บาลีวันละคำ

ทิฐิพระ (บาลีวันละคำ 1,676)

ทิฐิพระ

บาลีแท้ผสมบาลีไทย

ประกอบด้วย ทิฐิ + พระ

(๑) “ทิฐิ

บาลีเป็น “ทิฏฺฐิ” รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ติ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (ทิสฺ > ทิ), แปลง ติ เป็น ฏฺฐิ

: ทิสฺ > ทิ + ติ > ฏฺฐิ : ทิ + ฏฺฐิ = ทิฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า “ความเห็น” หมายถึง ความคิดเห็น, ความเชื่อ, หลักลัทธิ, ทฤษฎี, การเก็ง, ทฤษฎีที่ผิด, ความเห็นที่ปราศจากเหตุผลหรือมูลฐาน (view, belief, dogma, theory, speculation, false theory, groundless or unfounded opinion)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทิฐิ : (คำนาม) ความเห็น เช่น สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิด; ความอวดดื้อถือดี เช่น เขามีทิฐิมาก”

โปรดสังเกตว่า คำนี้บาลีเป็น “ทิฏฺฐิ” (ทิด-ถิ) มี ปฏักสะกด ภาษาไทย (ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) ตัด ออก เขียนเป็น “ทิฐิ” แต่อ่านเท่าบาลี คืออ่านว่า ทิด-ถิ ไม่ใช่ ทิ-ถิ

ในภาษาธรรม ถ้าพูดเฉพาะ “ทิฏฺฐิ” จะหมายถึง ความเห็นผิด

ถ้าต้องการชี้เฉพาะ จะมีคำบ่งชี้นำหน้า คือ

มิจฺฉาทิฏฺฐิ = ความเห็นผิด

สมฺมาทิฏฺฐิ = ความเห็นถูก

(๒) “พระ” บาลีว่าอย่างไร?

มีผู้ให้ความเห็นว่า “พระ” น่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง เป็น ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 13 อย่าง ในที่นี้คำว่า “พระ” หมายถึง นักบวช, นักพรต, เช่น พระไทย พระแขก พระฝรั่ง พระจีน พระญวน

ในที่นี้ถ้าแปล “พระ” กลับเป็นบาลีว่า “วร” ก็จะผิดความหมายไปไกล เพราะในบาลี “วร” ไม่ได้หมายถึงนักบวช, นักพรต แต่หมายถึง ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ (excellent, splendid, best, noble)

ในภาษาบาลี คำที่หมายถึงนักบวช, นักพรต ที่นิยมใช้มากคือ “สมณพฺราหฺมณ” (สมณ + พฺราหฺมณ)

“สมณ” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หรือแปลสั้นๆ ว่า “ผู้สงบ

“พฺราหฺมณ” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหล่ากอของพรหม” และ “ผู้สาธยายมนต์

สมณพฺราหฺมณ” มักแปลทับศัพท์ว่า “สมณพราหมณ์” (สะ-มะ-นะ-พฺราม) คือ สมณะและพราหมณ์

อีกคำหนึ่งที่หมายถึงนักบวช, นักพรต คือ “ปพฺพชิต” (ปับ-พะ-ชิ-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีการเว้นทั่วเกิดขึ้นแล้ว” และ “ผู้ไปสู่ความเป็นผู้ประเสริฐที่สุด” ใช้ในภาษาไทยว่า “บรรพชิต

(ดูรายละเอียดที่คำว่า “สมณพราหมณ์” และคำว่า “บรรพชิต”)

ทิฐิพระ” ถ้าแปลกลับเป็นบาลีก็น่าจะเป็น “สมณพฺราหฺมณทิฏฺฐิ” หรือ “ปพฺพชิตทิฏฺฐิ” แต่ยังไม่พบคำที่ใช้เช่นนี้ในคัมภีร์

ถ้าจะสื่อสารกันในภาษาไทยใช้คำว่า “ทิฐิพระ” น่าจะติดปากและเข้าใจได้ง่ายกว่า

…………..

ทิฐิพระ” มีความหมายว่า พระมักจะมีทิฐิคือยึดมั่นในความคิดเห็นของตน แม้จะเป็นความเห็นที่ผิดก็ไม่ยอมเปลี่ยนง่ายๆ และแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าตนเข้าใจผิด เห็นผิด สอนผิด บอกผิด แต่จะให้ยอมรับว่าความเห็นของตนผิดนั้นยากนัก ยิ่งถึงกับจะให้ยอมรับว่า ในเรื่องนั้นความเห็นของคนอื่นถูกต้องกว่าความเห็นของตนด้วยแล้วยิ่งยากอย่างยิ่ง

ทิฐิพระ” มักพูดควบกับ “มานะกษัตริย์” (บางทีก็ว่า “มานะเจ้า”) เป็น –

ทิฐิพระ  มานะกษัตริย์” (“ทิฐิพระ  มานะเจ้า”)

คำกล่าวนี้มีความสอดคล้องกัน หมายถึง พระถือทิฐิ คือความคิดเห็น ส่วนกษัตริย์หรือเจ้าถือมานะ คือทะนงตัวว่าเหนือผู้อื่น และมีอาการตรงกันคือไม่ยอมใครง่ายๆ

คนเก่าๆ สังเกตเห็นว่ามักเป็นเช่นนั้นเสมอ จึงพูดกันว่า “ทิฐิพระ  มานะกษัตริย์

ทิฐิมานะ” เป็นคำที่นิยมพูดควบกันในภาษาไทย (พูดเป็น “มานะทิฐิ” ก็มีบ้าง) มีความหมายว่า ไม่ยอมกัน ไม่ลงกัน หรือไม่คืนดีต่อกัน เช่น “คู่นี้เอาแต่ทิฐิมานะกันอยู่นั่นแหละ

ในคัมภีร์มีกล่าวถึง ทิฐิ กับ มานะ คู่กันบ่อยๆ แต่เป็น “มานทิฏฺฐิ” และมีคำที่เป็นชุดกันอีกคำหนึ่งคือ “ตัณหา” รวมเป็น “ตณฺหามานทิฏฺฐิ” (ตัน-หา-มา-นะ-ทิด-ถิ) นับเป็นกิเลสตัวสำคัญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผิดแล้วไม่ยอมรับผิด

อาจรู้สึกเป็นเกียรตินิดๆ แต่จะเสียหน้าไปตลอดกาล

: ผิดแล้วยอมรับผิด

อาจรู้สึกเสียหน้านิดๆ แต่จะได้รับเกียรติไปตลอดกาล

5-1-60