ความหมายในคำบูชากรมหลวงชุมพรฯ (บาลีวันละคำ 945)
ความหมายในคำบูชากรมหลวงชุมพรฯ
————
ในโอกาสวันประสูติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
“องค์บิดาของทหารเรือไทย”
19 ธันวาคม พ.ศ. 2423
————-
คำบูชากรมหลวงชุมพรฯ หรือเรียกตามถนัดปากของคนทั่วไปว่า “เสด็จเตี่ย” เท่าที่ยุติแล้วมีว่าดังนี้:
โอม ชุมพร จุติ อิทธิกะระณัง สุโข นะโม พุทธายะ
นะมะพะธะ จะภะกะสะ มะอะอุ พุธะสังมิ
————-
แต่ละคำมีความหมายดังนี้ :
(1) โอม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โอม : คำที่ประกอบด้วยเสียง ๓ เสียง คือ อ อุ ม [อ่านว่า อะ อุ มะ] รวมกัน ข้างฝ่ายฮินดูหมายถึง พระเจ้าทั้ง ๓ คือ อ = พระศิวะ อุ = พระวิษณุ ม = พระพรหม; ข้างพระพุทธศาสนาเลียนเอามาใช้หมายถึง พระรัตนตรัย คือ อ = อรหํ (พระพุทธเจ้า) อุ = อุตฺตมธมฺม (พระธรรมอันสูงสุด) ม = มหาสงฺฆ (พระสงฆ์) นับถือเป็นคําศักดิ์สิทธิ์, เป็นคำขึ้นต้นของการกล่าวมนตร์.ก. กล่าวคําขึ้นต้นของมนตร์. (ส.).”
(2) ชุมพร
มาจากพระนามกรมของพระองค์ท่าน คือ “กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์”
(บ้านเมืองเรามีธรรมเนียมนำชื่อเมืองมาเป็นพระนามของเจ้านายเมื่อทรงกรม
“ชุมพร” เป็นชื่อเมืองทางปักษ์ใต้ เมื่อนำชื่อเมืองนี้มาเป็นพระนามกรมของพระองค์ท่าน คนทั้งหลายจึงรู้จักพระองค์ท่านในนาม “ชุมพร” ไปด้วย)
(3) จุติ
แปลตามศัพท์ว่า “เคลื่อน” หมายถึงเปลี่ยนสภาพจากกำเนิดหนึ่งไปเป็นอีกกำเนิดหนึ่ง, (มักใช้แก่เทวดา).
(4) อิทธิกะระณัง
“อิทธิ” แปลว่า ความสำเร็จ หรือฤทธิ์
“กะระณัง” แปลว่า การกระทำ
ความมุ่งหมายน่าจะเป็นว่า กระทำความสำเร็จ หรือกระทำฤทธิ์ หรือแสดงฤทธิ์ มีฤทธิ์ หมายความอำนวยผลทำให้เกิดความสำเร็จ
(5) สุโข
แปลว่า ความสุข, เป็นสุข, เป็นเหตุแห่งความสุข, นำมาซึ่งความสุข
(6) นะโม พุทธายะ
“นะโม” แปลว่า ความนอบน้อม
“พุทธายะ” แปลว่า แด่พระพุทธองค์
นักเล่นคาถาอาคมเรียกคำนี้ว่า “หัวใจพระเจ้าห้าพระองค์” นับถือว่ามีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ ภาวนาไว้เสมอจะไม่มีอันตรายมากล้ำกลาย
“พระเจ้าห้าพระองค์” คือพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ในภัทรกัปนี้มี 5 พระองค์ –
นะ = พระกกุสันธะ (ศาสนาสูญหมดแล้ว)
โม = พระโกนาคมนะ (โกนาคะมะนะ) (ศาสนาสูญหมดแล้ว)
พุท = พระกัสสปะ (ศาสนาสูญหมดแล้ว)
ธา = พระโคดม (ศาสนายังดำรงอยู่)
ยะ = พระศรีอริยเมตไตรย (จะมาตรัสรู้ในอนาคต)
(7) นะมะพะธะ
คำนี้ตามที่เขียนกันทั่วไป “ธะ” (ธ ธง) เป็น “ทะ” (ท ทหาร) แต่เท่าที่สอบถามผู้รู้แล้ว ได้คำตอบว่า เป็นคำที่ย่อมาจาก “นะโม พุทธายะ” คือ:
นะ มาจาก นะ
มะ มาจาก โม
พะ มาจาก พุท
ธะ มาจาก ธายะ
(8) จะภะกะสะ
เป็นคำที่ตัดมาจากพยางค์แรกในคาถา 4 วรรค โบราณเรียกว่า “คาถากาสลัก”
คำเต็มและความหมายมีดังนี้:
จ–จช ทุชฺชนสงฺสคฺคํ (จะชะ ทุชชะนะสังสัคคัง)
= ละเว้นการสมคบกับคนชั่วช้า
ภ–ภช สาธุสมาคมํ ( ภะชะ สาธุสะมาคะมัง)
= คบหาสมาคมกับคนดี
ก–กร ปุญฺญมโหรตฺตํ (กะระ ปุญญะมะโหรัตตัง)
= ทำบุญทวีทุกคืนวันสถาวร
ส–สร นิจฺจมนิจฺจตํ (สะระ นิจจะมะนิจจะตัง)
= ระลึกถึงความไม่แน่นอนไว้เป็นนิตยกาล
ข้อสังเกต :
คาถานี้ตามที่เห็นทั่วไป “ภะ” (ภ สำเภา) มักจะเขียนผิดเป็น “พะ” (พ พาน)
(9) มะอะอุ
หมายถึง พระรัตนตรัย กล่าวคือ:
มะ = มะหาสังฆะ แปลว่า “พระสงฆ์หมู่ใหญ่” = พระสงฆ์
อะ = อะระหัง แปลว่า “พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า” = พระพุทธ
อุ = อุตตะมะธัมมะ แปลว่า “พระธรรมอันสูงสุด” = พระธรรม
มะ อะ อุ นี้ ถ้าเรียงตามลำดับพระรัตนตรัย ก็ควรเป็น อะ อุ มะ เป็นคำที่มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “โอม” นั่นเอง
(10) พุธะสังมิ
(บางทีสะกดเป็น “พุทธะสังมิ” คือ “พุ” เป็น “พุท”)
คำนี้เป็น “หัวใจไตรสรณคมน์” กล่าวคือ:
พุ (พุท) ย่อมาจาก พุทธัง
ธะ ย่อมาจาก ธัมมัง
สัง ย่อมาจาก สังฆัง
มิ ย่อมาจาก คัจฉามิ
คำเต็มๆ –
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
แปลว่า “ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง”
————
สรุปความหมาย:
โอม = ขอนมัสการพระรัตนตรัย
ชุมพร = พระนามกรม “กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์”
จุติ = เคลื่อนจากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง, ล่วงลับดับขันธ์
อิทธิกะระณัง = ทำให้เกิดความสำเร็จ
สุโข = เป็นความสุข
นะโม พุทธายะ = ขอนอบน้อมพระพุทธองค์
นะมะพะธะ = ขอนอบน้อมพระพุทธองค์
จะภะกะสะ = ละเว้นคนชั่ว, คบคนดี, ทำความดีทุกวันคืน, ระลึกถึงความไม่แน่นอนไว้
มะอะอุ = ขอนมัสการพระรัตนตรัย
พุธะสังมิ = ขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก
————
คำแปลข้างต้น เมื่อจะถือเอาความหมายรวมๆ ก็น่าจะได้ดังข้อความต่อไปนี้:
ข้าพระพุทธเจ้าขอนมัสการพระรัตนตรัย ขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก กับขอน้อมไหว้บูชา พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย แม้สิ้นพระชนม์แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอบูชาด้วยการปฏิบัติตนนอบน้อมพระพุทธองค์ ดำเนินชีวิตด้วยการไม่คบคนพาล สังสรรค์บัณฑิต ทำดีเป็นนิตย์ คิดถึงอนิจจัง ตลอดไป ขอพระองค์โปรดประทานความสำเร็จ ความสุขสมหวัง แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเทอญ
————-
หมายเหตุ:
(1) คำบูชานี้ตรวจสอบแล้วตามที่ปรากฏในที่ทั่วไป มิได้แปลว่าถ้าเป็นอย่างอื่นถือว่าผิด เพียงแต่ว่าถ้ามีคำเหล่านี้ก็จะมีความหมายดังที่แสดงไว้นี้
(2) มิได้พิจารณาในประเด็นที่ว่าคำเช่นนี้ๆ เป็นคำบูชากรมหลวงชุมพรฯ จริงหรือ หรือว่าคำบูชาที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร หรือแม้แต่ว่าควรมีคำบูชาหรือไม่
(3) อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง “คำบูชาเสด็จในกรม” โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย : นาวิกศาสตร์ ประจำเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๗
————–
: รู้ว่าดีแล้วปฏิบัติ
: ได้ผลชะงัดยิ่งกว่าท่องคำบูชา
#บาลีวันละคำ (945)
19-12-57