หีนยาน (บาลีวันละคำ 946)
หีนยาน
ภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกคำอ่านไว้ว่า
หี-นะ-ยาน, หีน-นะ-ยาน, ฮี-นะ-ยาน
บาลีอ่านว่า ฮี-นะ-ยา-นะ
ประกอบด้วย หีน + ยาน
(๑) “หีน” รากศัพท์มาจาก –
(1) หา (ธาตุ = ละ, ทิ้ง, ไป) + อิน ปัจจัย, ลบ อา ที่ หา, ยืดเสียง อิ ที่ อิน เป็น อี (สูตรไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง”)
: หา > ห + อิน > อีน = หีน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ละความเป็นผู้สูงสุด” “ผู้ถึงความเป็นคนเลว”
(2) หิ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อิน ปัจจัย, ใช้สูตร “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง”
: หิ > ห + อิน > อีน = หีน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน”
หีน ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เลว, ต่ำ; ต่ำต้อย, น่าสงสาร; น่าสมเพช, แย่, ชั่วร้าย, เป็นที่ดูหมิ่นดูแคลน (inferior, low; poor, miserable; vile, base, abject, contemptible, despicable)
(๒) “ยาน” รากศัพท์มาจาก ยา (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน
: ยา + ยุ > อน = ยาน แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องไปสู่ที่ปรารถนา” หรือ “สิ่งสำหรับทำให้เคลื่อนไป” หมายถึง (1) การไป, การดำเนินไป (going, proceeding) (2) ยาน, พาหนะ (carriage, vehicle)
หีน + ยาน = หีนยาน แปลตามศัพท์ว่า “ยานเลว” “ยานที่ด้อย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หีนยาน : ชื่อนิกายพระพุทธศาสนาฝ่ายใต้ที่ถือกันในลังกา พม่า และไทยเป็นต้น, หินยาน หรือ เถรวาท ก็ว่า.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “หีนยาน” ไว้ว่า
หีนยาน แปลว่า “ยานเลว”, “ยานที่ด้อย” (คำเดิมในภาษาบาลีและสันสกฤต เป็น ‘หีนยาน’, ในภาษาไทย นิยมเขียน ‘หินยาน’), เป็นคำที่นิกายพุทธศาสนาซึ่งเกิดภายหลัง เมื่อประมาณ พ.ศ.500–600 คิดขึ้น โดยเรียกตนเองว่า “มหายาน” (ยานพาหนะใหญ่มีคุณภาพดีที่จะช่วยขนพาสัตว์ออกไปจากสังสารวัฏได้มากมายและอย่างได้ผลดี) แล้วเรียกพระพุทธศาสนาแบบอื่นที่มีอยู่ก่อนรวมกันไปว่า “หินยาน” (ยานพาหนะต่ำต้อยด้อยคุณภาพที่ขนพาสัตว์ออกไปจากสังสารวัฏได้น้อยและด้อยผล), พุทธศาสนาแบบเถรวาท (อย่างที่บัดนี้นับถือกันอยู่ในไทย พม่า ลังกา เป็นต้น) ก็ถูกเรียกรวมไว้ในชื่อว่าเป็นนิกายหินยานด้วย
ปัจจุบัน พุทธศาสนาหินยานที่เป็นนิกายย่อยๆ ทั้งหลายได้สูญสิ้นไปหมด (ตัวอย่างนิกายย่อยหนึ่งของหินยาน ที่เคยเด่นในอดีตบางสมัย คือ สรวาสติวาท หรือเรียกแบบบาลีว่า สัพพัตถิกวาท แต่ก็สูญไปนานแล้ว) เหลือแต่เถรวาทอย่างเดียว เมื่อพูดถึงหินยานจึงหมายถึงเถรวาท จนคนทั่วไปมักเข้าใจว่าหินยานกับเถรวาทมีความหมายเป็นอันเดียวกัน บางทีจึงถือว่าหินยานกับเถรวาทเป็นคำที่ใช้แทนกันได้ แต่เมื่อคนรู้เข้าใจเรื่องราวดีขึ้น บัดนี้จึงนิยมเรียกว่า เถรวาท ไม่เรียกว่า หินยาน
เนื่องจากคำว่า “มหายาน” และ “หินยาน” เกิดขึ้นในยุคที่พุทธศาสนาแบบเดิมเลือนลางไปจากชมพูทวีป หลังพุทธกาลนานถึง 5-6 ศตวรรษ คำทั้งสองนี้จึงไม่มีในคัมภีร์บาลีแม้แต่รุ่นหลังในชั้นฎีกาและอนุฎีกา, ปัจจุบัน ขณะที่นิกายย่อยของหินยานหมดไป เหลือเพียงเถรวาทอย่างเดียว แต่มหายานกลับแตกแยกเป็นนิกายย่อยเพิ่มขึ้นมากมาย บางนิกายย่อยถึงกับไม่ยอมรับที่ได้ถูกจัดเป็นมหายาน แต่ถือตนว่าเป็นนิกายใหญ่อีกนิกายหนึ่งต่างหาก คือ พุทธศาสนาแบบทิเบต ซึ่งเรียกตนว่าเป็น “วัชรยาน” และถือตนว่าประเสริฐเลิศกว่ามหายาน
ถ้ายอมรับคำว่ามหายานและหินยาน แล้วเทียบจำนวนรวมของศาสนิก ตามตัวเลขในปี 2548 ว่า มีพุทธศาสนิกชนทั่วโลก 378 ล้านคน แบ่งเป็นมหายาน 56% เป็นหินยาน 38% (วัชรยานนับต่างหากจากมหายานเป็น 6%) แต่ถ้าเทียบระหว่างประดานิกายย่อยของสองยานนั้น (ไม่นับประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีตัวเลขไม่ชัด) ปรากฏว่า เถรวาทเป็นนิกายที่ใหญ่มีผู้นับถือมากที่สุด; บางทีเรียกมหายานว่า อุตรนิกาย เพราะมีศาสนิกส่วนใหญ่อยู่ในแถบเหนือของทวีปเอเชีย และเรียกหินยานว่า ทักษิณนิกาย เพราะมีศาสนิกส่วนใหญ่อยู่ในแถบใต้ของทวีปเอเชีย.
…………
คนฉลาด : รับคำชมด้วยสติ รับคำตำหนิด้วยปัญญา
———–
(ตามคำขอของ Apichart Sst)
#บาลีวันละคำ (946)
20-12-57