“จองทับ” : วิถีแห่งนักเลงบุญ
“จองทับ” : วิถีแห่งนักเลงบุญ
—————————
ในกระบวนบุญกฐินของคนเก่า มีเรื่องหนึ่งที่คนรุ่นใหม่น่าจะไม่รู้จักเสียแล้ว นั่นก็คือ “จองทับ”
จะเข้าใจเรื่องนี้ ต้องถอยไปตั้งหลักกันที่เงื่อนไขกฎเกณฑ์การรับกฐินของสงฆ์
เงื่อนไขหลักๆ ก็คือ
มีพระจำพรรษาอย่างน้อย ๕ รูป
มีเจ้าภาพได้เพียงรายเดียว
ใช้ผ้าผืนเดียว
สงฆ์รับผ้าผืนแรกจากเจ้าภาพรายไหนแล้วก็จบแค่นั้น
อีก ๑๐ ไตร ๑๐๐ ไตรที่เรียงหน้ากันเข้าไปถวายโดยเข้าใจว่า “ไตรของฉันก็เป็นกฐิน” นั้น ไม่ใช่กฐินแล้วขอรับ ช่วยกันเข้าใจให้ถูกด้วย
กฐินคือเจ้าภาพรายเดียว ผ้าผืนเดียว จบ
เพราะเงื่อนไขทางพระวินัยเป็นอย่างนี้ ใครจะทอดกฐินจึงต้องจองก่อน
ทำบุญสารพัดวิธีไม่ต้องจอง อยากทำอะไรก็ไปทำได้เลย อยากถวายสังฆทาน อยากทอดผ้าป่า ฯลฯ ไปถวาย ไปทอดได้เลย ทำกันวันละกี่ร้อยครั้ง กี่ร้อยเจ้าภาพ มีแรงทำก็เชิญทำกันได้เลย
แต่ทอดกฐิน ไม่ใช่
กฐิน เจ้าภาพมีได้รายเดียว ผ้าผืนเดียว ทอดแล้วจบเลย ใครจะมาทอดซ้ำเป็นรายที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ได้ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นจึงต้องจองก่อน เป็นการบอกกล่าวให้คนทั้งหลายรับรู้ว่าวัดนี้มีคนจองแล้ว ใครมีศรัทธาอยากทอด ขอโทษ เชิญวัดอื่น
เรื่องที่อยากได้เงินเข้าวัดมากๆ คนเก่าเขาก็รู้
แต่เขามีวิธีที่เนียนกว่าคนรุ่นใหม่
คนรุ่นใหม่-ฝ่ายข้างวัด-ถามคนมาจองตรงๆ จะถวายวัดเท่าไร
ถวายน้อย ไม่รับจอง
แสดงกิเลสออกมาอย่างโจ่งแจ้ง
ลองฟังวิธีของคนเก่าเขาดู
วิธีของคนเก่าก็คือ ทำใบประกาศไปปิดไว้ที่ศาลาหน้าวัด
ใจความตามสมมุติว่า …
……………….
นาวาเอก ทองย้อย ขอจองกฐินที่วัดนี้ จะถวายปัจจัยบำรุงวัดเป็นจำนวนเท่านี้ นอกจากนั้นยังจะถวายสิ่งนี้ๆ ให้เป็นของสงฆ์ และจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ถวายไว้ในพระศาสนา
หากท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งสามารถจะถวายได้มากกว่านี้ ขอให้แต่งใบประกาศมาจองทับ ข้าพเจ้ายินดีจะถอนการจอง และให้ท่านผู้นั้นได้เป็นเจ้าภาพแทนต่อไป ทั้งนี้ภายในเมื่อนั้นเมื่อนี้
……………….
หลักของการจองกฐินก็คือ ใครจองก่อนย่อมได้สิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว เมื่อได้สิทธิ์แล้วจะไม่เปิดทางให้ใครอื่นอีกเลยก็ย่อมทำได้
แต่เพราะนักเลงบุญย่อมมีวิธีอันเป็นวิถีของตนเอง วัฒนธรรมการ “จองทับ” จึงเกิดขึ้น
ต่อจากนั้น นักเลงบุญทั้งหลายก็จะดาหน้ากันเข้ามา ใครที่คิดว่าใหญ่กว่า หนักกว่า-หมายถึงศรัทธาแรงกว่า ก็จะมาเมียงมองเข้ามาจองทับ
เนื้อแท้ก็คือการประมูลกฐินนั่นเอง
แต่เป็นการประมูลตามวิถีนักเลงบุญ
ผู้มีศรัทธากับผู้ที่เชื่อว่าตนมีศรัทธาแรงกว่าวัดใจกันด้วยกุศลจิต
กรรมการวัดไม่เกี่ยว
ยิ่งพระในวัดด้วยแล้ว ห้ามเข้ามายุ่งด้วยเด็ดขาด ปล่อยให้เป็นเรื่องของญาติโยมเขาฟัดกันเอง พระอยู่ส่วนพระ (พระสมัยเก่าท่านรู้หน้าที่ของท่านดี)
บางที “จองทับ” กันตั้ง ๓ ชั้น ๔ ชั้นก็เคยมี
ยิ่งถ้าคนมาจองทับเป็น “สีกา” ด้วยแล้ว ครึกครื้นอย่าบอกใคร
“ประสก” ทั้งหลายเรียงคิวกันเข้ามา “จองทับ” เป็นที่เอิกเกริกไปเลยทีเดียวเชียว
กระทั่งหมดเวลาตามที่กำหนด ผู้มาจองทับรายล่าสุด-ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีบริวารกฐินหนักกว่าทุกราย-ก็จะได้เป็นเจ้าภาพทอดกฐิน ผู้จองรายอื่นๆ ก็พร้อมใจกันร่วมอนุโมทนาบุญ
นี่คือวิถีของนักเลงบุญรุ่นเก่า
เล่าสู่กันฟัง เผื่อว่าคนรุ่นใหม่ไฟแรงจะเกิดแรงบันดาลใจรื้อฟื้นวัฒนธรรม “จองทับ” ขึ้นมาทำกันใหม่
ฤๅจะรอให้ฝรั่งมานำทำให้ไทยดู?
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๒
๑๔:๒๓
…………………………….