ศีลาจารวัตร (บาลีวันละคำ 1,666)
ศีลาจารวัตร
อ่านว่า สี-ลา-จา-ระ-วัด
แยกศัพท์เป็น ศีล + อาจาร + วัตร
ความหมายของแต่ละศัพท์ :
(๑) “ศีล”
บาลีเป็น “สีล” (สี-ละ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สีลฺ (ธาตุ = สงบ, ทรงไว้) + อ ปัจจัย
: สีลฺ + อ = สีล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุสงบแห่งจิต” “เหตุให้ธำรงกุศลธรรมไว้ได้” “ธรรมที่ธำรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้เกิดในอบาย”
(2) สิ (ธาตุ = ผูก) + ล ปัจจัย, ยืดเสียง (ทีฆะ) อิ ที่ สิ เป็น อี
: สิ + ล = สิล > สีล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องผูกจิตไว้”
นัยหนึ่งนิยมแปลกันว่า “เย็น” หรือ “ปกติ” โดยความหมายว่า เมื่อไม่ละเมิดข้อห้ามก็จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นปกติเรียบร้อย
“สีล” หมายถึง :
(1) ข้อปฏิบัติทางศีลธรรม, นิสัยที่ดี, จริยธรรมในพุทธศาสนา, หลักศีลธรรม (moral practice, good character, Buddhist ethics, code of morality)
(2) ธรรมชาติ, นิสัย, ความเคยชิน, ความประพฤติ (nature, character, habit, behavior)
“สีล” ในบาลี เป็น “ศีล” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) ศีล : (คำคุณศัพท์) มี; มีความชำนาญ; มีมรรยาทหรือจรรยาดี, มีอารมณ์ดี; endowed with, or possessed of; versed in; well-behaved, well-disposed.
(2) ศีล : (คำนาม) ชาติหรือปรกฤติ, คุณหรือลักษณะ; ภาวะหรืออารมณ์; สุศีล, จรรยา– มรรยาท– หรืออารมณ์ดี; การรักษาหรือประติบัทธรรมและจรรยาไว้มั่นและเปนระเบียบ; โศภา, ความงาม; งูใหญ่; nature, quality; disposition or inclination; good conduct or disposition; steady or uniform observance of law and morals; beauty; a large snake.
ในภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศีล”
(๒) “อาจาร”
บาลีอ่านว่า อา-จา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ; ศึกษา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ จ-(รฺ) เป็น อา (จรฺ > จาร)
: อา + จรฺ = อาจรฺ + ณ = อาจรฺณ > อาจรฺ > อาจารฺ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ประพฤติอย่างยิ่ง” “อาการที่ศึกษาอย่างทั่วถึง” (คือเอาใจใส่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนั้นๆ) หมายถึง อาจาระ, ความประพฤติ, การปฏิบัติ, ความประพฤติชอบ, กิริยามารยาทที่ดี (way of behaving, conduct, practice, right conduct, good manners)
บาลี “อาจารฺ” สันสกฤตก็เป็น “อาจารฺ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อาจาร : (คำนาม) ระเบียบมรรยาท (กฤติกาแห่งมรรยาท); วินัยบัญญัติ; วินัย; ขนบธรรมเนียม; กริยาประพันธ์; rule of conduct; ordinance; precept; custom or usage; practice.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“อาจาร, อาจาร– : (คำนาม) ความประพฤติ, ความประพฤติดี; จรรยา, มรรยาท; ธรรมเนียม, แบบแผน, หลัก. (ป., ส.).”
(๓) “วัตร”
บาลีเป็น “วตฺต” (วัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก วตฺตฺ (ธาตุ = เป็นไป, ดำเนินไป, เป็นอยู่, หมุนไป) + อ ปัจจัย
: วตฺตฺ + อ = วตฺต แปลตามศัพท์ว่า “กิจที่ดำเนินไป” “ข้อที่ควรถือประพฤติ”
“วตฺต” คำนี้รูปคำที่คุ้นกันในภาษาไทยคือ “วัตร” ซึ่งมีความหมายว่า –
(1) สิ่งที่ทำ, สิ่งที่ดำเนินไป หรือเป็นกิจวัตร, หน้าที่, การบริการ, ประเพณี, งาน (that which is done, which goes on or is customary, duty, service, custom, function)
(2) การปฏิบัติหรือบำเพ็ญ, การปฏิญญา, คุณความดี (observance, vow, virtue)
“วตฺต” ในบาลี เป็น “วฺฤตฺต” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วฺฤตฺต : (คำนาม) กาพย์, ฉันท์; ความประพฤติ; ประโยค; การย์, เหตุการณ์; มณฑล, วงกลม; เต่า; อาชีพ; verse, metre; conduct; practice; procedure, event; a circle; a tortoise; profession.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“วัตร, วัตร– : (คำนาม) กิจพึงกระทํา เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น, หน้าที่ เช่น ข้อวัตรปฏิบัติ, ธรรมเนียม เช่น ศีลาจารวัตร; ความประพฤติ เช่น พระราชจริยวัตร, การปฏิบัติ เช่น ธุดงควัตร อุปัชฌายวัตร, การจำศีล. (ป. วตฺต; ส. วฺฤตฺต).”
เมื่อเอาทั้ง 3 คำมารวมกัน : ศีล + อาจาร + วัตร = ศีลาจารวัตร เกิดเป็นความหมายเฉพาะในภาษาไทย คือหมายถึง กิริยาวาจา ตลอดจนความประพฤติปฏิบัติทั่วไป ที่สุภาพ เรียบร้อย งดงาม
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำนี้เป็นอังกฤษไว้ว่า –
ศีลาจารวัตร (Sīlācāravatta) : moral conduct, manners and duties; moral habits, mien and deportment; the way of behaving and observing one’s duties.
…………..
“ศีลาจารวัตร” เป็นคำที่นิยมใช้เมื่อกล่าวถึงพระภิกษุสามเณรที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย มีกิริยามารยาทเรียบร้อย มีวัตรปฏิบัติที่ถูกต้องดีงาม เช่น –
“สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปยุตตมหาเถระ) เป็นพระมหาเถระที่มีศีลาจารวัตรงดงาม เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาปสาทะของสาธุชนทั่วไป”
“ศีลาจารวัตร” หมายถึง ความประพฤติดีปฏิบัติชอบ เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นมิใช่เฉพาะแก่สมณะชีพราหมณ์เท่านั้น หากแต่จำเป็นยิ่งสำหรับสมาชิกของทุกวงสังคม
…………..
: ความเก่ง ใช้ประโยชน์ได้ในบางกรณี
: แต่ความดี ใช้ประโยชน์ได้ทุกเรื่อง
26-12-59