พระราชวิญญาภรณ์ (บาลีวันละคำ 943)
พระราชวิญญาภรณ์
ตัวอย่างคำที่เกิดจากความรู้ผิด
คำนี้เป็นนามสมณศักดิ์ มีผู้เขียนแบบนี้และอธิบายความหมายไว้ด้วย
ความหมายที่อธิบายเป็นทำนองดังนี้:
“พระราชวิญญาภรณ์” ประกอบด้วย พระราช + วิญญา + อาภรณ์
“พระราช” เป็นคำขึ้นต้นสมณศักดิ์พระราชาคณะ สูงกว่าชั้นสามัญตํ่ากว่าชั้นเทพ เรียกว่า “ชั้นราช” เช่น พระราชสุธี พระราชโมลี
“วิญญา” เป็นคำที่ตัดมาจาก “วิญญาณ” หมายถึง ความรับรู้, จิตใจ, ความรู้แจ้ง
“อาภรณ์” แปลว่า เครื่องประดับ, บางทีก็ใช้เป็นส่วนท้ายของคําสมาส เช่น พัสตราภรณ์ = เครื่องประดับคือเสื้อผ้า สิราภรณ์ = เครื่องประดับศีรษะ คชาภรณ์ = เครื่องประดับช้าง พิมพาภรณ์ = เครื่องประดับร่างกาย ในคําว่า ถนิมพิมพาภรณ์ ธรรมาภรณ์ = มีธรรมะเป็นเครื่องประดับ
พระราช + วิญญา + อาภรณ์ = พระราชวิญญาภรณ์ จึงมีความหมายว่า พระราชาคณะชั้นราชผู้มีความรู้เป็นเครื่องประดับ
……….
จะเห็นได้ว่าเป็นคำอธิบายที่ราบรื่น น่าฟัง และน่าเชื่อทุกประการ
แต่โปรดทราบว่า ชื่อ “พระราชวิญญาภรณ์” นี้ไม่มีในทำเนียบสมณศักดิ์
ทำเนียบสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นราช มีชื่อ “พระราชวินยาภรณ์”
คำว่า “พระราชวินยาภรณ์”ประกอบด้วย พระราช + วินย + อาภรณ์
“วินย” (วิ-นะ-ยะ) คำเดียวกับที่เราใช้ว่า “วินัย” รากศัพท์คือ วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นี (ธาตุ = นำไป) + อ ปัจจัย, แปลง อี (ที่ นี-ธาตุ) เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย
: วิ + นี > เน > นย = วินย + อ = วินย แปลตามศัพท์ว่า “นำไปอย่างวิเศษ” = ฝึก, อบรม, กำจัด
ฝึก– ให้ทำความดีเป็น
อบรม– ให้นิสัยดีติดตัว
กำจัด– นิสัยที่ไม่ดีออกไป
“อาภรณ์” บาลีเป็น “อาภรณ” (อา-พะ-ระ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลทรงไว้” หรือ “สิ่งอันบุคคลประดับไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาภรณ” ตามศัพท์ว่า “that which is taken up or put on” (สิ่งที่ถูกหยิบขึ้นมาหรือสวมใส่)
“อาภรณ–อาภรณ์” หมายถึง การประดับ, เครื่องประดับ, เครื่องเพชรพลอย (ornament, decoration, trinkets)
วินย + อาภรณ = วินยาภรณ > วินยาภรณ์ แปลว่า “เครื่องประดับคือวินัย”
เมื่อใช้เป็นนามสมณศักดิ์ว่า “พระราชวินยาภรณ์” จึงมีความหมายว่า “พระราชาคณะชั้นราชผู้มีเครื่องประดับคือวินัย” หรือ “—ผู้มีวินัยเป็นเครื่องประดับ”
“พระราชวินยาภรณ์” อ่านว่า พฺระ-ราด-ชะ-วิ-นะ-ยา-พอน
ผู้ที่ไม่รู้คำเดิม มาเห็นคำว่า-วินยา– ก็อ่านไปทื่อๆ ว่า วิน-ยา
“พระราชวินยาภรณ์” จึงเป็น พฺระ-ราด-ชะ-วิน-ยา-พอน
ฝ่ายผู้ฟัง ได้ยินเสียง -วิน-ยา- จิตก็คิดไปถึงคำที่คุ้นตาและเสียงก็คล้ายกัน นั่นคือคำว่า “วิญญาณ”
“วิญญาณ” ใช้เป็น “วิญญาณ์” การันต์ที่ ณ์ อ่านว่า วิน-ยา ก็มี เข้ากันได้เป็นอย่างดี
เมื่อจะเขียนคำนี้ “-วินยา-” นึกไปไม่ถึงว่ามาจากคำอะไร แต่ “วิญญาณ์” คุ้นหูคุ้นตากว่า ก็จึงเขียนเป็น “พระราชวิญญาภรณ์” ตามคำที่อ่านผิด
พระราชวินยาภรณ์ > พฺระ-ราด-ชะ-วิน-ยา-พอน > พระราชวิญญาภรณ์
กลายเป็นคนละคำคนละชื่อไป
ต่อจากนี้ก็มีผู้เข้ามาอธิบายความหมายของ “–วิญญาภรณ์” ดังที่แสดงไว้ข้างต้น
คือแทนที่จะแก้ผิดให้ถูก ก็กลายเป็นอธิบายผิดให้เป็นถูกไปเสีย
คำที่ “ผิดจนถูก” เป็นอันมากในภาษาไทยมักจะมีที่มาทำนองเดียวกันนี้
ขอย้ำว่า ชื่อ “พระราชวิญญาภรณ์” นี้เป็นคำที่เขียนผิด ไม่มีในทำเนียบสมณศักดิ์
ชื่อที่ถูกต้องคือ “พระราชวินยาภรณ์”
อ่านว่า พฺระ-ราด-ชะ-วิ-นะ-ยา-พอน
ไม่ใช่ พฺระ-ราด-ชะ-วิน-ยา-พอน
ดีหรือไม่ดี:
รู้-ดีกว่าไม่รู้
ไม่รู้-ดีกว่ารู้ผิด
รู้ผิดเฉย ๆ-ดีกว่าอธิบายผิดให้เป็นถูก
อธิบายผิดให้เป็นถูก-ไม่ดีกว่าอะไรเลย
#บาลีวันละคำ (943)
17-12-57
พระราชวิญญาภรณ์
ตัวอย่างคำที่เกิดจากความรู้ผิด
คำนี้เป็นนามสมณศักดิ์ มีผู้เขียนแบบนี้และอธิบายความหมายไว้ด้วย
ความหมายที่อธิบายเป็นทำนองดังนี้:
“พระราชวิญญาภรณ์” ประกอบด้วย พระราช + วิญญา + อาภรณ์
“พระราช” เป็นคำขึ้นต้นสมณศักดิ์พระราชาคณะ สูงกว่าชั้นสามัญตํ่ากว่าชั้นเทพ เรียกว่า “ชั้นราช” เช่น พระราชสุธี พระราชโมลี
“วิญญา” เป็นคำที่ตัดมาจาก “วิญญาณ” หมายถึง ความรับรู้, จิตใจ, ความรู้แจ้ง
“อาภรณ์” แปลว่า เครื่องประดับ, บางทีก็ใช้เป็นส่วนท้ายของคําสมาส เช่น พัสตราภรณ์ = เครื่องประดับคือเสื้อผ้า สิราภรณ์ = เครื่องประดับศีรษะ คชาภรณ์ = เครื่องประดับช้าง พิมพาภรณ์ = เครื่องประดับร่างกาย ในคําว่า ถนิมพิมพาภรณ์ ธรรมาภรณ์ = มีธรรมะเป็นเครื่องประดับ
พระราช + วิญญา + อาภรณ์ = พระราชวิญญาภรณ์ จึงมีความหมายว่า พระราชาคณะชั้นราชผู้มีความรู้เป็นเครื่องประดับ
……….
จะเห็นได้ว่าเป็นคำอธิบายที่ราบรื่น น่าฟัง และน่าเชื่อทุกประการ
แต่โปรดทราบว่า ชื่อ “พระราชวิญญาภรณ์” นี้ไม่มีในทำเนียบสมณศักดิ์
ทำเนียบสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นราช มีชื่อ “พระราชวินยาภรณ์”
คำว่า “พระราชวินยาภรณ์”ประกอบด้วย พระราช + วินย + อาภรณ์
“วินย” (วิ-นะ-ยะ) คำเดียวกับที่เราใช้ว่า “วินัย” รากศัพท์คือ วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นี (ธาตุ = นำไป) + อ ปัจจัย, แปลง อี (ที่ นี-ธาตุ) เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย
: วิ + นี > เน > นย = วินย + อ = วินย แปลตามศัพท์ว่า “นำไปอย่างวิเศษ” = ฝึก, อบรม, กำจัด
ฝึก– ให้ทำความดีเป็น
อบรม– ให้นิสัยดีติดตัว
กำจัด– นิสัยที่ไม่ดีออกไป
“อาภรณ์” บาลีเป็น “อาภรณ” (อา-พะ-ระ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลทรงไว้” หรือ “สิ่งอันบุคคลประดับไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาภรณ” ตามศัพท์ว่า “that which is taken up or put on” (สิ่งที่ถูกหยิบขึ้นมาหรือสวมใส่)
“อาภรณ–อาภรณ์” หมายถึง การประดับ, เครื่องประดับ, เครื่องเพชรพลอย (ornament, decoration, trinkets)
วินย + อาภรณ = วินยาภรณ > วินยาภรณ์ แปลว่า “เครื่องประดับคือวินัย”
เมื่อใช้เป็นนามสมณศักดิ์ว่า “พระราชวินยาภรณ์” จึงมีความหมายว่า “พระราชาคณะชั้นราชผู้มีเครื่องประดับคือวินัย” หรือ “—ผู้มีวินัยเป็นเครื่องประดับ”
“พระราชวินยาภรณ์” อ่านว่า พฺระ-ราด-ชะ-วิ-นะ-ยา-พอน
ผู้ที่ไม่รู้คำเดิม มาเห็นคำว่า-วินยา– ก็อ่านไปทื่อๆ ว่า วิน-ยา
“พระราชวินยาภรณ์” จึงเป็น พฺระ-ราด-ชะ-วิน-ยา-พอน
ฝ่ายผู้ฟัง ได้ยินเสียง -วิน-ยา- จิตก็คิดไปถึงคำที่คุ้นตาและเสียงก็คล้ายกัน นั่นคือคำว่า “วิญญาณ”
“วิญญาณ” ใช้เป็น “วิญญาณ์” การันต์ที่ ณ์ อ่านว่า วิน-ยา ก็มี เข้ากันได้เป็นอย่างดี
เมื่อจะเขียนคำนี้ “-วินยา-” นึกไปไม่ถึงว่ามาจากคำอะไร แต่ “วิญญาณ์” คุ้นหูคุ้นตากว่า ก็จึงเขียนเป็น “พระราชวิญญาภรณ์” ตามคำที่อ่านผิด
พระราชวินยาภรณ์ > พฺระ-ราด-ชะ-วิน-ยา-พอน > พระราชวิญญาภรณ์
กลายเป็นคนละคำคนละชื่อไป
ต่อจากนี้ก็มีผู้เข้ามาอธิบายความหมายของ “–วิญญาภรณ์” ดังที่แสดงไว้ข้างต้น
คือแทนที่จะแก้ผิดให้ถูก ก็กลายเป็นอธิบายผิดให้เป็นถูกไปเสีย
คำที่ “ผิดจนถูก” เป็นอันมากในภาษาไทยมักจะมีที่มาทำนองเดียวกันนี้
ขอย้ำว่า ชื่อ “พระราชวิญญาภรณ์” นี้เป็นคำที่เขียนผิด ไม่มีในทำเนียบสมณศักดิ์
ชื่อที่ถูกต้องคือ “พระราชวินยาภรณ์”
อ่านว่า พฺระ-ราด-ชะ-วิ-นะ-ยา-พอน
ไม่ใช่ พฺระ-ราด-ชะ-วิน-ยา-พอน
ดีหรือไม่ดี:
รู้-ดีกว่าไม่รู้
ไม่รู้-ดีกว่ารู้ผิด
รู้ผิดเฉย ๆ-ดีกว่าอธิบายผิดให้เป็นถูก
อธิบายผิดให้เป็นถูก-ไม่ดีกว่าอะไรเลย
#บาลีวันละคำ (943)
17-12-57