สังฆมณฑล (บาลีวันละคำ 1,741)
สังฆมณฑล
ระวังอย่าเข้าร้านผิด
อ่านว่า สัง-คะ-มน-ทน
ประกอบด้วย สังฆ + มณฑล
(๑) “สังฆ”
บาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ง, แปลง หนฺ เป็น ฆ
: สํ > สงฺ + หนฺ > ฆ : สงฺ + ฆ = สงฺฆ + อ = สงฺฆ แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ”
(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้
“สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –
(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)
(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)
(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)
“สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”
“สงฆ์” ในภาษาไทย อาจหมายถึงภิกษุที่รวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ หมายถึงภิกษุแต่ละรูปก็ได้
(๒) “มณฑล”
บาลีเขียน “มณฺฑล” อ่านว่า มัน-ดะ-ละ รากศัพท์มาจาก มณฺฑฺ (ธาตุ = ประดับ) + อล ปัจจัย
: มณฺฑ + อล = มณฺฑล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประดับ” “สิ่งที่ประดับด้วยส่วนย่อย”
“มณฺฑล” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) วงกลม (circle)
(2) วงกลมของพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ (the disk of the sun or moon)
(3) แผ่น, พื้นที่กลมราบ (a round, flat surface)
(4) พื้นที่ซึ่งกั้นรอบและประกอบกิจหรือมีอะไรเกิดขึ้นในนั้น, เขตวงกลมอันเป็นที่แสดงละครสัตว์ (an enclosed part of space in which something happens, a circus ring)
(5) สิ่งที่อยู่ในขอบเขตหรือเขตจำกัด, กลุ่ม (anything comprised within certain limits or boundaries, a group)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มณฑล : (คำนาม) วง เช่น สุริยมณฑล คือ วงรอบดวงอาทิตย์ จันทรมณฑล คือ วงรอบดวงจันทร์, บริเวณ เช่น มณฑลพิธี, เขตปกครองที่แบ่งออกเป็นส่วนใหญ่ ๆ; พระแท่นที่วงด้ายสายสิญจน์ เรียกว่า พระแท่นมณฑล. (ป., ส.)”
หมายเหตุ :
(1) “มณฺฑล” เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต
(2) “มณฺฑล” ในบาลี เมื่อมีคำอื่นนำ ความหมายจะยักเยื้องไปตามคำนั้นๆ เช่น –
อาปานมณฺฑล = วงเหล้า คือห้องโถง (drinking circle > hall)
กีฬมณฺฑล = วงกีฬา คือการกรีฑา (play-circle > games)
ชูตมณฺฑล = โต๊ะเล่นการพนัน (dicing table)
ยุทฺธมณฺฑล = เวทีสำหรับต่อสู้ (fighting-ring)
ปริมณฺฑล = นุ่งห่มสุภาพเรียบร้อย (dress or cover oneself all round)
สังฆ + มณฑล = สังฆมณฑล แปลตามศัพท์ว่า “วงของสงฆ์” “กลุ่มของสงฆ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้สั้นๆ ว่า –
“สังฆมณฑล : (คำนาม) วงการคณะสงฆ์.”
…………..
อภิปราย :
เมื่อเห็นคำว่า “สังฆ-” หรือ “สงฆ์” เราก็เข้าใจกันว่า หมายถึงพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
ดังนั้น เมื่อเห็นคำว่า “สังฆมณฑล” ทุกคนก็จะเข้าใจว่า หมายถึงขอบเขตการปกครองของคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนาอันมีอยู่ในบ้านเมืองของเรา
แต่โปรดเข้าใจเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า คำว่า “สังฆมณฑล” นี้ ศาสนาคริสต์ได้นำไปใช้เรียกเขตการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทยด้วยแล้ว ดังภาพประกอบบาลีวันละคำวันนี้
เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นคำว่า “สังฆมณฑล” โปรดตรวจสอบให้ชัดเจนแน่นอนก่อน เพื่อป้องกันการเข้าผิดร้าน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่เหลือพระธรรมวินัย
: จะเหลืออะไรในสังฆมณฑล
11-3-60