ราชวัลลภ (บาลีวันละคำ 1,663)
ราชวัลลภ
อ่านว่า ราด-ชะ-วัน-ลบ
ประกอบด้วย ราช + วัลลภ
(๑) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –
(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (ปัจจัย) = ราช
หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ (ปัจจัย) ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา = ราช
หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
(๒) “วัลลภ”
บาลีเขียน “วลฺลภ” อ่านว่า วัน-ละ-พะ รากศัพท์มาจาก วลฺลฺ (ธาตุ = ระวัง) + อภ ปัจจัย
: วลฺล + อภ = วลฺลภ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “-อันเขาระวังไว้” (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้คอยระวัง” หมายถึง น่าปรารถนา, น่ารัก, น่ายินดี, เป็นที่โปรดปราน
“วลฺลภ” ถ้าหมายถึงสตรี รูปคำอิตถีลิงค์เป็น “วลฺลภา” (วัน-ละ-พา) แปลว่า สตรีที่เป็นที่รัก, คนโปรด (a beloved woman, a favourite)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วลฺลภ” ว่า a favourite (ของชอบ)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “วลฺลภ” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วลฺลภ : (คุณศัพท์) ‘วัลลภ, พัลลภ,’ อันเปนที่รัก, อันเปนที่ใคร่; บรม; dear, beloved, desired; supreme; – (คำนาม) กามุก, มิตร; อธิการี, ผู้ดูแล; หัวน่าโคบาล; a lover, a friend; a superintendent, an overseer; the chief herdsman.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วัลลภ : (คำนาม) คนสนิท, ผู้ชอบพอ, คนโปรด, คนรัก. (ป., ส.).”
ราช + วลฺลภ = ราชวลฺลภ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันพระราชาชอบ” หรือ “ผู้คอยระวังพระราชา” หมายถึง คนโปรดของพระราชา, ผู้ดูแล (a king’s favourite, an overseer)
ในกองทัพไทยมีทหารหน่วยหนึ่งเรียกชื่อว่า “ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์” เป็นหน่วยที่ทำหน้าที่ถวายอารักขาและรับใช้ต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิดที่สุด
…………..
ดูก่อนภราดา!
ในโลกนี้
: บางคนเท่านั้นที่มีสิทธิ์เป็นคนโปรดของพระราชา
: แต่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะบำเพ็ญประโยชน์แล้วเป็นคนโปรดของปวงประชา
23-12-59