บาลีวันละคำ

เปรกษนสาตราธิคม (บาลีวันละคำ 1,668)

เปรกษนสาตราธิคม

หมอฝรั่ง ยศไทย ชื่อแขก

…………….

ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสชวา เมื่อรัตนโกสินทรศก 120 ได้พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นกรณีพิเศษแก่หมอชาติฮอลันดาคนหนึ่ง ชื่อว่า เอฟ. ดับลิว. เอ็ม. โฮเกน สตราเตน หมอผู้นี้เคยได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งให้เป็นขุนเปรกษนสาตราธิคม มาครั้งนี้ หมอโฮเกนมีความดีความชอบที่ได้ถวายการรักษาพยาบาลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางคเดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา ทรงรอดพ้นอันตรายจากพระโรคร้ายแรงได้ด้วยความสามารถ จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์หมอโฮเกน จากขุนเปรกษนสาตราธิคม เป็นหลวงในราชทินนามเดิม

ตอนนี้ ยังไม่พบข้อมูลว่า หมอโฮเกนได้มีความดีความชอบอย่างไรในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ตั้งเป็นขุนเปรกษนสาตราธิคม และยังหารูปหมอโฮเกนไม่พบ คงต้องค้นหาข้อมูลหมอฝรั่งคนนี้กันต่อไป

ที่มา: ข้อความจากโพสต์ของ Koson Teenasuan เมื่อ 20 มีนาคม 2558

…………….

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอร่วมค้นในแง่ภาษาดังนี้

ราชทินนาม “เปรกษนสาตราธิคม” อ่านตามรูปศัพท์ว่า เปฺรก-สะ-นะ-สาด-ตรา-ทิ-คม

แยกศัพท์เป็น เปรกษน + สาตร + อธิคม

(๑) “เปรกษน

เทียบบาลีเป็น “ปริกฺขณ” (ปะ-ริก-ขะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบด้าน) + อิกฺขฺ (ธาตุ = เห็น, พิจารณา) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: ปริ + อิกฺขฺ = ปริกฺข + ยุ > อน = ปริกฺขน > ปริกฺขณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเห็นรอบด้าน” หมายถึง การตรวจสอบ, การสอบสวน, ความรอบคอบ, ความสุขุม; การพยายาม (examination, investigation, circumspection, prudence; trying)

บาลี “ปริกฺขณ” สันสกฤตเป็น “เปฺรกฺษณ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เปฺรกฺษณ : (คำนาม) ‘เปรกษณ,’ จักษุ, จักษุส; ที่แสดงการเล่น; การดู; the eye; a place where public exhibitions are held; seeing or viewing.”

(๒) “สาตร

คำนี้คือที่สะกดในปัจจุบันว่า “ศาสตร์” บาลีเป็น “สตฺถ” (สัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (ส)-สฺ เป็น ตฺ

: สสฺ + = สสฺถ > สตฺถ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” คำเดิมหมายถึง “ของมีคม” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศสฺตฺร” แปลว่า ดาบ, มีด, อาวุธ ใช้ในภาษาไทยว่า ศัสตรา หรือ ศาสตรา บางทีก็พูดควบกันว่า ศาสตราวุธ หรือ ศาสตราอาวุธ (weapon, sword, knife)

(2) สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย แปลง รฺ เป็น ตฺ

: สรฺ + = สรฺถ > สตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “หมู่เป็นที่เป็นไปแห่งส่วนย่อยทั้งหลาย” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “สารฺถ” หมายถึง กองเกวียนของพ่อค้า, กองคาราวาน, ขบวนยานพาหนะ (caravan)

(3) สาสฺ (ธาตุ = สอน) + ปัจจัย, รัสสะ (หดเสียง) อา ที่ สา-(สฺ) เป็น อะ (สาสฺ > สสฺ), แปลง สฺ เป็น ตฺ

: สาสฺ + = สาสฺถ > สสฺถ > สตฺถ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องสอนเนื้อความ” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศาสฺตฺร” หมายถึง คัมภีร์, ตำรา, ศิลปะ, วิชา หรือ ระบบวิชาความรู้. ใช้ในภาษาไทยว่า “ศาสตร์” (science, art, lore)

ในที่นี้ “สตฺถ” ใช้ในความหมายตามข้อ (3) คือ คัมภีร์, ตำรา, ศิลปะ, วิชา หรือ ระบบวิชาความรู้

(๓) “อธิคม

บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-คะ-มะ รากศัพท์มาจาก อธิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย

: อธิ + คมฺ = อธิคมฺ + = อธิคม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การถึงทับ” หมายถึง การบรรลุ, การได้มา (attainment, acquisition); ความรู้, สิ่งที่ได้รู้มา, การศึกษา (knowledge, information, study)

สรุปความหมาย :

เปรกษน (เปรกษณ) = จักษุ, ดวงตา

สาตร (ศาสตร) = วิชาความรู้

อธิคม = การบรรลุ, ผู้บรรลุถึง

เปรกษน + สาตร + อธิคม = เปรกษนสาตราธิคม (ถ้าเขียนตามปัจจุบัน : เปรกษณศาตราธิคม) แปลได้ความว่า “ผู้สำเร็จวิชาดวงตา” ซึ่งน่าจะหมายถึง ผู้เชี่ยวชาญโรคตา, หมอตา, จักษุแพทย์

หมายเหตุ : ถ้าสืบได้ความจริงว่าหมอฝรั่งยศไทยชื่อแขกผู้นี้มีความดีความชอบอย่างไร หรือเก่งทางไหน ความหมายที่แสดงไว้นี้อาจไม่ใช่ตามนี้ก็ได้

…………..

: ยศศักดิ์ สงวนสิทธิ์ไว้สำหรับบางคน

: แต่บุญกุศล ไม่สงวนสิทธิ์ไว้เฉพาะใครใด

28-12-59