บาลีวันละคำ

อังคุลิมาลปริตร-โพชฌงคปริตร (บาลีวันละคำ 920)

อังคุลิมาลปริตร-โพชฌงคปริตร

บทเสริม/แทนพิเศษในเจ็ดตำนาน

“อังคุลิมาลปริตร” อ่านว่า อัง-คุ-ลิ-มา-ละ-ปะ-หฺริด

ชื่อนี้อาจเรียกเป็น “องคุลิมาลปริตร” (อง-คุ-ลิ-มา-ละ-ปะ-หฺริด) ก็ได้

ประกอบด้วย องคุลิมาล + ปริตร

โพชฌงคปริตร” อ่านว่า โพด-ชง-คะ-ปะ-หฺริด

ชื่อนี้อาจเรียกเป็น “โพชฌังคปริตร” (โพด-ชัง-คะ-ปะ-หฺริด) ก็ได้

ประกอบด้วย โพชฌงค + ปริตร

(๑) องคุลิมาล บาลีเขียน “องฺคุลิมาล” อ่านว่า อัง-คุ-ลิ-มา-ละ

ประกอบด้วย องฺคุลิ (นิ้วมือ) + มาล (ศัพท์เดิม มาลา = พวงมาลัย) = องฺคุลิมาล แปลว่า “มีนิ้วเป็นพวงมาลัย”

องคุลิมาล + ปริตร = องคุลิมาลปริตร แปลว่า พระปริตรว่าด้วยพระองคุลิมาล

ประวัติพระองคุลิมาลโดยย่อมีว่า –

องคุลิมาลเป็นบุตรของภัคควพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าโกศล มารดาชื่อนางมันตานีพราหมณี เดิมชื่ออหิงสกะ (แปลว่า “ผู้ไม่เบียดเบียน”) ไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา มีความรู้และความประพฤติดี เพื่อนศิษย์ด้วยกันริษยา ยุอาจารย์ให้กำจัดเสีย อาจารย์ลวงอุบายให้ไปฆ่าคนครบหนึ่งพันแล้วจะมอบวิชาวิเศษอย่างหนึ่งให้ จึงกลายไปเป็นมหาโจรผู้โหดร้ายทารุณ ตัดนิ้วมือคนที่ตนฆ่าตายแล้ว ร้อยเป็นพวงมาลัย จึงได้ชื่อว่า องคุลิมาล (แปลว่า “มีนิ้วเป็นพวงมาลัย”) ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดกลับใจได้ ขอบวช ต่อมาก็ได้สำเร็จพระอรหัต ท่านเป็นต้นแห่งพุทธบัญญัติไม่ให้บวชโจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง

(๒) โพชฌงค บาลีเขียน “โพชฺฌงฺค” อ่านว่า โพด-ชัง-คะ

ประกอบด้วย โพชฺฌ + องฺค = โพชฺฌงฺค แปลว่า ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้

โพชฌงค + ปริตร = โพชฌงคปริตร แปลว่า พระปริตรว่าด้วยธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้

โพชฌงค์ = ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ (enlightenment factors) มี 7 ข้อ ดังนี้:

(1) สติ ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง (mindfulness)

(2) ธัมมวิจยะ ความเฟ้นธรรม, ความสอดส่องสืบค้นธรรม (truth-investigation)

(3) วิริยะ ความเพียร (effort; energy)

(4) ปีติ ความอิ่มใจ (zest)

(5) ปัสสัทธิ ความสงบกายสงบใจ (tranquillity; calmness)

(6) สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์ (concentration)

(7) อุเบกขา ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง (equanimity)

บรรยายความ:

องคุลิมาลปริตรและโพชฌงคปริตร จัดเป็นพระปริตรเสริมหรือแทนในเจ็ดตำนาน กล่าวคือใช้สวดแทน ขันธปริตร (ลำดับ 4) โมรปริตร (ลำดับ 5) ธชัคคปริตร (ลำดับ 6) อาฏานาฏิยปริตร (ลำดับ 7) ลำดับใดลำดับหนึ่ง หรือบางทีสวดเจ็ดตำนานครบทุกปริตรแล้วสวดเสริมหรือแถม อังคุลิมาลปริตร-โพชฌงคปริตร เป็นพิเศษอีกบทหนึ่ง

อังคุลิมาลปริตร กับ โพชฌงคปริตร นิยมสวดควบคู่กันเสมอโดยมี อังคุลิมาลปริตร เป็นบทนำ และ โพชฌงคปริตร เป็นบทแนบ

อังคุลิมาลปริตร ยกเรื่องตอนที่ท่านพระองคุลิมาลอุปสมบทแล้วไปบิณฑบาต ผู้คนจำได้ก็หวาดกลัวไม่มีใครถวายอาหารบิณฑบาต วันหนึ่งไปประจวบหญิงท้องแก่รอใส่บาตร พอเห็นท่านก็คลานหนีเข้าช่องรั้ว ท้องติดอยู่เข้าไม่ได้เกิดเป็นปัญหาคลอดลูกไม่ได้ ท่านนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสแนะให้ท่านกลับไปตั้งสัจกิริยา หญิงนั้นก็คลอดบุตรง่ายดาย “ประดุจเทน้ำออกจากธมกรก” อังคุลิมาลปริตรก็คือข้อความที่เป็นสัจกิริยาของพระองคุลิมาลนี่เอง

ส่วนโพชฌงคปริตรมีลักษณะพิเศษต่างออกไปอีก เนื่องจากว่า เรื่องที่พระพุทธองค์เอง พระมหากัสสปะ และพระมหาโมคคัลลานะ สดับคำแสดงโพชฌงค์แล้วหายจากอาพาธนั้น กระจายอยู่ในสามพระสูตรต่างหากกัน (สํ.ม.19/415-428/113-7) พระโบราณาจารย์จึงใช้วิธีประพันธ์คาถาประมวลเรื่องสรุปความรวมไว้เป็นปริตรเดียวกัน โพชฌังคปริตรจึงมิใช่เป็นบาลีภาษิตจากพระไตรปิฎกโดยตรง

น่าสังเกตว่า พระปริตรทั้งสองนี้นับถือกันว่าเป็นธรรมโอสถมีอานุภาพในทางรักษาโรคภัย ดังนั้น การสวดจะมีผลต่อการรักษาโรค หัวใจของบทสวด คือมีศรัทธาเชื่อมั่นว่า สัจกิริยาของพระองคุลิมาลมีผลจริง และพระพุทธเจ้าทรงใช้โพชฌังคปริตรรักษาพระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสะปะให้หายจากอาพาธ และทรงให้พระจุนทะสวดถวายรักษาอาการประชวรของพระองค์หายได้จริง เมื่อเชื่อมั่นอย่างนี้ ขณะกล่าวคำสวด และใจของผู้สวดตรงกันเป็นความจริงแล้วจึงเกิดปีติความอิ่มเอิบใจ เมื่อมารวมกับอานุภาพของพระรัตนตรัยย่อมเกิดเป็นพระพุทธมนต์อันยิ่งใหญ่รักษาโรคให้หายได้

————-

อังคุลิมาลปริตร และ โพชฌงคปริตร มีตัวพระปริตรและคำแปลดังต่อไปนี้

อังคุลิมาลปริตร

ยะโตหัง  ภะคินิ  อะริยายะ  ชาติยา  ชาโต 

นาภิชานามิ  สัญจิจจะ  ปาณัง  ชีวิตา  โวโรเปตา 

เตนะ  สัจเจนะ  โสตถิ  เต  โหตุ  โสตถิ  คัพภัสสะ.

ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดแล้วในอริยชาติ

มิได้เคยคิดที่จะแกล้งฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเลย

ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เธอ

ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของเธอ

โพชฌงคปริตร

โพชฌังโค  สะติสังขาโต

ธัมมานัง  วิจะโย  ตะถา

วิริยัมปีติ  ปัสสัทธิ

โพชฌังคา  จะ  ตะถาปะเร

สะมาธุเปกขะโพชฌังคา

สัตเตเต  สัพพะทัสสินา

มุนินา  สัมมะทักขาตา

ภาวิตา  พะหุลีกะตา

สังวัตตันติ  อะภิญญายะ

นิพพานายะ  จะ  โพธิยา.

โพชฌงค์ 7 ประการ คือสติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ 7 ประการเหล่านี้ เป็นธรรมอันพระมุนีเจ้าผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้และเพื่อนิพพาน

เอเตนะ  สัจจะวัชเชนะ

โสตถิ  เต  โหตุ  สัพพะทา.

ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้

ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

เอกัส๎มิง  สะมะเย  นาโถ

โมคคัลลานัญจะ  กัสสะปัง

คิลาเน  ทุกขิเต  ทิส๎วา

โพชฌังเค  สัตตะ  เทสะยิ

เต  จะ  ตัง  อะภินันทิต๎วา

โรคา  มุจจิงสุ  ตังขะเณ

ในสมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้าทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะเป็นไข้ได้รับความลำบาก จึงทรงแสดงโพชฌงค์ 7 ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง ท่านทั้งสองนั้นชื่นชมยินดียิ่งซึ่งโพชฌงคธรรม ก็หายโรคได้ในบัดดล

เอเตนะ  สัจจะวัชเชนะ

โสตถิ  เต  โหตุ  สัพพะทา.

ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้

ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

เอกะทา  ธัมมะราชาปิ

เคลัญเญนาภิปีลิโต

จุนทัตเถเรนะ  ตัญเญวะ

ภะณาเปต๎วานะ  สาทะรัง

สัมโมทิต๎วา  จะ  อาพาธา

ตัมหา วุฏฐาสิ  ฐานะโส

ในครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชาเอง (พระพุทธเจ้า) ทรงประชวรเป็นไข้หนัก รับสั่งให้พระจุนทเถระกล่าวโพชฌงค์นั้นนั่นแลถวายโดยเคารพ ก็ทรงบันเทิงพระหฤทัยหายจากพระประชวรนั้นได้โดยพลัน

เอเตนะ  สัจจะวัชเชนะ

โสตถิ  เต  โหตุ  สัพพะทา.

ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้

ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

ปะหีนา  เต  จะ  อาพาธา

ติณณันนัมปิมะเหสินัง

มัคคาหะตะกิเลสาวะ

ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง

ก็อาพาธทั้งหลายนั้นของพระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง 3 องค์นั้นหายแล้วไม่กลับเป็นอีก ดุจดังกิเลสถูกอริยมรรคกำจัดเสียแล้วถึงซึ่งความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา

เอเตนะ  สัจจะวัชเชนะ

โสตถิ  เต  โหตุ  สัพพะทา.

ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้

ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ.

————–

: ธรรมะของพระพุทธเจ้าเปรียบเสมือนยาวิเศษ

แต่โรคไม่อาจหายได้เพียงแค่พรรณนาสรรพคุณ

แม้ว่าจะไพเราะหยดย้อยสักเพียงไร

ต้องกินต้องใช้จริงๆ จึงจะหาย

#บาลีวันละคำ (920)

24-11-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *