บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความรู้เรื่องบิณฑบาต

ความรู้เรื่องบิณฑบาต

———————-

………….

คำเตือน:

เรื่องนี้ยาวมาก

อย่าอ่านถ้าไม่มีเวลามากพอ

คำแนะนำ:

ถ้าไม่มีเวลามากพอ 

ควรเลือกอ่านเฉพาะข้อย่อยตามหมายเลข

………….

การทำบุญด้วยวิธีใส่บาตร (ภาษามาตรฐานว่า “ตักบาตร”) เป็นกิจที่ชาวพุทธนิยมทำกันทั่วไปทุกเช้า แต่คนส่วนมากไม่ค่อยรู้ว่าการที่พระภิกษุสามเณรออกบิณฑบาตนั้นมีกฎเกณฑ์อย่างไร ตัวผู้ใส่บาตรเองควรทำหรือไม่ควรทำอะไรอย่างไร

ต่อไปนี้เป็นหลักความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องบิณฑบาต

————-

-๑-

คำว่า “บิณฑบาต” มาจากคำบาลีว่า “ปิณฺฑปาต” อ่านว่า ปิน-ดะ-ปา-ตะ

ปิณฺฑ = ก้อนข้าว 

ปาต = การตก (เช่น ของตกลงที่พื้น)

ปิณฺฑปาต แปลตามศัพท์ว่า “การตกของก้อนข้าว” หมายถึง ทำอาหารให้ตกลงไปในบาตรพระ คือตักบาตร หรือใส่บาตรนั่นเอง

บิณฑบาต” เป็นคำนาม หมายถึงอาหารที่ถวายแก่พระภิกษุสามเณร เช่นที่พูดว่า “รับบิณฑบาต”

บิณฑบาต” เป็นคำกริยา หมายถึงพระภิกษุสามเณรรับของที่เขานํามาใส่บาตร

คำว่า “บิณฑบาต” โดยปริยาย หรือสำนวนภาษา ยังหมายถึงการที่พระภิกษุสามเณรขอหรือขอร้อง เช่น “เรื่องนี้ขอบิณฑบาตให้เลิกแล้วต่อกัน”

คำว่า “บิณฑบาต” อย่าเขียนเป็น “บิณฑบาตร” 

“-บาต” ไม่ต้องมี เรือ 

เป็นคนละคำกับ “บาตร” คือภาชนะสําหรับภิกษุสามเณรใช้รับอาหารบิณฑบาต 

————-

-๒-

เวลาออกบิณฑบาตคือเวลาเช้า ถ้าเป็นภายในพรรษาต้องเป็นเวลาหลังรุ่งอรุณจึงจะออกบิณฑบาตได้ คือต้องอยู่ภายในวัดหรือที่ซึ่งอยู่จำพรรษาจนกว่าจะรุ่งสางของวันใหม่ มิฉะนั้นจะขาดพรรษา

และควรกลับถึงวัดภายในเวลาอันสมควร หมายถึงมีเวลาพอที่จะฉันอาหารที่บิณฑบาตได้มา ไม่ใช่บิณฑบาตจนถึงเที่ยงถึงบ่าย

————-

-๓-

สมัยพุทธกาล พระไปบิณฑบาตไม่ได้กลับมาฉันที่วัดเสมอไป ส่วนมากเมื่อได้รับอาหารพอแก่ความต้องการแล้วก็จะหาที่นั่งฉันในละแวกบ้านหรือในสถานที่ซึ่งหาน้ำได้สะดวก ฉันเสร็จแล้วจึงกลับที่พัก

มีหลักฐานในคัมภีร์แสดงไว้ว่า ตามหมู่บ้านที่ประชาชนเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและมีพระสงฆ์มาบิณฑบาตประจำ ชาวบ้านจะสร้าง “อาสนศาลา” ซึ่งน่าจะแปลว่า “โรงฉัน” ไว้ในบริเวณหมู่บ้าน และเตรียมที่นั่งและน้ำไว้ที่ศาลานั้น พระที่มาบิณฑบาตเมื่อได้อาหารพอแก่ความต้องการแล้วก็จะไปฉันที่อาสนศาลาดังกล่าวนี้

————-

-๔-

มีพระวินัยบัญญัติไว้ว่า ภิกษุจะรับอาหารได้พอเสมอขอบปากบาตรซึ่งเป็นปริมาณที่พอแก่การฉันสำหรับวันนั้นเท่านั้น และหากมีผู้ถวายมากกว่านี้จะรับได้ไม่เกิน ๓ บาตร หมายถึงว่ารับเต็มแล้วเทออกแล้วรับอีกได้รวม ๓ บาตร 

อาหารที่รับมาด้วยอาการเช่นนี้ท่านให้นำไปสงเคราะห์พระภิกษุสามเณรอื่นๆ ไม่ใช่หวงไว้ฉันลำพังตนผู้เดียว

อาหารบิณฑบาตของพระเป็นอาหารที่ได้มาวันต่อวัน ห้ามสะสมไว้ฉันในวันต่อไป

การเอาอาหารที่บิณฑบาตได้มาไปขายต่อก็ผิดวินัยด้วย

————-

-๕-

มีพระวินัยบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ห้ามภิกษุรับเงิน การที่พระบางรูปออกบิณฑบาตเงิน (ประกาศตรงๆ ว่ารับเฉพาะเงิน ไม่รับอาหาร) ก็ตาม การที่ญาติโยมเอาเงินใส่บาตรเหมือนกับที่เอาอาหารใส่บาตรก็ตาม เป็นการทำผิดพุทธบัญญัติ

ญาติโยมหลายท่านอ้างว่า ใส่อาหาร พระก็ได้แต่อาหาร ใส่เงิน พระจะได้เอาเงินไปซื้อของใช้ที่จำเป็น ย่อมได้ประโยชน์มากกว่า คำอ้างนี้มีเหตุผลที่ยอมรับได้ แต่ต้องทำด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามพระวินัย

การถวายเงินให้พระต้องผ่านไวยาวัจกร (ไวยาวัจกรคือชาวบ้านที่ทำหน้าที่รับ-จ่ายเงินแทนพระ ตามระเบียบแล้วต้องมีทุกวัด) คือเอาเงินไปมอบให้ไวยาวัจกรแล้วแจ้งแก่พระว่าได้ถวายเงินให้ท่านเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ท่านประสงค์สิ่งใดอันสมควรแก่สมณบริโภค ขอให้เรียกร้องเอาจากไวยาวัจกร วิธีเช่นนี้เรียกว่า “ปวารณา”

ถ้าไม่สะดวกที่จะทำเช่นนั้น และอยากจะใส่บาตรด้วยเงิน ขอแนะนำให้ใช้วิธี “ตัดใจบริจาค” คือเอาเงินที่ตั้งใจจะใส่บาตรใส่มือยกขึ้นจบพร้อมกับตั้งเจตนาว่า “ข้าพเจ้าขอถวายเงินจำนวนนี้บำรุงพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา” 

ทำเท่านี้เท่ากับท่านได้เอาเงินใส่บาตรไปเรียบร้อยแล้ว บุญสำเร็จเรียบร้อยแล้วทุกประการโดยไม่จำเป็นต้องเอาเงินใส่บาตรพระ

แล้วเอาเงินนั้นใส่กล่องหรือซองแยกไว้ต่างหาก อย่าเอาออกมาใช้

อยากใส่บาตรด้วยเงินเมื่อไรก็ทำวิธีนี้ได้ทุกครั้ง

ครั้นพอถึงวันที่ท่านสะดวก ก็เอาเงินที่ตัดใจบริจาคไว้ทุกวันนั้นไปถวายวัดที่ท่านศรัทธา โดยมอบให้แก่ไวยาวัจกรของวัดนั้นและแจ้งให้พระท่านทราบ

นี่คือวิธีใส่บาตรด้วยเงินที่ถูกต้อง

อนึ่ง มีผู้อ้างว่าพระบวชใหม่ศีลบริสุทธิ์ ทำบุญกับพระที่ศีลบริสุทธิ์ได้บุญมาก หลายท้องถิ่นจึงเกิดความนิยมตั้งแถวรอเอาเงินใส่บาตรพระบวชใหม่ที่กำลังจะออกจากโบสถ์ แล้วก็ปลื้มใจว่าตนได้บุญมาก

โปรดทราบว่า นั่นคือทำให้พระใหม่ต้องอาบัติตั้งแต่บวชวันแรกตั้งแต่ก้าวเท้าแรกออกจากโบสถ์ เป็นการทำผิดอย่างยิ่ง สมควรเลิกทำได้แล้ว

————-

-๖-

พระในเมืองไทยเมื่อออกบิณฑบาตมีทั้งอุ้มบาตรและสะพายบาตร 

เท่าที่สังเกตได้ พระมหานิกายห่มจีวรแบบที่เรียกกันว่า “มังกรพันแขน” สะพายบาตร บาตรอยู่ภายในจีวร เวลารับอาหารดึงชายจีวรขึ้นมาจากด้านล่างเพื่อเปิดบาตร 

พระธรรมยุตห่มแหวก อุ้มบาตร 

จะอุ้มบาตรหรือสะพายบาตรไม่เป็นข้อกำหนดที่ตายตัว

————-

-๗-

พระในเมืองไทยเมื่อออกบิณฑบาตจะเดินไปตามลำดับบ้าน ไม่ได้ยืนรอคนใส่บาตรอยู่กับที่ดังที่พระส่วนหนึ่งประพฤติอยู่ในทุกวันนี้

บูรพาจารย์ท่านสอนกันมาว่า –

ไปถึงหน้าบ้านที่เคยใส่บาตร ถ้าเขาไม่เห็น ให้ยืนรอพอให้เขาเห็น 

ถ้าเป็นบ้านที่ไม่เคยใส่บาตร ให้ยืนรอพอให้เขารู้ว่ามีพระมา ถ้าเขาจะใส่ เขาจะนิมนต์ให้รอ ถ้าเขานิ่งเฉยก็ให้เดินต่อไป (สมัยก่อน บ้านที่ไม่พร้อมจะใส่บาตร คนในบ้านจะร้องบอกพอให้พระได้ยินว่า “นิมนต์โปรดข้างหน้าเจ้าข้า”)

แม้คำว่า “ภิกขุ” หรือภิกษุ จะแปลได้ว่า “ผู้ขอ” แต่ภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นผู้ขออย่างอารยชน คือ ไม่ออกปากขอ ไม่ยืนรอนั่งรออยู่กับที่ พระจึงไม่ใช่ขอทานดังที่เห็นกันทั่วไป 

การยืนบิณฑบาตอยู่กับที่ นอกจากจะผิดจารีตแล้วยังทำให้พระมีสภาพใกล้เป็นคนขอทานเข้าไปทุกที

————-

-๘-

พระในเมืองไทยเมื่อรับอาหารบิณฑบาตแล้วไม่ได้ยืนให้พรกันข้างถนน หรือให้พรกันตรงนั้นทันที แต่จะกลับมาฉันที่วัด เมื่อฉันเสร็จแล้วจึงอนุโมทนาด้วยบทอนุโมทนาตามแบบแผนที่เรียกกันเข้าใจง่ายๆ ว่า “ยะถา-สัพพี”

โปรดเข้าใจให้ถูกต้องว่า การอนุโมทนาหรือให้พรไม่ใช่กระบวนการที่ทำให้การใส่บาตรสำเร็จเป็นบุญ 

ผู้ใส่บาตรได้บุญอันเกิดจากการบริจาคทานสมบูรณ์แล้วในทันทีที่ใส่บาตรเสร็จ ไม่จำเป็นจะต้องให้พระกล่าวคำให้พรจึงจะได้บุญ

การขอให้พระให้พรทันทีที่ใส่บาตร จึงเหมือนกับเป็นการร้องขอสิ่งตอบแทน และยังทำให้พระมีสภาพคล้ายคนขอทาน-ที่พอมีคนเอาสตางค์ใส่กระป๋องก็กล่าวคำสรรเสริญและอวยพรต่างๆ อีกด้วย

ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุกระทำอนุโมทนาในโรงฉัน (วินัยปิฎก จุลฺวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๔๒๐, ๔๒๑)

ในอรรถกถา เช่นเรื่องจุลกาลมหากาล (ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑) เรื่องพระจูฬปันถกเถระ (ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๒) แสดงไว้ชัดว่าพระสงฆ์อนุโมทนาเมื่อฉันเสร็จแล้ว ไม่ใช่อนุโมทนาข้างทางเมื่อโยมใส่บาตร

อย่างไรก็ตาม ในอรรถกถาพระวินัย คือคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค ๓ หน้า ๘๕-๘๖ เล่าเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรก เสด็จออกบิณฑบาต พระเจ้าสุทโทธนะพระพุทธบิดาเสด็จไปตัดพ้อว่าทำไมจึงมาเดินขอทานเช่นนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าการบิณฑบาตเป็นวงศ์ของพระพุทธเจ้า แล้วประทับยืนแสดงธรรมแก่พระพุทธบิดาที่ถนนนั่นเอง

เรื่องนี้อาจถูกนำไปอ้างได้ว่าพระพุทธเจ้ายังให้พรข้างถนน 

จึงควรศึกษาให้เข้าใจชัดเจนว่า กรณีนี้พระพุทธเจ้าทรงมุ่งที่จะแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดา ไม่ใช่ทรงมีเจตนาจะให้พรคนใส่บาตรอย่างที่พระส่วนหนึ่งนิยมทำอยู่ในปัจจุบัน

————-

-๙-

เมื่อออกบิณฑบาตพระจะไม่สวมรองเท้า เนื่องจากมีพุทธบัญญัติ “ห้ามสวมรองเท้าเข้าบ้าน” 

นั่นแปลว่า การออกบิณฑบาตเป็นการเดินเข้าไปสู่บ้านเรือนของประชาชน คือเป็นการ “เข้าบ้าน” พระจึงไม่สวมรองเท้า

————-

-๑๐-

บูรพาจารย์ท่านสอนกันมาว่า

– เดินบิณฑบาตให้สำรวมตา มองไปข้างหน้า “เพียงชั่วแอก” (คำในพระไตรปิฎกว่า โอกฺขิตฺตจกฺขุ = มีตาทอดลง)

– เดินบิณฑบาตให้ภาวนาว่า นามรูปํ อนิจฺจํ นามรูปํ ทุกฺขํ นามรูปํ อนตฺตา ให้ภาวนาตลอดทางทั้งไปทั้งกลับ

– ไม่เอ่ยปากพูดคุยกับญาติโยม เว้นแต่มีเรื่องจำเป็นจริงๆ

– ถ้าไปบิณฑบาตร่วมทางกันตั้งแต่สองรูปขึ้นไป ให้เดินเรียงแถวตามลำดับอาวุโส คือบวชก่อนเดินหน้า บวชทีหลังเดินตาม (เคยเห็นพระสมัยนี้เดินเป็นหน้ากระดาน ซ้ำคุยกันอย่างสนุกสนานไปด้วย แสดงว่าท่านไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน)

————-

-๑๑-

เวลาใส่บาตร เป็นมารยาทที่จะต้องถอดรองเท้า เป็นการแสดงว่าผู้ใส่บาตรยืนต่ำกว่าพระ และเมื่อถอดรองเท้าก็ต้องยืนบนพื้น ไม่ใช่ยืนบนรองเท้า การยืนบนรองเท้ามีค่าเท่ากับไม่ได้ถอดรองเท้านั่นเอง

นอกจากถอดรองเท้าแล้ว ถ้าสวมหมวกก็สมควรถอดหมวก กางร่มสมควรหุบร่มหรือวางร่มลง

การถอดรองเท้า ถอดหมวก หุบร่ม เหล่านี้เป็นมารยาทสังคม และเป็นเจตนาที่จะแสดงความเคารพ เพราะฉะนั้น ถ้ามีเหตุที่ไม่อาจกระทำได้เป็นเหตุเฉพาะหน้าเฉพาะกรณี ก็ไม่ถือว่าเสียหาย ให้ถือเจตนาแสดงความเคารพเป็นประมาณ

————-

-๑๒-

บางท้องถิ่นวัดอยู่ไกลจากหมู่บ้าน พระอาจจำเป็นต้องใช้พาหนะบางอย่างเป็นเครื่องช่วย หรือบางพื้นที่บางฤดูกาลชาวบ้านใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง พระก็จำเป็นต้องบิณฑบาตทางเรือ 

แต่โดยปกติแล้ว ถ้าไม่มีเงื่อนไขทางสังคมเป็นอย่างอื่น อาการที่พระออกบิณฑบาตคือเดินไปด้วยเท้า สมด้วยคำบอกอนุศาสน์ (คำที่พระอุปัชฌาย์สั่งสอนพระใหม่ทันทีที่บวชเสร็จ) ตอนหนึ่งว่า 

“ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา – การบวชมีวิธีดำรงชีวิตโดยอาศัยโภชนะคืออาหารแต่ละคำที่ได้มาด้วยปลีแข้ง”

“อาหารแต่ละคำที่ได้มาด้วยปลีแข้ง” ก็คือต้องเดินบิณฑบาตนั่นเอง

————-

-๑๓-

ตามหลักพระธรรมวินัย ภิกษุสามเณรต้องบิณฑบาตเลี้ยงชีพ สิทธิที่จะไม่ต้องออกบิณฑบาตก็คือได้รับนิมนต์

“ได้รับนิมนต์” ในความหมายเดิมสมัยพุทธกาลหมายถึงมีชาวบ้านมาบอกว่าให้ไปรับอาหารบิณฑบาตที่บ้านของเขา พอถึงเวลาพระก็ถือบาตรตรงไปยังบ้านที่มานิมนต์ได้เลย ไม่ต้องไปบ้านไหน

ตามปกติเวลาออกบิณฑบาต พระวินัยกำหนดให้เดินรับอาหารไปตามลำดับบ้าน คือเข้าบ้านนี้ออกบ้านนั้นไปตามลำดับไม่ต้องเลือกว่าจะเป็นบ้านไหนบ้าง จนได้อาหารพอแก่ความต้องการแล้วก็กลับ 

แต่กรณีที่ได้รับนิมนต์ดังกล่าวนั้น ไม่ต้องเดินไปตามลำดับบ้านเหมือนปกติ แต่เดินตรงไปยังบ้านที่นิมนต์บ้านเดียว แต่บางทีผู้นิมนต์ก็มาขอรับบาตรเอาไปใส่อาหารแล้วนำกลับมาถวายถึงที่พักโดยพระไม่ต้องเดินไปเอง 

นี่คือที่มาของธรรมเนียมนิมนต์พระไปสวดมนต์ฉันเช้าหรือฉันเพลที่บ้านที่ยังนิยมทำกันอยู่จนทุกวันนี้

ยังมีกรณีอื่นอีกที่เป็นเหตุให้ไม่ต้องออกบิณฑบาตตามปกติ คือชาวบ้านนิมนต์เป็นประจำ ภัตตาหารที่ชาวบ้านนิมนต์เป็นประจำนี้เรียกเป็นศัพท์ว่า “นิตยภัต” แปลว่า “ภัตตาหารที่ถวายเป็นประจำ” ในทางปฏิบัติคือชาวบ้านจัดอาหารมาถวายให้เป็นประจำวัน พระภิกษุรูปนั้นก็จึงไม่ต้องออกบิณฑบาต

ปัจจุบันทางราชการจัด “นิตยภัต” ถวายพระภิกษุบางจำพวก เช่นภิกษุที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ และพระสังฆาธิการระดับต่างๆ เพียงแต่ว่าไม่ได้จัดเป็นอาหารเหมือนในสมัยแรกเริ่ม หากแต่ถวายเป็นเงิน แต่ก็ยังใช้คำเรียกว่า “นิตยภัต” เหมือนเดิม

ภิกษุที่ได้รับนิตยภัตดังกล่าวนี้ย่อมสามารถใช้สิทธิ์-ไม่ต้องออกบิณฑบาตได้

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การออกบิณฑบาตก็ยังคงเป็นกิจวัตรที่ภิกษุสามเณรควรถือปฏิบัติ เพราะนี่เป็นวิถีชีวิตของชาววัด เป็นพุทธนิยม ดังคำบอกอนุศาสน์อันเป็นพุทธดำรัสที่พระอุปัชฌาย์จะต้องบอกกล่าวแก่ภิกษุทุกรูปที่บวชเข้ามาในพระศาสนาดังที่ยกมาแสดงแล้วข้างต้น

————-

-๑๔-

อาหารที่บิณฑบาตได้มา หากยังไม่ได้ฉัน จะเอาไปให้ผู้อื่นกินก่อนไม่ได้ ยกเว้นให้แก่พระด้วยกัน

อาหารที่บิณฑบาตได้มาและยังไม่ได้ฉัน คำบาลีเรียกว่า “อนามัฏฐบิณฑบาต” (อะ นา มัด ถะ บิน ทะ บาด)

อนามัฏฐ” แปลว่า “-ที่ยังไม่ถูกจับต้อง

บิณฑบาต” หมายถึงอาหารที่พระภิกษุบิณฑบาตได้มา

อนามัฏฐบิณฑบาต” จึงแปลว่า “บิณฑบาตที่ยังไม่ได้จับต้อง” หมายถึง อาหารที่พระภิกษุบิณฑบาตได้มาและยังมิได้ฉัน 

มีพระวินัยบัญญัติไว้ว่า อนามัฏฐบิณฑบาตนั้นภิกษุจะหยิบยกให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งที่มิใช่ภิกษุด้วยกันมิได้ มีโทษทางพระวินัยฐานทำให้ “ศรัทธาไทย” ตกไป คือทำให้สิ่งที่มีผู้ถวายมาไม่เป็นไปตามเจตนาของผู้ถวาย

ถึงตรงนี้ควรแวะศึกษารากเหง้าเค้าเดิมของการใส่บาตรให้รู้ว่าชาวพุทธใส่บาตรกันทำไม

พระพุทธศาสนามีเป้าหมายอยู่ที่-ให้มนุษย์ปฏิบัติขัดเกลาตนเองจนพ้นจากทุกข์

ทุกข์ที่เป็นรากเหง้าของทุกข์ทั้งปวงก็คือวัฏทุกข์ แปลว่า ทุกข์คือการเวียนตายเวียนเกิด

เพราะเวียนตายเวียนเกิด ทุกข์อื่นๆ จึงเกิดมีตามมา

ถ้าปฏิบัติขัดเกลาจิตจนพ้นจากกิเลสทั้งปวงก็จะไม่ต้องเวียนตายเวียนเกิด

เมื่อไม่ต้องเวียนตายเวียนเกิด ก็ไม่ต้องทุกข์ คือทุกข์อะไรๆ ก็เกิดมีแก่ผู้นั้นไม่ได้

คนที่เห็นภัยในวัฏทุกข์ก็จึงตั้งเป้าหมายแห่งชีวิตว่าจะต้องปฏิบัติขัดเกลาตนเองตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้า

การปฏิบัติขัดเกลาตนเองตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ถ้ายังอยู่ครองเรือนก็ทำได้ยาก คนพวกนี้ก็จึงสละบ้านเรือนครอบครัวออกบวช

ใครออกบวชได้ คนที่มีความเห็นเป็นสัมมาทิฐิตรงกันก็พลอยชื่นชม อุปมาเหมือนคนสมัครเป็นทหารออกรบ คนที่ยังไม่พร้อมจะไปรบก็พลอยชื่นชม สนับสนุนด้วยวิธีการต่างๆ

พูดให้เห็นภาพก็ว่า-ใครออกบวชได้คนหนึ่งก็เฮกันลั่น พรั่งพรูกันสนับสนุนด้วยปัจจัยสี่

ถอดเป็นคำพูดก็เหมือนกับพูดว่า อย่าเป็นห่วงเรื่องทำมาหากินเลย ชาวบ้านจะเลี้ยงเอง ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติไปให้เต็มที่เถิด ไปให้ถึงฝั่งให้ได้นะ

พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติพระวินัยให้พระออกบิณฑบาตหากินวันต่อวัน ไม่ให้เก็บสะสมอาหาร ทั้งนี้เพื่อให้ปลอดกังวล เสียเวลากับเรื่องกินให้น้อยที่สุด เพื่อจะได้มีเวลาปฏิบัติขัดเกลาตนเองให้ได้มากขึ้น

ชาวบ้านใส่บาตรให้พระก็ด้วยจุดประสงค์นี้ คือสนับสนุนให้พระมีกำลังปฏิบัติขัดเกลาตนเองให้บรรลุถึงความพ้นทุกข์

เมื่อรู้รากเหง้าของการใส่บาตรเช่นนี้แล้ว มองตามไปก็จะเห็นได้ว่า ข้าวปลาอาหารที่ญาติโยมใส่บาตรมานั้นเขามีเจตนาจะให้พระฉันเพื่อให้มีกำลังศึกษาปฏิบัติธรรม

พระยังไม่ได้ฉัน ใครเอาไปกินก่อน ก็ต้องบาปแน่นอน

หลักปฏิบัติ-ไม่กินอะไรก่อนพระ-จึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเช่นนี้

ส่วนอาหารที่พระฉันแล้วนั้น ท่านเรียกว่าอาหารเป็นเดน พระท่านไม่มีสิทธิ์จะเก็บไว้ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะมีพระวินัยห้ามสะสมอาหารดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น อาหารเป็นเดนนี้ใครจะเอาไปกินหรือจะเอาไปทำอะไรก็ได้ ไม่เป็นบาป

แต่ก็มีฆราวาสบางคนที่พระวินัยยกเว้นหรือให้สิทธิพิเศษที่พระสามารถยกอนามัฏฐบิณฑบาตให้รับประทานก่อนได้ 

พระอาจจะหยิบยื่นอาหารบิณฑบาตที่ตนยังไม่ได้ฉันให้แก่บุคคลดังต่อไปนี้ได้ คือ –

๑ บิดามารดาของตนเอง

๒ คนที่ปฏิบัติบิดามารดาของภิกษุรูปนั้น

๓ ไวยาวัจกร คือคนที่พระมอบหมายให้ทำงานบางอย่างแทนพระ หรือผู้ที่อยู่รับใช้ทำกิจของวัด

๔ คนเตรียมบวชที่มาอยู่ในวัด ซึ่งกำลังฝึกหัดกิริยามารยาทหรือวัตรปฏิบัติต่างๆ เพื่อเตรียมที่จะเป็นพระ เรียกเป็นศัพท์ว่า “ปัณฑุปลาส” คือที่เราเรียกกันว่า “นาค” นั่นเอง

๕ คนร้ายที่บุกเข้ามาในวัด ซึ่งอาจทำอันตรายแก่พระ หรือทำเหตุเสียหายให้แก่วัดได้ เรียกเป็นศัพท์ว่า “ทามริก”

๖ เจ้านาย หรือผู้ปกครองบ้านเมือง ซึ่งผ่านเข้ามา และเป็นบุคคลที่อาจสนับสนุนหรือทำลายพระศาสนาได้ ในคัมภีร์ใช้คำว่า “อิสรชน”

ที่มา:

สมันตปาสาทิกา ภาค ๑ ตติยปาราชิกวัณณนา BUDSIR VI อ.๑/๕๗๘

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่ม ๒ หน้า ๔๓๖

…………..

ขยายความ:

เรามักเข้าใจกันแต่เพียงว่า พระบิณฑบาตมาเลี้ยงพ่อแม่ได้ หมายถึงเอาอาหารบิณฑบาตที่ยังไม่ได้ฉันให้พ่อแม่กินก่อนได้ 

คราวนี้ก็ได้รู้แล้วว่า นอกจากพ่อแม่แล้วยังมีคนประเภทอื่นอีกที่ “กินก่อนพระ” ได้

บางประเภทน่าพิจารณาเป็นพิเศษ เช่น คนที่ปฏิบัติบิดามารดาของภิกษุรูปนั้น

ข้อยกเว้นสำหรับคนประเภทนี้บอกนัยให้รู้ว่า การเลี้ยงดูพ่อแม่นั้นพระไม่ต้องทำด้วยตัวเองไปเสียทุกเรื่อง บางเรื่องที่ขัดต่อพระวินัยก็สามารถอาศัยไหว้วานให้คนอื่นๆ ทำแทนได้

อย่างกรณีพระอาบน้ำถูเนื้อถูตัวประแป้งให้โยมแม่ ที่เราเคยเห็นภาพทางเฟซบุ๊ก แล้วก็มีผู้นิยมชมชื่นว่าพระท่านทำดีแล้วถูกแล้ว (ทั้งๆ ที่ผิด) นั้น ถ้าคิดว่าจำเป็นจะต้องทำ ก็ขอแรงชาวบ้านทำแทนได้

คนที่มาทำหน้าที่แทนพระลูกเช่นนี้ พระวินัยท่านอุตส่าห์ยกเว้นให้เป็นกรณีพิเศษ น่าจะอ่านเจตนารมณ์ได้ว่า ก็เพื่อจะอนุเคราะห์ภิกษุให้สามารถรักษาพระวินัยไว้ได้ พร้อมๆ ไปกับที่ยังสามารถปรนนิบัติบำรุงพ่อแม่ของตนได้ตามสมควร

ศึกษาพระวินัยดูเถิด ท่านมีทางออกไว้ให้เสมอ

แม้หากสิ้นแล้วทุกหนทาง ต้องเลือกทางลาสิกขาออกไปเลี้ยงพ่อแม่ เพราะไม่สะดวกต่อการรักษาพระวินัย ท่านก็ยังแนะวิธีทำใจไว้ให้อีกด้วย คือให้ระลึกไว้ว่า แม้เป็นฆราวาสก็ยังมีโอกาสทำบุญเป็นทางไปสวรรค์และเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลต่อไปได้ ใช่ว่าจะสิ้นหนทางเสียเมื่อไร

เราท่านรู้หลักดังนี้แล้ว เวลาเห็นพระทำอะไร จะชมหรือจะติติงก็จะได้มีหลัก ไม่ใช่คิดเอาเองตามใจชอบ

…………..

อีกประเภทหนึ่งคือ ไวยาวัจกร คนประเภทนี้ต้องสละเวลามาช่วยทำกิจบางอย่างแทนพระ กิจบางอย่างจะรอให้พระฉันก่อน ตัวเองกินทีหลังพระแล้วจึงไปทำ อาจเสียผลอันจะพึงมีพึงได้แก่สงฆ์เป็นส่วนรวม ท่านจึงอนุญาตให้กินก่อนพระได้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ไม่เป็นบาป

…………..

ปัณฑุปลาส คือคนเตรียมบวช ที่คำไทยนิยมเรียกว่า “นาค” นั้น คนเดี๋ยวนี้อาจไม่รู้จัก เพราะเวลานี้บวชเร็วสึกเร็ว แต่สมัยก่อนมีให้เห็นทั่วไป 

คือสมัยก่อน ใครจะบวชต้องไปอยู่วัดก่อนเพื่อฝึกซ้อมพิธีอุปสมบท ฝึกหัดกิริยามารยาท และทดลองปฏิบัติกิจวัตรบางอย่าง เช่นไหว้พระสวดมนต์ และอดอาหารมื้อเย็นเป็นต้น อาจอยู่เป็นเดือนๆ ก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่พระอุปัชฌาย์หรือพระที่ควบคุมดูแลจะเห็นสมควร 

ระหว่างเป็นนาคอยู่วัดนี้จึงเป็นการ “วัดใจ” ไปในตัวว่าสู้แน่หรือเปล่า บางคนอาจเปลี่ยนใจไม่บวชไปเสียก็ได้

ที่พระวินัยอนุญาตให้คนเป็นนาคกินก่อนพระได้ก็เพราะท่านเห็นความสำคัญของการออกบวช และต้องการกล่อมใจนาคให้โอนอ่อนมาในการบวชนั่นเอง 

มีคนตั้งใจออกบวชคนหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นกำไรของพระศาสนา คือเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าพระศาสนาทำประโยชน์ให้มนุษย์ด้วยการสนับสนุนให้ดำเนินสู่ทางพ้นทุกข์ได้จริง เมื่อเขาตั้งใจบวช พระวินัยก็จึงควรอำนวยความสะดวกให้เขาตามสมควร นี่คือเหตุผลที่อนุญาตให้นาคกินก่อนพระได้

…………..

ส่วนโจรร้ายและเจ้านายผู้ปกครองบ้านเมือง เหตุผลมีชัดเจนอยู่แล้ว

ในคัมภีร์มีเรื่องเล่าประกอบไว้ในที่อื่นๆ แสดงให้เห็นความสำคัญของการต้อนรับปฏิสันถารว่าถ้าจัดการให้ดีก็เกิดผลดีเกินคาด

เช่นเรื่องหนึ่ง โจรยกพวกจะมาปล้นวัด หลวงพ่อเจ้าอาวาสสั่งให้จัดข้าวปลาอาหารเลี้ยง โจรกินข้าวอิ่มแล้วเปลี่ยนใจ จากตั้งใจมาปล้นวัดกลับอาสาเป็น รปภ.ประจำวัด

อีกเรื่องหนึ่ง พระเจ้าแผ่นองค์หนึ่งถูกปฏิวัติ ต้องหนีเข้าป่า พระวัดป่าท่านก็ช่วยสงเคราะห์ให้ที่อยู่ที่กินในฐานคนหนีร้อนมาพึ่งเย็น ภายหลังพระเจ้าแผ่นดินกลับไปชิงราชสมบัติคืนได้ คราวนี้ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาเป็นการใหญ่เพราะทรงนึกถึงบุญคุณที่พระเคยช่วยท่าน

ใครบ้างควรกินก่อนพระได้ มีเหตุผลดังที่บรรยายมา

—————–

สรุป

มีคำกล่าวเตือนสติพระสงฆ์ว่า

มีบาตรไม่โปรด

มีโบสถ์ไม่ลง

มีอาบัติไม่ปลง

เป็นสงฆ์อยู่ได้อย่างไร

เงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งของการบวชคือ ต้องมีอัฐบริขาร (บริขาร ๘) ครบ ถ้ามีไม่ครบก็บวชไม่ได้ 

๑ ใน ๘ ก็คือบาตร 

จึงเป็นการยืนยันว่าเป็นพระต้องบิณฑบาตเลี้ยงชีพ 

—————–

ในพระวินัยปิฎกมีพระพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า 

………….

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตริมนุสธรรมอันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง นี้จัดเป็นยอดมหาโจรในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นฉันก้อนข้าวของชาวบ้านด้วยอาการแห่งคนขโมย 

………….

เสยฺโย  อโยคุโฬ  ภุตฺโต 

ตตฺโต  อคฺคิสิขูปโม 

ยญฺเจ  ภุญฺเชยฺย  ทุสฺสีโล

รฏฺฐปิณฺฑํ  อสญฺญโต. 

ก้อนเหล็กแดงดังเปลวไฟ 

กินเข้าไปยังจะดีเสียกว่า

ภิกษุทุศีล ควบคุมตัวเองไม่ได้

ยังจะฉันก้อนข้าวของชาวบ้านอยู่ทำไม

ที่มา :

จตุตถปาราชิก วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๒๓๐ หน้า ๑๗๐-๑๗๑

พระพุทธพจน์ที่ยกมานี้มิได้ประสงค์จะชี้ไปที่ภิกษุประพฤติไม่ดี แต่ประสงค์จะชี้ให้เห็นว่าการดำรงชีพของภิกษุนั้นต้องอาศัย “ก้อนข้าวของชาวบ้าน”

เป็นการย้ำยืนยันว่า เป็นพระต้องบิณฑบาตเลี้ยงชีพ 

ทั้งเป็นการเตือนให้ระลึกต่อไปด้วยว่า บวชแล้วไม่ปฏิบัติขัดเกลาตนเองย่อมผิดวัตถุประสงค์และผิดเจตนาที่ญาติโยมใส่บาตรให้ฉันอยู่ทุกเช้า

—————–

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรกหลังจากตรัสรู้ แทนที่จะเสด็จไปเสวยในวังของพระพุทธบิดาหรือของพระญาติวงศ์ กลับทรงออกบิณฑบาต และตรัสว่า การออกบิณฑบาตเป็นวงศ์ของพระพุทธเจ้า

การปฏิบัติไม่ถูกต้องในเรื่องบิณฑบาต จึงคือการประทุษร้ายวงศ์ของพระพุทธเจ้า

และการไม่ปฏิบัติ คือไม่บิณฑบาตและไม่บริจาค ก็คือการตัดวงศ์ของพระพุทธเจ้า

บัณฑิต-ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์-ผู้อยู่ในวงศ์ของพระพุทธเจ้า ไม่พึงกระทำทั้งสองสถาน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

๑๒:๕๖

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *