บาลีวันละคำ

ดลบันดาล (บาลีวันละคำ 953)

ดลบันดาล

อ่านว่า ดน-บัน-ดาน

คำนี้มีคำที่หน้าตาคล้ายบาลี คือ “ดล” และ “ดาล

ดล” บาลีเป็น “ตล” (ตะ-ละ) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งสิ่งของ” หมายถึง –

(1) พื้นราบ (flat surface), ระดับ, พื้น, ฐาน (level, ground, base)

(2) ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า (the palm of the hand or the sole of the foot)

ดาล” บาลีเป็น “ตาล” (ตา-ละ) แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่ตั้งอยู่” (คือยืนต้นอยู่เหมือนตั้งไว้) หมายถึง ต้นตาล

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตาล” ว่า the palmyra tree (fan palm), Borassus flabelliformis (ต้นตาล (ใบลาน), ปาล์มชนิด Borassus flabellifer L. ในวงศ์ Palmae)

คำว่า “ตาล” ที่เราใช้เรียกกันนั้นเป็นภาษาบาลี คำไทยน่าจะเรียกว่า “โตนด” (ตะ-โหฺนด)

เมื่อดูความหมายของคำว่า “ดลบันดาล” แล้ว ปรากฏว่า ทั้ง “ดล” และ “ดาล” ไม่ใช่คำที่มาจากบาลี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ดลบันดาล : (คำกริยา) ให้มีให้เป็นหรือไม่ให้มีไม่ให้เป็น เช่น ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์จงดลบันดาลให้ประสบความสําเร็จหรือให้แคล้วคลาดจากภัยอันตราย.

(2) ดล ๓ : (คำกริยา) ให้เป็นไป, ทําให้แล้ว, ตั้งขึ้น, เผอิญให้เป็นไป, บันดาลให้เป็นไป.

(3) ดาล ๒ : (คำกริยา) เกิดขึ้น, เป็นขึ้น, มีขึ้น.

(4) บันดาล : (คำกริยา) ให้เกิดมีขึ้นเป็นขึ้นด้วยแรงอํานาจของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น บุญบันดาล บันดาลโทสะ.

ข้อสังเกต :

ในช่วงเวลาปีใหม่ก็ดี การให้พรกันในโอกาสอื่นใดก็ดี เรามักจะได้ยินผู้คนอวยพรกันด้วยถ้อยคำทำนองนี้ :

“ขอคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายโปรดดลบันดาลให้ท่านประสบแต่ความสุขความเจริญ……”

ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลนั้นพอฟังได้ เพราะ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่แต่ละคนเชื่อถืออาจมีอำนาจดลบันดาลได้จริง

แต่ที่ขอให้พระรัตนตรัยดลบันดาลนั้น หมายความว่าอย่างไร ?

พระรัตนตรัยคือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ รวมเรียกว่า “พระพุทธศาสนา

คำสอนที่แท้จริงในพระพุทธศาสนานั้นสอนให้ทุกคนลงมือทำให้สำเร็จด้วยตัวเอง ไม่ใช่รอผลดลบันดาล

ในพุทธประวัติในพระไตรปิฎกเถรวาทไม่เคยปรากฏว่าพระพุทธเจ้าทรง “ดลบันดาล” ให้ใครประสบความสุขความเจริญหรือความสำเร็จ มีแต่ที่ตรัสว่า ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกทาง จะไปถึงจุดหมายท่านทั้งหลายต้องเดินไปเอง

พระอรหันตสาวกทุกองค์ พระพุทธเจ้าไม่เคยช่วยดลบันดาลให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นอกจากตรัสสอนวิธีการแล้วให้แต่ละท่านนำไปปฏิบัติเอาเอง

บางทีเราก็พูดกันเพลินไป และคำพูดนั้นกลับขัดแย้งกับคำสอนในพระพุทธศาสนาเสียเองโดยไม่ทันได้พิจารณา

: ทำดี สำเร็จเป็นดีทันใด ไม่ต้องรอให้ใครมาดลบันดาล

#บาลีวันละคำ (953)

27-12-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *