สมณโวหาร (บาลีวันละคำ 922)
สมณโวหาร
ภาษาไทยอ่านว่า สะ-มะ-นะ-โว-หาน
บาลีอ่านว่า สะ-มะ-นะ-โว-หา-ระ
ประกอบด้วย สมณ + โวหาร
“สมณ” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบ” “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณ” ว่า a wanderer, recluse, religieux (นักบวช, ฤๅษี, สมณะ)
“โวหาร” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“ชั้นเชิงหรือสํานวนแต่งหนังสือหรือพูด เช่น มีโวหารดี, ถ้อยคําที่เล่นเป็นสําบัดสํานวน เช่น อย่ามาตีโวหาร เขาชอบเล่นโวหาร. (ป.).”
ในภาษาไทย “โวหาร” เล็งถึง “คำพูด” แต่ในภาษาบาลี “โวหาร” มีความหมายอย่างอื่นอีก คือ –
(1) การค้า, ธุรกิจ (trade, business)
(2) ชื่อหรือการเรียกขานที่ใช้กันในเวลานั้น, การใช้ภาษาร่วมกัน, ตรรกวิทยา, วิธีปกติธรรมดาของการนิยาม, วิธีใช้, ตำแหน่ง, ฉายา (current appellation, common use, popular logic, common way of defining, usage, designation, term, cognomen)
(3) คดีความ, กฎหมาย, พันธะทางกฎหมาย; วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับคดีความ, วิชาธรรมศาสตร์ (lawsuit, law, lawful obligation; juridical practice, jurisprudence)
สมณ + โวหาร = สมณโวหาร แปลตามศัพท์ว่า “คำพูดของสมณะ”
ในคัมภีร์สารัตถทีปนี ฎีกาวินัย ภาค 3 มีศัพท์ว่า “สมณโวหาร” ใช้อธิบายคำว่า “สมณกปฺป”
“กปฺป” (กับ-ปะ) มีความหมายว่า เหมาะสม, สมควร, ถูกต้อง, เหมาะเจาะ (fitting, suitable, proper)
สรุปว่าในที่นี้ กปฺป = โวหาร ดังนั้น “สมณโวหาร” จึงมีความหมายว่า ถ้อยคำที่เหมาะสมแก่สมณะ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมณโวหาร : (คำนาม) ถ้อยคําที่ควรแก่สมณะ เช่น อาตมา ฉันจังหัน กัปปิยภัณฑ์. (ป.).”
ขยายความ :
คนธรรมดาเมื่อบวชเป็นภิกษุสามเณรแล้ว มีธรรมเนียมให้ใช้คำพูดบางอย่างแตกต่างจากคนทั่วไป ดังหลักที่ให้บรรพชิตพิจารณาเนืองๆ ข้อหนึ่งว่า “บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ”
“สมณโวหาร” ที่ควรทราบเป็นเบื้องต้นก็เช่น :
“ผม” สรรพนามแทนตัวเองเมื่อพูดกับฆราวาส ใช้ว่า “อาตมา” หรือ “อาตมภาพ”
“ครับ” (คำรับ) เมื่อพูดกับฆราวาส ใช้ว่า “เจริญพร”
“รับประทาน” (กิน) ใช้ว่า “ฉัน”
“รับประทานอาหาร” ใช้ว่า “ฉันจังหัน”
“เชิญ” (ให้ไปในงานหรือเพื่อให้ทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง) ใช้ว่า “นิมนต์”
“ไปในงานที่ได้รับเชิญ” ใช้ว่า “ไปกิจนิมนต์”
“นอน” ใช้ว่า “จำวัด”
“ตาย” (พูดถึงพระภิกษุสามเณร) ใช้ว่า “มรณภาพ”
ฯลฯ
: คำงามไม่จำเป็นต้องออกมาจากรูปงาม
: แต่ควรออกมาจากใจงาม
#บาลีวันละคำ (922)
สมณโวหารมีความสำคัญอยางไรในการเทศนา