บาลีวันละคำ

สมมุติสัจจะ (บาลีวันละคำ 1,703)

สมมุติสัจจะ

อ่านว่า สม-มุด-ติ-สัด-จะ

ประกอบด้วย สมมุติ + สัจจะ

(๑) “สมมุติ

บาลีเป็น “สมฺมุติ” อ่านว่า สำ-มุ-ติ รากศัพท์มาจาก สํ + มุติ

(1) “สํ” (สัง)

เป็นคำอุปสรรค ตำราบาลีไทยแปลว่า “พร้อม, กับ, ดี” หมายถึง พร้อมกัน, ร่วมกัน (together)

(2) “มุติ” รากศัพท์มาจาก –

ก) มุ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย

: มุ + ติ = มุติ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้

ข) มนฺ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ -(นฺ) เป็น อุ (มนฺ > มุน), ลบ ที่สุดธาตุ (มุนฺ > มุ),

: มนฺ > > มุ + ติ = มุติ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้

มุติ” (อิตถีลิงค์) หมายถึง จิตใจ, ความเห็น, ความคิด; การคิดถึง, ความอยาก, ความอยากได้หรือปรารถนา (mind, opinion, thought; thinking of, hankering after, love or wish for)

สํ + มุติ แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ)

: สํ > สมฺ + มุติ = สมฺมุติ แปลตามศัพท์ว่า “การรู้พร้อมกัน” คือ รับรู้ร่วมกัน, ยอมรับร่วมกัน

สมฺมุติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การยินยอม, การอนุญาต (consent, permission)

(2) การเลือก, การคัดเลือก, คณะผู้แทน (choice, selection, delegation)

(3) การกำหนด, การกำหนดหมาย [เขตแดน] (fixing, determination [of boundary])

(4) การยินยอมโดยทั่วๆ ไป, ความเห็นทั่วๆ ไป, ระเบียบแบบแผน, สิ่งที่ยอมรับทั่วๆ ไป (common consent, general opinion, convention, that which is generally accepted)

(5) ความคิดเห็น, คำสอน (opinion, doctrine)

(6) คำจำกัดความ, คำประกาศ, การแถลง (definition, declaration, statement)

(7) คำพูดที่นิยมกัน, เป็นเพียงชื่อหรือคำเท่านั้น (a popular expression, a mere name or word)

(8) ขนบประเพณี, เรื่องเก่า ๆ (tradition, lore)

คำว่า “สมฺมุติ” อาจมีรูปคำเป็น “สมฺมต” (สำ-มะ-ตะ) หรือ “สมฺมติ” (สำ-มะ-ติ) ได้อีก มีความหมายในทำนองเดียวกัน

สมมต, สมมติ, สมมุติ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) (คำกริยา) รู้สึกนึกเอาว่า เช่น สมมุติให้ตุ๊กตาเป็นน้อง.

(2) (คำสันธาน) ต่างว่า, ถือเอาว่า เช่น สมมุติว่าได้มรดกสิบล้าน จะบริจาคช่วยคนยากจน สมมุติว่าถูกสลากกินแบ่งรางวัลที่ ๑ จะไปเที่ยวรอบโลก.

(3) (คำวิเศษณ์) ที่ยอมรับตกลงกันเองโดยปริยาย โดยไม่คํานึงถึงสภาพที่แท้จริง เช่น สมมุติเทพ.

(๒) “สัจจะ

บาลีเป็น “สจฺจ” (สัด-จะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) (แทนศัพท์ว่า “สนฺต” = สัตบุรุษ, คนดี) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, แปลง ภู เป็น

: + ภู > = สจ + = สจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีในคนดีทั้งหลาย” (สัจจะจึงต้องเป็นไปในทางดี)

(2) สรฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ (ส)-รฺ (สรฺ > ), ซ้อน จฺ

: สรฺ > + จฺ + = สจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียนทุกข์” (สัจจะจึงต้องใช้เพื่อแก้ทุกข์ คือแก้ปัญหา)

สจฺจ” เป็นคำนาม แปลว่า ความจริง (the truth), การยืนยันแน่นอน (a solemn asseveration) เป็นคุณศัพท์ แปลว่า จริง, แท้ (real, true)

สจฺจ” ในภาษาไทย นิยมตัด ออกตัวหนึ่ง เขียนเป็น “สัจ” ถ้าใช้คำเดียวและ/หรืออ่านว่า สัด-จะ เขียนเป็น “สัจจะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัจ, สัจ-, สัจจะ : (คำนาม) ความจริง, ความจริงใจ, เช่น ทำงานร่วมกันต้องมีสัจจะต่อกัน. (ป. สจฺจ; ส. สตฺย).”

สมฺมุติ + สจฺจ = สมฺมุติสจฺจ > สมมุติสัจจะ แปลว่า “ความจริงตามสมมุติ” คือ ความจริงที่ยอมรับสืบเนื่องกันมา (conventional truth)

สมมุติสัจจะ” คู่กับ “ปรมัตถสัจจะ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [50] อธิบายไว้ดังนี้ –

1. สมมติสัจจะ : ความจริงโดยสมมุติ, ความจริงที่ขึ้นต่อการยอมรับของคน, ความจริงที่ถือตามความกำหนดหมายตกลงกันไว้ของชาวโลก เช่นว่า คน สัตว์ โต๊ะ หนังสือ เป็นต้น (Sammati-sacca: conventional truth)

2. ปรมัตถสัจจะ : ความจริงโดยปรมัตถ์, ความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยไม่ขึ้นต่อการยอมรับของคน, ความจริงตามความหมายขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่จะกล่าวถึงได้ เช่นว่า รูป นาม เวทนา จิต เจตสิก เป็นต้น (Paramattha-sacca: ultimate truth, absolute truth)

…………..

อภิปราย :

ในกระบวนการยุติธรรมมีคำกล่าวว่า “ความยุติธรรมคือสิ่งสมมุติ”

คนมักเข้าใจว่า “สมมุติ” เป็นเรื่องไม่จริง แต่หลักสัจจะดังนำมาอ้างข้างต้นยืนยันว่า สมมุติก็เป็นเรื่องจริง เพียงแต่จริงโดยสมมุติ ไม่ใช่จริงโดยปรมัตถ์หรือ “จริงจริงๆ”

ท่านสอนเรื่อง “สมมุติสัจจะ” เพื่อให้รู้เท่าทันเมื่อสิ่งที่มีที่เป็นต้องเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไป จะได้ไม่ทุกข์

แต่เมื่อจะทำกิจการงานตามหน้าที่ก็ต้องทำจริงๆ คือทำให้ดีที่สุดและถูกต้องที่สุด มิใช่อ้างว่า-มันเป็นเพียงสมมุติ แล้วก็เลยไม่ทำอะไรที่ควรทำให้ถูกต้องดีงาม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ตำแหน่งหน้าที่ เป็นเรื่องสมมุติ

: การทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เป็นเรื่องจริง

1-2-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย