บาลีวันละคำ

วาร-ดิถี (บาลีวันละคำ 948)

วาร-ดิถี

ปัญหาอยู่ที่ไหน

๑ ความหมายตามพยัญชนะ

วาร” บาลีอ่านว่า วา-ระ แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่ผูกไว้” หมายถึงเวลาที่กำหนดไว้ตามเหตุการณ์นั้นๆ หมายถึง วาระ, โอกาส, เวลา, คราว (turn, occasion, time, opportunity)

วาร” ในสำนวนบาลีเมื่อใช้ร่วมกับคำอื่น ความหมายจะบ่งเฉพาะลงไป เช่น :

อุตุวารวาระของฤดู” = ตามฤดูกาล

ตติยวารครั้งที่ 3” เป็นวัฒนธรรมสังคมชมพูทวีป ถือว่าเป็นครั้งสุดท้าย (เป็นที่มาของการทำซ้ำ 3 ครั้งเพื่อย้ำเตือนให้หนักแน่น เช่น ตั้งนะโม 3 จบ)

อุทกวารวาระแห่งน้ำ” = ถึงวงรอบที่จะต้องอาบน้ำ, ถึงวาระที่จะต้องไปทำหน้าที่ลำเลียงน้ำจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง คือไปตักน้ำหรือเอาน้ำไปส่ง

ภาณวารวาระแห่งการสวด” = ข้อความที่กำหนดว่ายาวพอเหมาะที่จะใช้สวดตอนหนึ่งๆ = บทสวด

ดิถี” บาลีเป็น “ติถิ” (ติ-ถิ) แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย” “เวลาที่รักษาไว้” หมายถึง วัน, โดยเฉพาะวันตามจันทรคติคติ (a lunar day)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ (สะกดตามต้นฉบับ) :

(1) วาร : (คำนาม) สมุหะ, หมู่, คณะ; ปริมาณ, ประมาณ; โขลง, ฝูง; โอกาศ; วัน; เวลาครู่หนึ่ง; นามพระศิวะ; ทางเดิรเข้าประตู, ประตูบ้าน; เวลา; multitude; a quantity; flock, a herd; an occasion or opportunity; a day; a moment; a name of śiva, a doorway, a gate; a time.

(2) ติถิ, ติถี : (คำนาม) ‘ดิถี,’ จันทรคติทิน, วันหนึ่งในสามสิบวัน ( = หนึ่งวันในจันทรมาส); a lunar day, one-thirtieth of a whole lunation ( = a day of the lunar month).

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) วาร ๑ (วาน) : (คำนาม) วันหนึ่ง ๆ ในสัปดาห์ เช่น อาทิตยวาร. (ป., ส.).

(2) วาร– ๒, วาระ (วา-ระ-) : (คำนาม) ครั้ง, คราว, เช่น พิจารณารวดเดียว ๓ วาระ อยู่ในตำแหน่งวาระละ ๒ ปี, เวลากำหนด เช่น วาระอันเป็นมงคล วาระสุดท้ายของชีวิต.

(3) ดิถี : (คำนาม) วันตามจันทรคติ เช่น ขึ้นคํ่าหนึ่ง แรม ๒ คํ่า, ใช้ว่า ดฤถี ก็มี. (ป., ส. ติถิ).

(4) สุริยคติ : (คำนาม) วิธีนับวันและเดือนแบบสากล โดยถือกําหนดตําแหน่งดวงอาทิตย์เป็นหลัก เช่น วันที่ ๑ ถึงวันที่ ๓๑ เป็นการนับวันทางสุริยคติ เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม เป็นการนับเดือนทางสุริยคติ.

(5) จันทรคติ : (คำนาม) วิธีนับวันและเดือนโดยถือเอาการเดินของดวงจันทร์เป็นหลัก เช่น ขึ้น ๑ คํ่าถึงแรม ๑๕ คํ่า เป็นการนับวันทางจันทรคติ เดือนอ้ายถึงเดือน ๑๒ เป็นการนับเดือนทางจันทรคติ. (ส.).

๒ สรุปความเข้าใจที่ตกลงกัน

(1) วาร หรือ วาระ หมายถึงการนับวันทางสุริยคติ เช่น วันที่ 22 ธันวาคม พุทธศักราช 2557

(2) ดิถี หมายถึงการนับวันทางจันทรคติ เช่น ขึ้น 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย

(3) ส่วนวันในรอบสัปดาห์ คือ วันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ ถ้าเอาความหมายของคำว่า “วาร” ตาม พจน.54 ที่ว่า “วันหนึ่ง ๆ ในสัปดาห์ เช่น อาทิตยวาร” เป็นเกณฑ์ ก็ต้องถือว่าเป็นการนับวันทางสุริยคติ

๓ ปัญหา

ปัจจุบันมีผู้ใช้คำว่า “ในวารดิถี” เช่น “ในวารดิถีขึ้นปีใหม่” ผู้รู้ทักท้วงว่า ใช้คำไม่ถูกต้อง เพราะวันขึ้นปีใหม่ปัจจุบันนับวันทางสุริยคติ คือวันที่ 1 มกราคม อันเป็นความหมายของคำว่า “วาร” ไม่ใช่นับทางจันทรคติ เช่นขึ้นแรมกี่ค่ำ อันเป็นความหมายของคำว่า “ดิถี” ในที่เช่นนี้จึงใช้คำว่า “ดิถี” ไม่ได้

๔ ความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำ

(1) คำว่า “วารดิถี” จะใช้กันมาตั้งแต่เมื่อไร ใครเป็นผู้ริเริ่มใช้ และผู้ริเริ่มมีเจตนาจะให้มีความหมายเช่นไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ณ วันนี้คนทั่วไปใช้คำนี้ในความหมายว่า “โอกาสพิเศษตามที่โลกนิยม” โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงทางพยัญชนะ

(2) พยานในข้อนี้คือ พจนานุกรม สอ เสถบุตร มีคำว่า “วารดิถี” แปลเป็นอังกฤษว่า occasion และคำว่า occasion ก็แปลเป็นไทยว่า โอกาส, ฤกษ์, กาล, สมัย, เวลา, คราว, กาลอันสมควร

(3) ตัวอย่างถ้อยคำในภาษาไทยที่ความหมายเคลื่อนที่ไปจนเอาข้อเท็จจริงมาจับไม่ได้อีกแล้วก็เช่นคำว่า “กินข้าวกินปลา” ซึ่งหมายถึง “รับประทานอาหาร” แม้ว่าอาหารที่รับประทานมื้อนั้นจะไม่มีข้าวและปลาเลยก็ตามก็ต้องนับว่าเป็นคำพูดที่ไม่ผิด และคนทั่วไปก็ยังพูดกันเช่นนี้อยู่ เป็นอย่างที่เราเรียกกันว่า idiom

(4) ถ้าไปอ่านภาษาไทยในพงศาวดารจะพบว่าเรานับวันควบคู่กันไปทั้งสุริยคติและจันทรคติ เช่น “ครั้นถึงวันอาทิตย์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 …”

วันอาทิตย์” คือ “วาร

ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6” คือ “ดิถี

(5) อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้รู้ท่านทักท้วง ก็สมควรฟัง เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง สำหรับผู้ที่เคยปากเคยมือเลี่ยงไม่ได้ เราท่านก็ควรเห็นใจและเข้าใจ ส่วนที่เอาข้อเท็จจริงเข้าไปจับไม่ได้ ก็ต้องยอมปล่อย แต่ที่ดึงกันไว้ได้ก็ต้องช่วยกันดึง

เช่นถ้าจะใช้คำนี้ต้องสะกดว่า “วารดิถี” อ่านว่า วา-ระ-ดิ-ถี แต่ที่ เรือ ไม่ต้องมีสระ อะ

ไม่ใช่ยอมให้สะกดว่า “วาระดิถี” แล้วบอกว่าเขียนอย่างนี้ก็ใช้ได้เพราะเป็นการเขียน “ตามความนิยม

———

สมมุติ : รู้เพื่อหลุด มิใช่รู้เพื่อติด

: แต่คำถูก-ผิด ต้องเคารพกติกาสังคม

———

(อันเนื่องมาจาก พี่ท่าน สมพงษ์ โหละสุต อยากฟังความคิดเห็น)

#บาลีวันละคำ (948)

22-12-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *