พฤษภกาสร [4] (บาลีวันละคำ 952)
พฤษภกาสร [4]
สรุป
“พฤษภกาสร” เป็นกวีนิพนธ์ท่อนหนึ่งจากเรื่อง กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีผู้นิยมนำไปอ้างกันมาก โดยการท่อง การอ่าน หรือการเขียน
“พฤษภกาสร” ท่อนที่นิยมนำไปอ้าง
เขียนตามอักขรวิธีในปัจจุบัน
๏ พฤษภกาสร……..อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง……สำคัญมายในกายมี
๏ นรชาติวางวาย…..มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี…….ประดับไว้ในโลกา๚ะ๛
คำอ่าน :
พฺรึด-สบ-พะ-กา-สอน / อีก-กุน-ชอน-อัน-ปฺลด-ปฺลง
โท-ทน-สะ-เหฺน่ง-คง / สำ-คัน-หฺมาย-ใน-กาย-มี
นอ-ระ-ชาด-ติ-วาง-วาย / ม-ลาย-สิ้น-ทั้ง-อิน-ซี
สะ-ถิด-ทั่ว-แต่-ชั่ว-ดี / ปฺระ-ดับ-ไว้-ใน-โล-กา
ถอดความ :
วัว ควาย ตายแล้วยังมีเขา
ช้างนั้นเล่ายังมีงาทั้งคู่ในตัวมัน
เป็นสิ่งสำคัญบอกให้รู้ (ว่ามันเคยมีชีวิตอยู่ในโลกนี้)
แต่มนุษย์เราเมื่อล่วงลับดับชีวีก็สูญหมด
ชั่วกับดีเท่านั้นที่ยังปรากฏอยู่คู่กับสังคม
(ให้ชาวโลกได้ชื่นชมฤๅชิงชังตามแต่จะทำไว้)
หมายเหตุ :
การถอดความนี้เป็นเพียงจินตนาการที่อาศัยเค้าความในคำประพันธ์เป็นหลัก
แต่ละท่านสามารถถอดความด้วยสำนวนโวหารของตนเองได้ตามปรารถนา ขอเพียงให้ได้ใจความตามตัวบทเท่านั้น
คำเสนอแนะ :
(๑) ศึกษาต้นฉบับให้ถี่ถ้วน ถ้าอ่าน อ่านออกเสียงให้ถูกต้องตามหลักการอ่านคำประพันธ์
(๒) กวีนิพนธ์เรื่องนี้แม้จะถือกันว่าเป็น “คำฉันท์” แต่เมื่อศึกษาตลอดทั้งเรื่องจะเห็นว่าองค์ผู้นิพนธ์มิได้เคร่งครัดคำครุลหุตามกฎของฉันท์นั้นๆ มากนัก คำบางคำจึงสามารถอ่านได้ 2 แบบ เช่น –
พฤษภ
อ่านว่า พฺรึ-สบ ก็ได้ (พฺรึ- เป็นลหุ)
อ่านว่า พฺรึด-สบ ก็ได้ (พฺรึด- เป็นครุ)
นรชาติ
อ่านว่า นอ-ระ-ชาด- ก็ได้ (นอ- เป็นครุ)
อ่านว่า นะ-ระ-ชาด- ก็ได้ (นะ- เป็นลหุ)
(๓) วรรคที่ต้องระวังคือ “นรชาติวางวาย” ตรงคำว่า “–ชาติ-” ต้องอ่านว่า ชาด-ติ-วาง-วาย
วรรคนี้มักอ่านกันว่า นอ-ระ-ชาด-ที่-วาง-วาย ซึ่งผิดจากต้นฉบับ เพราะในต้นฉบับไม่มีคำว่า “ที่” ข้อผิดพลาดนี้เกิดจากไม่ได้ศึกษาถึงต้นฉบับให้ถูกต้องนั่นเอง
(๔) ก่อนหรือหลังอ่านจบ ควรบอกที่มาไว้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐานและเป็นการเทิดพระเกียรติองค์ผู้นิพนธ์
เคยเห็นบางท่านบอก “ที่มา” ว่า “คัดมาจากหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ…” แบบนี้ไม่ใช่ “ที่มา” ที่ถูกต้อง
“ที่มา” นั้นต้องเป็นที่มาต้นเดิม (-จากเรื่อง กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส-) ไม่ใช่จากหนังสือหรือ website ที่มีผู้นำมาอ้างอีกทีหนึ่ง
(๕) เมื่อนำไปเขียน ต้องเขียนให้ถูกต้องตามแบบแผนของคำประพันธ์ สะกดการันต์ถูกต้องตามอักขรวิธีที่ยุติในปัจจุบัน เว้นไว้แต่กรณีศึกษาที่ต้องการอ้างอิงการสะกดคำตามต้นฉบับเดิม
ประลองภูมิ :
————–
โคโณ มหิสฺโส จ มรนฺติ นาโค
โททนฺตสิงฺคา อวสนฺติ เตสํ
นรชาติรูปา วิลยนฺติ สพฺเพ
มณฺเฑติ โลกํ สกปุญฺญปาปํ.
————–
(๑) ขอเชิญผู้รู้ภาษาบาลีแปลคาถาข้างบนนี้ “โดยพยัญชนะ” และ “โดยอรรถ” ตามแบบแผนของการศึกษาภาษาบาลีในเมืองไทย (แปลทั้งสองแบบ)
(๒) มีค่าบูชาครูเป็นบำเหน็จตามประสายากแก่สำนวนที่แปลได้ดีที่สุด
(๓) ไม่มีกำหนดหมดเขตจนกว่าจะแจ้งให้ทราบ
—————
: เติมสาระให้เฟซบุ๊ก ร่วมสนุกแปลบาลี
#บาลีวันละคำ (952)
26-12-57