บาลีวันละคำ

กุลทูสกะ (บาลีวันละคำ 1,716)

กุลทูสกะ

คำพระที่ควรจะรู้จัก

อ่านว่า กุ-ละ-ทู-สะ-กะ

ประกอบด้วย กุล + ทูสกะ

(๑) “กุล

บาลีอ่านว่า กุ-ละ รากศัพท์มาจาก

(๑) “กุล

รากศัพท์มาจาก กุลฺ (ธาตุ = ผูก, พัน, นับ) + ปัจจัย, ลบ

: กุลฺ + = กุล แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่เป็นเครื่องผูกพัน” “เชื้อสายที่ผูกพันกัน” “เชื้อสายอันเขานับรวมไว้

กุล” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง –

(1) ตระกูล, วงศ์, สกุลผู้ดี (clan, a high social grade, good family)

(2) ครอบครัว, บ้าน, ประชาชน (household, house, people)

(๒) “ทูสกะ

บาลีเขียน “ทูสก” อ่านว่า ทู-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก ทุสฺ (ธาตุ = ประทุษร้าย) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (ทุสฺ > ทูส)

: ทุสฺ + ณฺวุ > อก = ทุสก > ทูสก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประทุษร้าย

อีกนัยหนึ่ง รากศัพท์มาจาก ทูสฺ (ธาตุ = ทำลาย) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: ทูสฺ + ณฺวุ > อก = ทูสก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำลาย

ทูสก” (คุณศัพท์) หมายถึง ทุจริต, ทำให้เสื่อมเสีย, ผู้หมิ่นประมาทหรือทำให้แปดเปื้อน; ขโมย, ขบถ (corrupting, disgracing, one who defiles or defames; a robber, rebel)

กุล + ทูสก = กุลทูสก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประทุษร้ายตระกูล” หรือ “ผู้ทำลายตระกูล

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กุลทูสก” ว่า –

one who brings a family into bad repute (ผู้ทำให้ตระกูลเสียชื่อ, ผู้ประทุษร้ายตระกูล)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “กุลทูสก” ไว้ด้วย บอกคำอ่านว่า กุ-ละ-ทู-สก และบอกความหมายไว้ดังนี้ –

กุลทูสก : (คำนาม) ผู้ประทุษร้ายต่อตระกูล หมายถึงภิกษุที่ประจบตระกูลต่าง ๆ ด้วยอาการที่ผิดวินัย. (ป.).”

โปรดสังเกตว่า “กุลทูสก” ที่พจนานุกรมฯ เก็บไว้นี้ รูปคำตรงกับบาลี

บาลีอ่านว่า กุ-ละ-ทู-สะ-กะ

ภาษาไทย (ตามพจนานุกรมฯ) อ่านว่า กุ-ละ-ทู-สก

ถ้าเทียบกับคำว่า “กุลูปกะ” (#บาลีวันละคำ (1,715) 13-2-60) ซึ่งพจนานุกรมฯ ยังไม่ได้เก็บไว้ ถ้าพจนานุกรมฯ เก็บคำนี้ก็น่าจะเก็บในรูปคำว่า “กุลูปก” (ไม่มีสระ อะ หลัง –ปก) และต้องบอกคำอ่านในภาษาไทยว่า กุ-ลู-ปก จึงจะสอดคล้องกับ “กุลทูสก

อย่างไรก็ตาม ในวงการภาษาวัด “กุลูปก” นิยมเขียนเป็น “กุลูปกะ” (มีสระ อะ หลัง –ปก) อ่านว่า กุ-ลู-ปะ-กะ

และ “กุลทูสก” นิยมเขียนเป็น “กุลทูสกะ” อ่านว่า กุ-ละ-ทู-สะ-กะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “กุลทูสกะ” ไว้ดังนี้ –

กุลทูสกะ : “ผู้ประทุษร้ายตระกูล” หมายถึง ภิกษุผู้ประจบคฤหัสถ์ เอาใจเขาต่างๆ ด้วยอาการอันผิดวินัย มุ่งเพื่อให้เขาชอบตนเป็นส่วนตัว เป็นเหตุให้เขาคลายศรัทธาในพระศาสนาและเสื่อมจากกุศลธรรม เช่นให้ของกำนัลเหมือนอย่างคฤหัสถ์เขาทำกัน ยอมตัวให้เขาใช้ เป็นต้น.”

…………..

อภิปราย :

กุลทูสกะ” รูปศัพท์และคำแปลชวนให้เข้าใจว่า หมายถึงผู้โกรธเคืองตระกูลแล้วจึงหาทางทำลายตระกูลนั้นให้ย่อยยับไป

แต่ตามความหมายแล้วหาใช่เช่นนั้นไม่ กลับตรงกันข้าม คือเป็นผู้รักชอบตระกูลนั้นอย่างยิ่ง แล้วทำดีกับเขา หากแต่ว่าวิธีที่ทำนั้นผิดพระธรรมวินัย ที่ท่านเรียกว่า “ประจบคฤหัสถ์” กลับส่งผลร้ายทั้งต่อตระกูลและต่อตัวผู้ทำเอง

ผลร้ายต่อตระกูล คือทำให้เขาเข้าใจผิดว่าการที่พระรับใช้ชาวบ้านเป็นความดี เห็นไปว่าเป็นความมีน้ำใจของพระ กลายเป็นสนับสนุนให้พระประพฤติผิดหน้าที่ แทนที่เขาจะได้บุญ กลับได้บาป

หากเขาศึกษาและรู้ว่าพระทำเช่นนั้นผิดพระธรรมวินัย ก็จะเป็นเหตุให้เขารังเกียจ นอกจากรังเกียจเป็นส่วนตัวแล้วอาจลามไปรังเกียจถึงพระศาสนาอีกด้วย จึงเป็นเหตุให้เขาเสื่อมจากกุศลธรรมที่จะพึงได้พึงถึง

ผลร้ายต่อตัวพระเอง ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นการประพฤติผิดพระธรรมวินัย ที่เราพูดกันว่า ไม่ใช่กิจของสงฆ์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความรักที่ขาดปัญญา

: ในที่สุดก็จะทำลายศรัทธาในรักนั้นเอง

14-2-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย