บาลีวันละคำ

ปิยวาจา (บาลีวันละคำ 1,672)

ปิยวาจา

อ่านว่า ปิ-ยะ-วา-จา

ประกอบด้วย ปิย + วาจา

(๑) “ปิย” (ปิ-ยะ)

รากศัพท์มาจาก ปี (ธาตุ = รักใคร่, ชอบใจ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ , รัสสะ อี ที่ ปี เป็น อิ (ปี > ปิ

: ปี + ณฺย = ปีณฺย > ปีย > ปิย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบุคคลพึงรักใคร่” “สิ่งที่ควรรักชอบ

ปิย” ในบาลีมีความหมายว่า –

(1) ที่รัก, ผู้เป็นที่รัก (dear, beloved)

(2) น่าพึงพอใจ, คบได้, เป็นที่ชอบ (pleasant, agreeable, liked)

(๒) “วาจา

รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ พูด) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(จฺ) เป็น อา ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (วจฺ > วาจ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตฺถีลิงค์

: วจฺ + = วจณ > วจ > วาจ + อา = วาจา แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด การกล่าว, การพูด, วาจา (word, saying, speech)

ปิย + วาจา = ปิยวาจา แปลว่า คำพูดที่ไพเราะ (pleasant speech)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “ปิยวาจา” เป็นอังกฤษว่า pleasant speech; kindly speech.

ในทางธรรม “ปิยวาจา” เป็นข้อที่ 2 ในสังคหวัตถุธรรม 4 ข้อ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ดังนี้ –

ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ : วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มน้ำใจ หรือวาจาซาบซึ้งใจ คือกล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้นิยมยินดี (Piyavācā: kindly speech; convincing speech).”

…………..

ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ชาวโลกแสดงความปรารถนาดีต่อกันด้วยคำว่า “สวัสดีปีใหม่” และถ้อยคำที่ไพเราะน่าฟังต่างๆ อันเป็นปิยวาจา

เรามักรู้สึกกันว่า พูดคะขาจ๊ะจ๋า เป็นปิยวาจา พูดไอ้อีมึงกู เป็นคำหยาบ

มีคำถามว่า อันถ้อยคำที่จะนับว่าเป็นปิยวาจาหรือมิใช่นั้น จะใช้หลักอันใดเป็นเกณฑ์ตัดสิน?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าใจชุ่มด้วยความชัง วาจาที่น่าฟังก็หยาบ

: ถ้าใจอิ่มด้วยรักเอิบอาบ วาจาที่หยาบก็น่าฟัง

1-1-60