไว้ว่า ผู้ใดได้กินเนื้อเจ้า ผู้นั้นจะไม่แก่ไม่ตาย เราต้องการจะไม่แก่ไม่ตายบ้าง จึงให้จับเจ้ามา

นกยูงทองทูลว่า คนทั้งหลายกินเนื้อข้าพเจ้าจะไม่แก่ไม่ตายก็ช่างเถิด แต่ตัวข้าพเจ้าจะต้องตายมิใช่หรือ

พระราชารับสั่งว่า จริง เจ้าต้องตาย

นกยูงทองกราบทูลว่า เมื่อข้าพเจ้ายังต้องตาย ผู้ที่กินเนื้อข้าพเจ้าจะไม่ตายอย่างไรได้เล่า

พระราชารับสั่งว่า เจ้ามีตัวเป็นสีทอง เพราะฉะนั้นผู้ที่กินเนื้อเจ้าแล้วจะต้องไม่แก่ไม่ตาย

นกยูงกราบทูลว่า ข้าพเจ้ามีสีทองโดยไม่มีเหตุหามิได้ เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในนครนี้แหละ ตนเองรักษาศีลห้า ทั้งสอนคนทั้งหลายทั่วจักรวาลให้รักษาศีลด้วย ข้าพเจ้าสิ้นชีพแล้วก็ไปบังเกิดในภพดาวดึงส์ ดำรงอยู่ในภพนั้นจนตลอดอายุ จุติจากสวรรค์ แต่เพราะผลแห่งอกุศลกรรมบางอย่างจึงมาเกิดในกำเนิดนกยูง แต่ตัวมีสีทองก็ด้วยอานุภาพศีลห้าที่รักษาอยู่ก่อน

พระราชารับสั่งถามว่า เจ้าพูดว่าเจ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิรักษาศีลห้า ตัวมีสีเป็นทองเพราะผลของศีล ข้อนี้เราจะเชื่อได้อย่างไร มีใครเป็นพยาน

นกยูงกราบทูลว่า เมื่อครั้งเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ข้าพเจ้านั่งรถที่ทำด้วยแก้วเจ็ดประการเที่ยวไปในอากาศ รถของข้าพเจ้านั้นจมอยู่ใต้สระมงคลโบกขรณี โปรดให้ยกรถนั้นขึ้นจากสระมงคลโบกขรณีเถิด รถนั้นจักเป็นพยานของข้าพเจ้า

พระราชาตรัสว่า ดีละ แล้วตรัสสั่งให้วิดน้ำออกจากสระโบกขรณี ขุดลงไปก็ได้เห็นรถจริง รับสั่งให้ยกรถนั้นขึ้นมา ทรงเชื่อคำที่นกยูงกล่าว

นกยูงโพธิสัตว์แสดงธรรมถวายพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช สิ่งทั้งปวงที่ถูกปรุงแต่งขึ้นนอกจากพระอมตมหานิพพานแล้ว ชื่อว่าไม่เที่ยง มีความสิ้นไปและเสื่อมไปเป็นธรรมดาเพราะมีแล้วกลับไม่มี

แล้วนกยูงทองก็สอนให้พระราชาดำรงอยู่ในศีลห้า

พระราชาทรงเลื่อมใสบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยราชสมบัติ ได้ทรงกระทำสักการะเป็นอันมาก

นกยูงทองถวายราชสมบัติคืนแด่พระราชา พักอยู่ 2-3 วัน จึงถวายโอวาทว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงไม่ประมาทเถิด ดังนี้ แล้วบินขึ้นสู่อากาศกลับไปยังป่าหิมพานต์

ฝ่ายพระราชาทรงดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้นจนตลอดพระชนมชีพ

พระศาสดาตรัสโมรชาดกนี้จบลงแล้วจึงตรัสแสดงจตุราริยสัจสืบต่อไป เมื่อจบพระธรรมเทศนาภิกษุผู้กระสันจะสึกรูปนั้นได้สำเร็จธรรมเป็นพระอรหันต์.

สิ้นเรื่องในอรรถกถาโมรชาดกเพียงเท่านี้

………..

เราท่านพึงพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการว่า โมรปริตรนี้ท่านมิได้มีเจตนาจะสอนให้ชาวพุทธไหว้ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์หรือดวงดาวใดๆ เหมือนอย่างนกยูงทองในชาดกนั้นเลย สาระสำคัญอยู่ที่ท่านมุ่งจะสอนว่า เมื่อใดจิตใจลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งใดๆ ก็ตามด้วยอำนาจกิเลสจนลืมที่จะบังคับควบคุมตัวแล้วไซร้ เมื่อนั้นความพินาศย่อมมาถึงโดยไม่ต้องสงสัยเลย

…………

โมรปริตรนี้ได้ชื่อว่า “มนต์พญานกยูง” บางทีก็เรียกว่า “พรหมมนต์” (มนต์ประเสริฐ) นับถือกันว่ามีอานุภาพทำให้แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง แม้ศัตรูหมู่ร้ายก็มิสามารถทำอันตรายใดๆ ได้ ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ทุกแห่งพระสงฆ์จึงนิยมสวดเป็นหนึ่งในเจ็ดตำนาน ทั้งนี้เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป ด้วยประการฉะนี้

————-

ข้อความในโมรปริตรมีดังนี้ :

โมรปริตร

อุเทตะยัญจักขุมา  เอกะราชา

หะริสสะวัณโณ  ปะฐะวิปปะภาโส

พระอาทิตย์เป็นดวงตาของโลก เป็นเอกราช มีสีเพียงดังสีแห่งทอง

ยังพื้นปฐพีให้สว่าง อุทัยขึ้นมา

ตัง  ตัง  นะมัสสามิ  หะริสสะวัณณัง  ปะฐะวิปปะภาสัง

เพราะเหตุนั้น ข้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งมีสีเพียงดังสีแห่งทอง

ส่องพื้นปฐพีให้สว่าง

ตะยัชชะ  คุตตา  วิหะเรมุ  ทิวะสัง

ข้าทั้งหลายอันท่านคุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน

เย  พราหมะณา  เวทะคุ  สัพพะธัมเม

เต  เม  นะโม  เต  จะ  มัง  ปาละยันตุ

พราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด ผู้ถึงซึ่งเวทในธรรมทั้งปวง

พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นจงรับความนอบน้อมของข้า

อนึ่ง พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นจงคุ้มครองรักษาข้าด้วย

นะมัตถุ  พุทธานัง  นะมัตถุ โพธิยา

นะโม  วิมุตตานัง  นะโม  วิมุตติยา

ความนอบน้อมของข้าจงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ความนอบน้อมของข้าจงมีแด่พระโพธิญาณ

ความนอบน้อมของข้าจงมีแด่ท่านผู้พ้นแล้วทั้งหลาย

ความนอบน้อมของข้าจงมีแด่วิมุตติธรรม (ธรรมเป็นเครื่อง

หลุดพ้น)

อิมัง  โส  ปะริตตัง  กัตวา  โมโร  จะระติ  เอสะนา.

นกยูงนั้นได้กระทำปริตรอันนี้แล้วจึงเที่ยวไปเพื่ออันแสวงหา

อาหาร

อะเปตะยัญจักขุมา  เอกะราชา 

หะริสสะวัณโณ  ปะฐะวิปปะภาโส

พระอาทิตย์นี้เป็นดวงตาของโลก เป็นเอกราช มีสีเพียงดังสีแห่งทอง

ยังพื้นปฐพีให้สว่าง ย่อมอัสดงคตไป

ตัง  ตัง  นะมัสสามิ  หะริสสะวัณณัง  ปะฐะวิปปะภาสัง

เพราะเหตุนั้น ข้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งมีสีเพียงดังสีแห่งทอง

ส่องพื้นปฐพีให้สว่าง

ตะยัชชะ  คุตตา  วิหะเรมุ  รัตติง

ข้าทั้งหลายอันท่านคุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน

เย  พราหมะณา  เวทะคุ  สัพพะธัมเม 

เต  เม  นะโม  เต  จะ  มัง  ปาละยันตุ

พราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด ผู้ถึงซึ่งเวทในธรรมทั้งปวง

พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นจงรับความนอบน้อมของข้า

อนึ่ง พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นจงคุ้มครองรักษาข้าด้วย

นะมัตถุ  พุทธานัง  นะมัตถุ โพธิยา

นะโม  วิมุตตานัง  นะโม  วิมุตติยา

ความนอบน้อมของข้าจงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ความนอบน้อมของข้าจงมีแด่พระโพธิญาณ

ความนอบน้อมของข้าจงมีแด่ท่านผู้พ้นแล้วทั้งหลาย

ความนอบน้อมของข้าจงมีแด่วิมุตติธรรม (ธรรมเป็นเครื่อง

หลุดพ้น)

อิมัง  โส  ปะริตตัง  กัตวา  โมโร  วาสะมะกัปปะยีติ.

นกยูงนั้นได้กระทำปริตรอันนี้แล้วจึงได้พำนักอยู่แล

ที่มา:

โมรชาดก ขุททกนิกาย ชาดก ทุกนิบาต

พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗  ข้อ ๑๖๗-๑๖๘

————–

: วินาสกาเล วิปรีตพุทฺธิ

: ถึงคราวจะพินาศ สติปัญญามักจะวิปลาสไปทั่วกัน

#บาลีวันละคำ (917)

21-11-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *