อุปสงค์ – อุปทาน (บาลีวันละคำ 1,742)
อุปสงค์ – อุปทาน
บัญญัติไว้อย่างหนึ่ง เอาไปใช้อีกอย่างหนึ่ง
อ่านว่า อุ-ปะ-สง อุ-ปะ-ทาน
(๑) “อุปสงค์”
อ่านว่า อุ-ปะ-สง บาลีเป็น “อุปสงฺค” อ่านว่า อุ-ปะ-สัง-คะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค =เข้าไป, ใกล้, มั่น) + สนฺชฺ (ธาตุ = ติดแน่น, เกี่ยวข้อง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง นฺ ที่ (ส)-นฺ-(ชฺ) เป็นนิคหิตแล้วแปลงนิคหิตเป็น งฺ (สนฺชฺ > สํชฺ > สงฺช), แปลง ชฺ ที่สุดธาตุเป็น ค
: อุป + สนฺชฺ = อุปสนฺช + ณ = อุปสนฺชณ > อุปสนฺช > อุปสํช > อุปสงฺช > อุปสงฺค แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปติดแน่น”
ยังไม่พบคำว่า “อุปสงฺค” ในคัมภีร์ พบแต่คำว่า “ปสงฺค” ใช้ในความหมายใกล้เคียงกัน คือ –
(1) การเกาะติด, การโน้มเอียง, การติดพันอยู่ (hanging on, inclination, attachment to)
(2) โอกาส, เหตุการณ์ (occasion, event)
“ปสงฺค” สันสกฤตเป็น “ปฺรสงฺค” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประสงค์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ว่า –
“ประสงค์ : (คำกริยา) ต้องการ, อยากได้; มุ่งหมาย, มุ่ง. (ส. ปฺรสงฺค).”
ผู้บัญญัติศัพท์ว่า “อุปสงค์” น่าจะเล็งความหมายไปที่ “ประสงค์” ในภาษาไทยนั่นเอง แต่เปลี่ยนรูปคำให้ต่างออกไป
(๒) “อุปทาน”
อ่านว่า อุ-ปะ-ทาน บาลีอ่านว่า อุ-ปะ-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค =เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อุป + ทา = อุปทา + ยุ > อน = อุปทาน แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปให้” “การมอบให้” (คือการนำไปให้จนถึงที่)
คำว่า “อุปทาน” ยังไม่พบในคัมภีร์เช่นกัน
…………..
อภิปราย :
คำว่า “อุปสงค์” และ “อุปทาน” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำอังกฤษว่า demand – supply
“อุปสงค์” = demand หมายถึงความต้องการปัจจัยเครื่องดำรงชีพ หรือความต้องการสิ่งใดๆ ก็ตาม
“อุปทาน” = supply หมายถึงความสามารถที่จะตอบสนอง demand หรือ “อุปสงค์” ได้มากน้อยเพียงไร
พจนานุกรม สอ เสถบุตร มีคำว่า supply and demand บอกความหมายไว้ว่า – “ของที่มีขาย กับความต้องการของประชาชน”
คำว่า “อุปสงค์” และ “อุปทาน” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
เฉพาะคำว่า “อุปทาน” พบว่ามักมีผู้เขียนสับสนกับคำว่า “อุปาทาน” คือเจตนาจะให้หมายถึง “อุปาทาน” แต่มักเขียนเป็น “อุปทาน”
คำว่า “อุปาทาน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“อุปาทาน : (คำนาม) การยึดมั่นถือมั่น, การนึกเอาเองแล้วยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ. (ป.).”
จะเห็นได้ว่า เป็นคนละเรื่องคนละความหมายกับ “อุปทาน” โดยสิ้นเชิง
ถ้าจะหมายถึง “การนึกเอาเองแล้วยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ” ต้องใช้คำว่า “อุปาทาน” (-ปา– สระ อา)
ถ้าใช้ว่า “อุปทาน” จะหมายถึงความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการ เป็นคำที่คู่กับ “อุปสงค์”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าท่านไม่พยายามจำกัดความต้องการ
: ไม่นานท่านจะถูกความต้องการกำจัด
12-3-60