ราชกรัณยสภา (บาลีวันละคำ 2,766)
ราชกรัณยสภา
ที่ปรึกษางานของแผ่นดิน
อ่านว่า ราด-ชะ-กะ-รัน-ยะ-สะ-พา
ประกอบด้วยคำว่า ราช + กรัณย + สภา
(๑) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –
(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
(๒) “กรัณย”
อ่านว่า กะ-รัน-ยะ เป็นคำที่แปลงรูปมาจากคำบาลีว่า “กรณีย” (กะ-ระ-นี-ยะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อนีย ปัจจัย, แปลง น เป็น ณ (อนีย > อณีย)
: กรฺ + อนีย = กรนีย > กรณีย แปลตามศัพท์ว่า “ควรทำ” “พึงทำ” “สิ่งอันพึงทำ” หมายถึง กิจที่ควรทำ, สิ่งที่ควรทำ, ข้อผูกพัน, หน้าที่, การงาน (what ought to be done, duty, obligation; affairs, business)
“กรณีย” ลบ อี ที่ –ณี– = กรณย อ่านเรียงพยัญชนะว่า กะ-ระ-นะ-ยะ
“ศัพท์เดียวกันมีพยัญชนะเรียงกันตั้งแต่ 3 ตัว ให้ทำเป็นตัวสะกดเสียตัวหนึ่ง” – (สูตรนี้ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ฟังมาจากท่านพระมหาถวิล (อาจารย์ถวิล เรืองจรูญ) อาจารย์ผู้สอนวิชาไวยากรณ์ตั้งแต่สมัยเริ่มเรียนบาลีเมื่อปี 2506)
ในที่นี้ท่านเอา ณ เป็นตัวสะกด จึงเขียนเป็น “กรณฺย” (มีจุดใต้ ณ) อ่านว่า กะ-รัน-ยะ ใช้ในภาษาไทยเป็น “กรัณย” ต้องการออกเสียงว่า กะ-รัน จึงลงทัณฑฆาตที่ ย เขียนเป็น “กรัณย์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรัณย์ : (คำนาม) กิจ. (คำวิเศษณ์) อันพึงทํา เช่น ราชกรัณย์. (ป. กรณีย).”
ในที่นี้มีคำว่า “สภา” มาสมาสข้างท้าย จึงไม่ลงทัณฑฆาตที่ ย คงเขียนเป็น “กรัณย-” อ่านว่า กะ-รัน-ยะ-
(๓) “สภา”
อ่านว่า สะ-พา รากศัพท์มาจาก –
(1) สนฺต (คนดี) + ภา (ธาตุ = รุ่งเรือง) + กฺวิ ปัจจัย แปลง สนฺต เป็น ส, ลบ กฺวิ
: สนฺต > ส + ภา = สภา + กฺวิ = สภากฺวิ > สภา แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันรุ่งเรืองด้วยคนดี”
(2) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ภาสฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + กฺวิ ปัจจัย, ลบนิคหิตที่ สํ (สํ > ส), ลบ ส ที่สุดธาตุ (ภาสฺ > ภา) และลบ กฺวิ
: สํ > ส + ภาสฺ = สภาสฺ + กฺวิ = สภาสกฺวิ > สภาส > สภา แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มาประชุมกันพูด”
(3) สห (คำอุปสรรค = ร่วมกัน) + ภา (ธาตุ = พูด, กล่าว) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ ห ที่ สห (สห > ส) และลบ กฺวิ
: สห > ส + ภา = สภา + กฺวิ = สภากฺวิ > สภา แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่พูดร่วมกัน”
ตามความหมายเหล่านี้ “สภา” จึงเป็นเครื่องหมายของสังคมประชาธิปไตย คือ คนดีๆ มาปรึกษาหารือกันก่อนแล้วจึงลงมือทำกิจการต่างๆ
“สภา” (อิตถีลิงค์) ทั้งบาลี สันสกฤต และภาษาไทยใช้รูปเดียวกัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“สภา : (คำนาม) องค์การหรือสถานที่ประชุม เช่น สภาผู้แทนราษฎร สภาสตรีแห่งชาติ สภามหาวิทยาลัย วุฒิสภา. (ป., ส.).”
ในภาษาบาลี “สภา” หมายถึง “สถานที่” แต่ในภาษาไทยนอกจากหมายถึงสถานที่แล้ว ยังหมายถึง “องค์การ” (หรือองค์กร) คือศูนย์รวมกลุ่มบุคคลหรือกิจการที่ประกอบกันขึ้นเป็นหน่วยงานอีกด้วย
ในที่นี้ “สภา” หมายถึง “สถานที่” คือพระที่นั่งองค์หนึ่งอันมีชื่อว่า “พระที่นั่งราชกรัณยสภา”
การประสมคำ :
๑ ราช + กรัณย = ราชกรัณย (ราด-ชะ-กะ-รัน-ยะ-) แปลว่า “กิจอันควรทำของพระราชา” (พระราชาควรทำกิจอันใด กิจอันนั้นชื่อว่า “ราชกรัณย” = กิจอันควรทำของพระราชา)
๒ ราชกรัณย + สภา = ราชกรัณยสภา (ราด-ชะ-กะ-รัน-ยะ-สะ-พา) แปลว่า “สภาอันเป็นที่ทำกิจอันควรทำของพระราชา”
“ราชกรัณยสภา” เป็นชื่อพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระบรมมหาราชวัง
เว็บไซ้ต์ http://www.rspg.org/royals/grandpalace/grandpalace10.htm
(อ่านเมื่อ 8 มกราคม 2563 เวลา 20:40) กล่าวถึง “พระที่นั่งราชกรัณยสภา” มีข้อความดังนี้ –
…………..
พระที่นั่งราชกรัณยสภา
พระที่นั่งราชกรัณยสภานี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นที่ประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งแรกในรัตนโกสินทรศก 116 ตรงกับพุทธศักราช 2440 ได้มีพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกแห่งประเทศสยาม สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ต่อมาเฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประชุมที่ปรึกษาสำเร็จราชการแผ่นดิน ณ พระที่นั่งองค์นี้
ในรัชกาลปัจจุบัน (หมายถึงในรัชกาลที่ 9-ผู้เขียนบาลีวันละคำ) ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวช เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม จนถึงทรงลาสิกขาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2499 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประชุมหารือข้อราชการกับองคมนตรี ณ พระที่นั่งราชกรัณยสภาเช่นเดียวกัน ครั้นถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตามราชประเพณีเมื่อได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
…………..
ดูก่อนภราดา!
บ้านเมืองที่เจริญแล้ว —
: ใช้สภาเป็นที่ปรึกษางานของแผ่นดิน
: ไม่ใช่เป็นที่ทำมาหากินส่วนตัว
#บาลีวันละคำ (2,766)
8-1-63