บาลีวันละคำ

คิหิปฏิบัติ (บาลีวันละคำ 1,729)

คิหิปฏิบัติ

ยาสามัญประจำวัด : ใช้เองก็ได้ บอกให้เขาใช้ก็ดี

อ่านว่า คิ-หิ-ปะ-ติ-บัด

แยกศัพท์เป็น คิหิ + ปฏิบัติ

(๑) “คิหิ

อ่านว่า คิ-หิ รากศัพท์มาจาก คห + อี ปัจจัย

ก) “คห” (คะ-หะ) รากศัพท์มาจาก คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + ปัจจัย

: คหฺ + = คห (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เก็บทรัพย์อันคนนำมาแล้ว” (คนหาทรัพย์มาเก็บไว้ที่นั่น จึงเรียกที่นั่นว่า คห = ที่เก็บทรัพย์) หมายถึง บ้าน (a house)

ศัพท์ที่ใกล้กันอีกคำหนึ่งคือ “เคห” (เค-หะ) รากศัพท์เหมือนกับ “คห” เพียงแต่แปลง อะ ที่ -(ห) เป็น เอ : คห > เคห

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เคห” ว่า a dwelling, hut, house; the household (ที่อยู่อาศัย, กระท่อม, บ้าน; ครัวเรือน)

ข) คห + อี ปัจจัย, แปลง ที่ -(ห) เป็น อิ (คห > คิห), รัสสะ อี ปัจจัยเป็น อิ

: คห + อี = คหี > คิหี > คิหิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีเรือน” หมายถึง ผู้ครองเรือน, คฤหัสถ์, ฆราวาส (a householder, one who leads a domestic life, a layman)

(๒) “ปฏิบัติ

บาลีเป็น “ปฏิปตฺติ” (ปะ-ติ-ปัด-ติ) รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, บรรลุ) + ติ ปัจจัย, แปลงที่สุดธาตุเป็น ตฺ (ปทฺ > ปต)

: ปฏิ + ปทฺ = ปฏิปทฺ + ติ = ปฏิปทฺติ > ปฏิปตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงเฉพาะ” “ที่ไปเฉพาะ” หมายถึง ทาง, วิธี, การปฏิบัติ, วิธีปฏิบัติ, การกระทำ, พฤติการณ์หรือความประพฤติ, ตัวอย่าง (way, method, conduct, practice, performance, behaviour, example)

คิหิ + ปฏิปตฺติ = คิหิปฏิปตฺติ (คิ-หิ-ปะ-ติ-ปัด-ติ) แปลว่า หลักปฏิบัติของผู้ครองเรือน, หลักการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน (practices for the layman; code of morality for the laity)

คิหิปฏิปตฺติ” เขียนแบบไทยเป็น “คิหิปฏิบัติ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้สั้นๆ ว่า –

คิหิปฏิบัติ : ข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์”

…………..

ขยายความ :

คิหิปฏิบัติ” เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือ “นวโกวาท” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

นวโกวาท” เป็นหนังสือสำหรับพระภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ใช้ศึกษา มีเนื้อหาประกอบด้วย –

๑ วินัยบัญญัติ

๒ ธรรมวิภาค

คิหิปฏิบัติ

ผู้ศึกษา “นวโกวาท” ย่อมมีความรู้พระธรรมวินัยเป็นพื้นฐาน จะบวชอยู่ต่อไปก็ได้หลักทางพระศาสนา หรือจะลาสิกขาออกไปก็ได้หลักปฏิบัติสำหรับครองเรือน

หลักธรรมที่องค์ผู้รจนาคัดเลือกมาไว้ใน “คิหิปฏิบัติ” มีดังนี้ –

๑. กรรมกิเลส คือกรรมเครื่องเศร้าหมอง 4 อย่าง

๒. อบายมุข คือเหตุเครื่องฉิบหาย 4 อย่าง

๓. ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือประโยชน์ในปัจจุบัน 4 อย่าง

๔. สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือประโยชน์ภายหน้า 4 อย่าง

๕. มิตตปฏิรูป คือคนเทียมมิตร 4 จำพวก

๖. มิตรแท้ 4 จำพวก

๗. สังคหวัตถุ 4 อย่าง

๘. สุขของคฤหัสถ์ 4 อย่าง

๙. ความปรารถนาของบุคคลในโลกที่ได้สมหมายด้วยยาก 4 อย่าง

๑๐. ธรรมเป็นเหตุให้สมหมาย มีอยู่ 4 อย่าง

๑๑. ตระกูลอันมั่งคั่งจะตั้งอยู่นานไม่ได้เพราะสถาน 4

๑๒. ธรรมของฆราวาส 4

๑๓. ประโยชน์เกิดแต่การถือโภคทรัพย์ 5 อย่าง

๑๔. ศีล 5

๑๕. มิจฉาวณิชชา คือการค้าขายไม่ชอบธรรม 5 อย่าง

๑๖. สมบัติของอุบาสก 5 ประการ

๑๗. ทิศ 6

…………..

คำว่า “นวโกวาท” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แต่คำว่า “คิหิปฏิบัติ” พจนานุกรมฯ ยังไม่ได้เก็บไว้

…………..

ดูก่อนภราดา!

ผิว่าท่านเข้ามาบวชในพระศาสนา แล้วถ้าจะลาสิกขาออกไปตามวิสัยโลก ท่านเลือกที่จะให้คนทั้งหลายพูดถึงท่านเป็นประการใดดี?

: อยู่ก็เป็นศรีแก่พระศาสนา

: ลาสิกขาก็เป็นศรีแก่สังคม

ฤๅว่า

: อยู่ก็เป็นเสี้ยนหนามพระศาสนา

: ลาสิกขาก็เป็นหม-สังคม

27-2-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *