นาคบาศ (บาลีวันละคำ 921)
นาคบาศ
ประกอบด้วยคำว่า นาค + บาศ
(๑) “นาค”
บาลีอ่านว่า นา-คะ ใช้ในภาษาไทยคำเดียว อ่านว่า นาก ถ้ามีคำอื่นมาสมาสท้าย อ่านว่า นา-คะ- หรือ นาก-คะ-
คำว่า “นาค” ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง ดังนี้ –
(1) งูใหญ่มีหงอน ที่เรามักเรียกกันว่า “พญานาค” ภาษาบาลีว่า นาคราชา (นา-คะ-รา-ชา) เป็นความหมายที่เราคุ้นกันมากที่สุด
(2) “สัตว์ที่มองเห็นเป็นเหมือนภูเขา” = ช้าง หมายถึงช้างที่ฝึกหัดเป็นอย่างดีแล้ว เช่นช้างศึก
(3) “ต้นไม้ที่ไปไหนไม่ได้” = ไม้กากะทิง (ใบและผลคล้ายสารภี แต่ใบขึ้นสันมากและผลกลมกว่า เปลือกเมล็ดแข็ง ใช้ทําลูกฉลากหรือกระบวยของเล่น, สารภีทะเล หรือ กระทึง ก็เรียก)
(4) “ผู้ไม่มีผู้ที่เลิศกว่า” = ผู้เลิศ, พระอรหันต์
(5) “ผู้ไม่ทำบาปกรรม, ผู้ไม่มีบาป” = ผู้มุ่งจะบวช
การเรียกคนที่ไปอยู่วัดเตรียมตัวจะบวชหรือกําลังจะบวชว่า “นาค” มีมูลเหตุมาจากในเวลาทำพิธีบวช จะต้องระบุชื่อผู้บวชเป็นภาษาบาลี (ที่เรียกว่า “ฉายา” – ดูคำนี้) ในยุคแรกๆ มักสมมุติชื่อผู้บวชว่า “นาโค” ทุกคน (ปัจจุบันตั้งฉายาต่างกันออกไปเหมือนตั้งชื่อ)
คำว่า “นาโค = นาค” จึงเรียกกันติดปาก ใครจะบวชก็เรียกกันว่า “นาค” มาจนทุกวันนี้
(๒) “บาศ”
บาลีเป็น “ปาส” (ปา-สะ) สันสกฤตเป็น “ปาศ” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บาศ” คำแปลที่คุ้นกันคือ “บ่วง”
ในภาษาไทยมีคำว่า “บ่วงบาศ” น่าจะเป็นคำซ้อน “บ่วง” คือ “บาศ” และ “บาศ” ก็คือ “บ่วง” แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บ่วงบาศ : (คำนาม) บ่วงสําหรับโยนไปคล้อง.”
“ปาส” ในบาลียังแปลอย่างอื่นได้อีก คือ บ่วงแร้ว, กับดัก, เครื่องผูกรัด, โซ่ตรวน, มวยผม, รูลูกดุม
นาค + ปาส = นาคปาส (นา-คะ-ปา-สะ) > นาคบาศ ภาษาไทยอ่านว่า นาก-คะ-บาด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นาคบาศ : บ่วงที่เป็นงู เป็นชื่อศรของอินทรชิตที่แผลงไปเป็นงู. (ส.).”
สมญาภิธานรามเกียรติ ของท่าน “นาคะประทีป” แถลงคำว่า “นาคบาศ” ไว้สั้นๆ ว่า “ศรที่พระพรหมประทานอินทรชิต”
และที่คำว่า “อินทรชิต” ขยายความไว้ว่า –
“เมื่อศึกติดลงกา กุมภกรรณออกรบจนตายแล้ว, (อินทรชิต) ได้เป็นจอมทัพออกทำสงคราม, ครั้งแรก รบกับพระลักษมณ์ไม่แพ้ชนะกัน ครั้งที่สอง ทำพิธีชุบศรนาคบาศ, ถูกชามพุวราชทำลายพิธี, ออกรบกับพระลักษมณ์ แผลงศรเป็นนาคมัดพระลักษมณ์กับทหารล้มกลิ้งทั้งกองทัพ.”
ในคัมภีร์สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส (คุหฏุกสุตตนิทเทส) หน้า 145 ตอนอธิบายเรื่องกาม ว่าเป็นสิ่งที่ละได้ยาก ท่านใช้ศัพท์ว่า “นาคปาส” ในคำอุปมา ดังข้อความว่า –
“นาคปาสํ วิย ทุพฺพินิเวฐยา”
แปลว่า “กามทั้งหลายแหวกออกได้โดยยากดุจนาคบาศ”
สามบ่วง :
๏ มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว……พันคอ
ทรัพย์ผูกบาทาคลอ………หน่วงไว้
ภรรยาเยี่ยงบ่วงปอ………..รึงรัด มือนา
สามบ่วงใครพ้นได้………..จึ่งพ้นสงสาร๚ะ๛
(โคลงโลกนิติ-สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร)
#บาลีวันละคำ (921)
25-11-57