อัปสร – อัจฉรา (บาลีวันละคำ 1,694)
อัปสร – อัจฉรา
“อัปสร” อ่านว่า อับสอน รูปคำสันสกฤตเป็น “อปฺสรา” และ “อปฺสรสฺ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อปฺสรสฺ” และ “อปฺสรา” บอกไว้ดังนี้ –
(1) อปฺสรสฺ : (คำนาม) (พหูพจน์) เทพบริวารของพระอินทร์; นางสวรรค์; the attendants of Indra, the nymphs of Swarga.
(2) อปฺสรา : (คำนาม) นางอัปสร; a heavenly nymph.
“อปฺสรสฺ” (พหูพจน์) และ “อปฺสรา” (เอกพจน์) ในสันสกฤต ภาษาไทยใช้เป็น “อัปสร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัปสร : (คำนาม) นางฟ้า. (ส. อปฺสรสฺ; ป. อจฺฉรา).”
สันสกฤต “อปฺสรา” (“อปฺสรสฺ”) บาลีเป็น “อจฺฉรา” (อัด-ฉะ-รา) รากศัพท์มาจาก –
(1) อจฺฉ (ผ่องใส) + ร ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตฺถีลิงค์
: อจฺฉ + ร = อจฺฉร + อา = อจฺฉรา แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้มีผิวพรรณผ่องใส” (2) “ผู้มีใบหน้าผ่องใส”
(2) อสฺ (ธาตุ = ขว้าง, ทิ้ง) + ฉร ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตฺถีลิงค์, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (อสฺ > อ), ซ้อน จฺ
: อสฺ > อ + จฺ + ฉร = อจฺฉร + อา = อจฺฉรา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ขว้างทิ้ง” (คือ ผู้โปรยปรายดอกไม้, ผู้ร่ายรำ, ผู้กรีดกรายนิ้วมือ)
“อจฺฉรา” ในบาลีหมายถึง –
(1) นิ้วมือ (a finger)
(2) จำนวนมากเท่าที่คนสามารถจะถือไปได้ด้วยหยิบมือ, จำนวนนิดเดียว (as much as one may hold with the finger-tips, a pinch)
(3) ชั่วดีดนิ้วมือ, ชั่วประเดี๋ยวเดียว (a finger’s snap, a short moment)
(4) นางอัปสร, นางฟ้า (a celestial nymph)
ในภาษาไทย นอกจากใช้อิงสันสกฤตเป็น “อัปสร” แล้ว ยังใช้ตามรูปบาลีเป็น “อัจฉรา” (อัด-ฉะ-รา) ด้วย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อัจฉรา ๑ : (คำนาม) นางฟ้า. (ป.; ส. อปฺสรสฺ).
(2) อัจฉรา ๒ : (คำนาม) นิ้วมือ; ลัดนิ้วมือหนึ่ง, เวลาประเดี๋ยวเดียว, ชั่วพริบตา. (ป.).
…………..
อภิปราย
“อัปสร” อ่านอย่างไร?
พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านว่า อับ-สอน
แต่เท่าที่สังเกตมา คนส่วนมากอ่านคำนี้ว่า อับ-ปะ-สอน
คงจะมีอาการเดียวกับ “สัปดาห์”
คำว่า “สัปดาห์” แรกทีเดียวพจนานุกรมฯ บอกคำอ่านว่า สับ-ดา แต่คนมักอ่านกันว่า สับ-ปะ-ดา จนในที่สุดพจนานุกรมฯ ต้องยอมแพ้ บอกว่าอ่าน สับ-ดา ก็ได้ สับ-ปะ-ดา ก็ได้
คำว่า “อัปสร” นี้ คาดว่าต่อไปพจนานุกรมฯ คงต้องแก้ไขอีก คือบอกว่าอ่าน อับ-สอน ก็ได้ อับ-ปะ-สอน ก็ได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: นางฟ้าที่ไม่รู้จักอิ่มทิพย์
: ดังฤๅจะงามลิบกว่านางดินที่รู้จักอิ่มธรรม
————-
(ตามคำรบกวนของ Chakkris Uthayophas)
23-1-60