บาลีวันละคำ

วินยาธิการ [2] (บาลีวันละคำ 944)

วินยาธิการ [2]

ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ วินย + อธิการ = วินยาธิการ

อ่านว่า วิ-นะ-ยา-ทิ-กาน

ไม่ใช่ วิน-ยา-ทิ-กาน

(๑) “วินย” (วิ-นะ-ยะ)

คำเดียวกับที่เราใช้ว่า “วินัย” รากศัพท์คือ วิ (วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นี (ธาตุ = นำไป) แปลง นี > เน > นย

: วิ + นย = วินย แปลตามศัพท์ว่า “นำไปอย่างวิเศษ” มีความหมายดังนี้:

(1) การขับออก, การเลิก, การทำลาย, การกำจัดออก (driving out, abolishing, destruction, removal)

(2) วินัย, จรรยา, ศีลธรรม, ความประพฤติที่ดี (norm of conduct, ethics, morality, good behavior)

(3) ประมวลจรรรยา, วินัยสงฆ์, กฎ, จรรยาบรรณหรือพระวินัย (code of ethics, monastic discipline, rule, rules of morality or of canon law)

ความหมายโดยสรุปตามที่เข้าใจกัน “วินยวินัย” ก็คือ กฎ, ระเบียบแบบแผน, ข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ

(๒) “อธิการ

ภาษาไทยอ่านว่า อะ-ทิ-กาน บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-กา-ระ รากศัพท์มาจาก อธิ (ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง กร > การ

: อธิ + กรฺ = อธิกร + = อธิกร > อธิการ แปลตามศัพท์ว่า “ทำอย่างยิ่งใหญ่

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อธิการ” ว่า attendance, service, administration, supervision, management, help (การเอาใจใส่หรือติดตาม, การให้บริการ, การบริหาร, การดูแลควบคุม, การจัดการ, การช่วยเหลือ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อธิการ : (คำนาม) เรียกพระที่ดํารงตําแหน่งเจ้าอาวาสซึ่งไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่นว่า พระอธิการ, เรียกพระที่ดํารงตําแหน่งพระอุปัชฌาย์หรือเจ้าคณะตําบล ซึ่งไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่นว่า เจ้าอธิการ; ตําแหน่งสูงสุดของผู้บริหารในวิทยาลัย. (ป., ส.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แสดงความหมายของคำว่า “อธิการ” ไว้ดังนี้:

(1) อธิการ : “ตัวการ”, ตัวทำการ, เจ้าการ, เจ้ากรณี, เจ้าของเรื่อง, เรื่องหรือกรณีที่กำลังพิจารณา, เรื่องที่เกี่ยวข้อง, เรื่องที่เป็นข้อสำคัญ หรือที่เป็นข้อพิจารณา

(2) อธิการ : “การอันยิ่ง” คือ –

(ก) การทำความดีที่ยิ่งใหญ่หรืออย่างพิเศษ, บุญหรือคุณความดีสำคัญที่ได้บำเพ็ญมา, ความประพฤติปฏิบัติที่เคยประกอบไว้ หรือการอันได้บำเพ็ญมาแต่กาลก่อน หรือที่ได้สั่งสมตระเตรียมเป็นทุนไว้

(ข) การอันสำคัญหรือที่ทำอย่างจริงจัง อันเป็นการแสดงความเคารพรักนับถือหรือเกื้อกูลตลอดจนโปรดปราน เช่น การบูชา การช่วยเหลือที่สำคัญ การทำความดีความชอบ การให้รางวัล

(3) อธิการ :  อำนาจ, ตำแหน่ง, หน้าที่, กิจการ, ภาระ

อธิการ” ตามความหมายเฉพาะในที่นี้คือ เจ้าหน้าที่, ผู้ได้รับมอบหมายหรือแต่งตั้งให้มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องราวหรือกิจการนั้นๆ

วินย + อธิการ = วินยาธิการ หมายถึง พระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่รับผิดชอบในกรณีที่มีภิกษุสามเณรละเมิดวินัย หรือประพฤติมิชอบปรากฏต่อสาธารณะ

พระวินยาธิการ” มีผู้เรียกเป็นภาษาปาก แต่เป็นที่เข้าใจกันดีว่า “ตำรวจพระ

คำว่า “พระวินยาธิการ” มักมีผู้อ่านผิดเป็น พฺระ-วิน-ยา-ทิ-กาน ทั้งนี้เพราะไม่เข้าใจรากศัพท์หรือคำเดิมนั่นเอง

ข้อเสนอ :

ถ้าปรับแก้ชื่อนี้เป็น “พระวินัยอธิการ” อ่านว่า พฺระ-วิ-ไน-อะ-ทิ-กาน คำและความหมายยังคงเดิม เสียงก็ยังใกล้เคียงกับคำเดิม แต่จะแก้ปัญหาการอ่านผิดได้เป็นอย่างดี

: คนที่เหยียบย่ำระเบียบวินัยใช่ใหญ่แท้

: เพราะยังแพ้ความชั่วในตัวเอง

——————-

(ตามความประสงค์ของ Nha Chandransu และพระคุณ Burapa Anan)

#บาลีวันละคำ (944)

18-12-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *