ฐานะ (บาลีวันละคำ 1,720)
ฐานะ
อยู่ในฐานะหญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง
อ่านว่า ถา-นะ
“ฐานะ” เป็นคำที่ใช้พูดกันในชีวิตประจำวัน แต่ส่วนมากไม่ได้คิดถึงที่ไปที่มาและความหมายอีกหลายอย่างของศัพท์
“ฐานะ” บาลีเขียน “ฐาน” อ่านว่า ถา-นะ รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ฐา + ยุ > อน : ฐา + อน = ฐาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่ตั้งแห่งผล”
“ฐาน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ส่วน [ของสิ่งใดๆ] (place, region, locality, abode, part)
(2) ภาวะ, สถานะ, สภาวะ (state, condition)
(3) ที่ตั้ง (location)
(4) อิริยาบถยืน (standing position)
(5) คุณลักษณะ, คุณภาพ, ตำแหน่ง (attribute, quality, degree)
(6) สิ่ง, ข้อ, จุด; ฐานะ, หนทาง, ประการ, เหตุผล [สำหรับการถือเช่นนั้น] (thing; item, point; grounds, ways, respects, [assumption] reason)
(7) ความคาดคิด, ข้อสมมุติ, หลักการ (supposition, principle)
(8) ทันทีทันใด (at once, immediately) (เช่นในคำว่า “ฐานโส” ซึ่งมักแปลกันว่า “โดยฐานะ” แต่ความหมายจริงๆ ในที่นี้ต้องแปลว่า “โดยพลัน” : “ฐานโส อุปกปฺปติ” = ย่อมสำเร็จโดยพลัน)
บาลี “ฐาน” สันสกฤตเป็น “สฺถาน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สฺถาน : (คำนาม) สถล, ที่, ตำแหน่ง; การอยู่; สมพาท, ความแม้น; อวกาศหรือมัธยสถาน; ที่แจ้งในเมือง, ทุ่ง, ฯลฯ; เรือน, บ้านหรือที่อาศรัย; บริเฉท; บุรี, นคร; สำนักงาร; บท, สถิติ; การหยุด; place, site, situation; staying; resemblance, likeness; leisure or interval; an open place in a town, a plain, &c.; a house, a dwelling; a chapter; a town, a city; an office; degree, station; halt.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“ฐาน ๒, ฐาน-, ฐานะ : (คำนาม) ตำแหน่งหน้าที่ เช่น เธอต้องรับผิดชอบในฐานที่เป็นหัวหน้าห้อง; หลักฐาน, ลำดับความเป็นอยู่ในสังคม เช่น ทุกคนยอมรับรู้ฐานะในสังคมของเขา. (ป.).”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: “ตำแหน่ง” เหมาะสำหรับผู้ทำงานเพื่อประโยชน์ของปวงชน
: แต่ไม่เหมาะสำหรับผู้ทำงานเพื่อให้ตนได้ตำแหน่ง
18-2-60