บาลีวันละคำ

สาธกโวหาร (บาลีวันละคำ 1,818)

สาธกโวหาร

อ่านว่า สา-ทก-โว-หาน

แยกศัพท์เป็น สาธก + โวหาร

(๑) “สาธก

บาลีอ่านว่า สา-ทะ-กะ รากศัพท์มาจาก สาธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: สาธ + ณฺวุ > อก = สาธก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ (หรือสิ่งที่) ยังการกระทำให้สำเร็จ” หมายถึง สำเร็จ, เป็นผล (accomplishing, effecting)

สาธก” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

สาธก : (คำกริยา) ยกตัวอย่างมาอ้างให้เห็น. (ป.; ส. ว่า ช่วยทํา, ทําให้สําเร็จ).”

โปรดสังเกตว่า “สาธก” ในบาลีเป็นคำนาม แต่ “สาธก” ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำกริยา

(๒) “โวหาร

บาลีอ่านว่า โว-หา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อว (คำอุปสรรค = ลง) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ปัจจัย, ลบ , “ลบสระหน้า” คือ วิ + อว ลบ อิ ที่ วิ (วิ > ), แผลง อว เป็น โอ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)

: วิ > + อว > โอ : + โอ = โว + หรฺ = โวหร + = โวหรณ > โวหร > โวหาร แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันเขากล่าว” (2) “คำเป็นเครื่องกล่าว” (3) “คำที่ลักใจของเหล่าสัตว์อย่างวิเศษ” (คือดึงดูดใจคนฟังไป) (4) “ภาวะที่พูดทำความขัดแย้ง” (5) “การตกลงกัน

โวหาร” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

โวหาร : (คำนาม) ชั้นเชิงหรือสํานวนแต่งหนังสือหรือพูด เช่น มีโวหารดี, ถ้อยคําที่เล่นเป็นสําบัดสํานวน เช่น อย่ามาตีโวหาร เขาชอบเล่นโวหาร. (ป.).”

ในภาษาไทย “โวหาร” เล็งถึง “คำพูด” แต่ในภาษาบาลี “โวหาร” มีความหมายหลายอย่าง คือ –

(1) ชื่อหรือการเรียกขานที่ใช้กันในเวลานั้น, การใช้ภาษาร่วมกัน, ตรรกวิทยา, วิธีปกติธรรมดาของการนิยาม, วิธีใช้, ตำแหน่ง, ฉายา (current appellation, common use, popular logic, common way of defining, usage, designation, term, cognomen)

(2) การค้า, ธุรกิจ (trade, business)

(3) คดีความ, กฎหมาย, พันธะทางกฎหมาย; วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับคดีความ, วิชาธรรมศาสตร์ (lawsuit, law, lawful obligation; juridical practice, jurisprudence)

สาธก + โวหาร = สาธกโวหาร แปลตามศัพท์ว่า “ถ้อยคำเป็นเครื่องยังความหมายให้สำเร็จประโยชน์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

สาธกโวหาร : (คำนาม) สำนวนเขียนที่มีการยกตัวอย่างมาอ้างให้เห็น.”

…………..

สาธกโวหาร” เป็นหนึ่งใน “โวหาร” ตามตำราเรียงความภาษาไทย อันประกอบด้วย –

1. บรรยายโวหาร : สำนวนเขียนที่เป็นไปในลักษณะการชี้แจงหรืออธิบาย

2. พรรณนาโวหาร : สำนวนเขียนที่กล่าวเป็นเรื่องราวอย่างละเอียดเพื่อให้ผู้อ่านนึกเห็นเป็นภาพ

3. เทศนาโวหาร : สำนวนเขียนที่เป็นไปในลักษณะการเทศนาของพระ

4. สาธกโวหาร : สำนวนเขียนที่มีการยกตัวอย่างมาอ้างให้เห็น

5. อุปมาโวหาร : สํานวนเขียนที่กล่าวถึงเรื่องราวโดยยกสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเปรียบเทียบประกอบ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความดีไม่สำเร็จได้เพียงแค่คำพูด

: แต่ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ

31-5-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย