บาลีวันละคำ

ศรีสินทร (บาลีวันละคำ 2,315)

ศรีสินทร

แปลว่าอะไร

คำว่า “ศรีสินทร” ในที่นี้เป็นคำหนึ่งใน “พระปรมาภิไธย (อย่างสังเขป) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงรัตนโกสินทร์” เช่น –

“พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” (โปรดดูภาพประกอบ)

ผู้เขียนบาลีวันละคำสงสัยว่า คำว่า “ศรีสินทร” แปลว่าอะไร

ในขณะที่ยังไม่พบคำอธิบาย ขอสันนิษฐานไปพลางก่อนว่า คำนี้เป็นคำบาลีสันสกฤตที่แปลความหมายมาจากคำไทยว่า “พระเจ้าอยู่หัว” นั่นคือมาจากคำว่า “ศีรษ” = หัว และ “อินทร” = ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นใหญ่

(๑) “ศีรษะ

เป็นคำที่เขียนอิงสันสกฤต บาลีเป็น “สีส” อ่านว่า สี-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สี (ธาตุ = อยู่, นอน) + ปัจจัย

: สี + = สีส แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นที่อยู่ของเหาเป็นต้น” (คำแปลนี้เป็นอันแสดงความจริงว่า คนโบราณบนหัวต้องมีเหา คนสมัยใหม่ที่มีวิธีรักษาความสะอาดของหัวเป็นอย่างดีย่อมนึกไม่เห็นว่า “ศีรษะ” จะแปลอย่างนี้ได้อย่างไร)

(2) สิ (ธาตุ = ผูก) + ปัจจัย, ทีฆะ อิ ที่ สิ เป็น อี (สิ > สี)

: สิ + = สิส > สีส แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นที่ผูกผมโดยเกล้าเป็นมวย

สีส” (นปุงสกลิงค์) ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ศีรษะ (the head [of the body])

(2) ส่วนสูงที่สุด, ยอด, ข้างหน้า (highest part, top, front)

(3) ข้อสำคัญ (chief point)

(4) ดอก, รวง (ของข้าวหรือพืช) (panicle, ear [of rice or crops])

(5) หัว, หัวข้อ (เป็นข้อย่อยของเรื่อง) (head, heading [as subdivision of a subject])

ข้อสังเกต :

โปรดสังเกตว่า “สีส” ในบาลี เป็น “ศีรฺษ” ในสันสกฤต

สีส” บาลี สระ อี อยู่บน

ศีรฺษ” สันสกฤต สระ อี ก็อยู่บน ไม่ได้อยู่บน

ดังนั้น เมื่อเขียนในภาษาไทย จึงเป็น “ศีรษะ” – สระ อี อยู่บน

สีส” ในบาลี เขียนตามเสียงอ่านในภาษาไทยเป็น “สีสะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สีสะ” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –

สีสะ ๒ : (คำนาม) ศีรษะ. (ป.; ส. ศีรฺษ).”

ก็คือบอกว่า ถ้าเขียน “สีสะ” ก็หมายถึง “ศีรษะ” นั่นเอง

ที่คำว่า “ศีรษะ” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

ศีรษะ : (คำนาม) หัว (เป็นคําสุภาพที่ใช้แก่คน). (ส.; ป. สีส)”

เป็นการบอกให้รู้ว่า “ศีรษะ” เป็นรูปคำสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “สีส

ศีรษะ” เขียนแบบสันสกฤตเป็น “ศีรฺษ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศีรฺษ : (คำนาม) ‘ศีร์ษะ,’ ศิรัส, เศียร, หัว; the head.”

(๒) “อินทร

บาลีเป็น “อินฺท” (อิน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อิทิ (ธาตุ = เป็นใหญ่ยิ่ง) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงนิคหิตเป็น นฺ (อิทิ > อึทิ > อินฺทิ), “ลบสระหน้า” คือ อิทิ + ลบ อิ ที่ (อิ)-ทิ (อิทิ > อิท)

: อิทิ > อึทิ > อินฺทิ > อินฺท + = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง” คือ “ผู้กระทำความเป็นใหญ่ยิ่ง

(2) อินฺท (ธาตุ = ประกอบ) + ปัจจัย

: อินฺท + = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบด้วยความยิ่งใหญ่

อินฺท” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา (lord, chief, king)

(2) พระอินทร์ตามคัมภีร์พระเวท (The Vedic god Indra)

บาลี “อินฺท” สันสกฤตเป็น “อินฺทฺร” ไทยมักใช้ตามสันสกฤตเป็น “อินทร” (ใช้เป็น “อินท” ก็มี)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อินฺทฺร : (คำนาม) พระอินทร์, เจ้าสวรรค์, เทพดาประจำทิศตะวันออก; Indra, the supreme deity presiding over Svarga, the regent of the east quarter.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อินทร-, อินทร์ : (คำนาม) ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชั้นจาตุมหาราช; ผู้เป็นใหญ่. (ส.; ป. อินฺท).”

ความผิดแผลงของคำ :

สีส + อินฺท = สีสินฺท แปลว่า “ผู้เป็นเจ้าเหนือหัว” = พระเจ้าอยู่หัว

สีสินฺท” แผลงตามสันสกฤตควรเป็น “ศีรษินทร” อ่านเท่าที่ตาเห็นว่า สี-สิน-ทฺระ

คำอ่านว่า สี-สิน-ทฺระ นี้ถ้าฟังแต่เสียงแล้วให้เขียนตามคำบอก

สี” คนจะต้องเขียนเป็น “ศรี” เพราะเป็นรูปคำที่คุ้นเคยอย่างยิ่ง

สิน-ทฺระ” คนส่วนมากจะนึกไม่ออกว่ารูปศัพท์ควรเป็นอย่างไร ดังนั้นก็คงจะเขียนตามเสียงไปตรงๆ ว่า “สินทร

ด้วยเหตุผลตามแนวนึกเช่นนี้ สีสินฺท > ศีรษินทร จึงกลายเป็น “ศรีสินทร” ตามที่ปรากฏ

ขอย้ำว่า ทั้งหมดนี้เป็นการสันนิษฐานตามแนวนึกเท่านั้น ยังไม่ได้คำนึงถึงข้อแย้งที่ว่า ถ้อยคำสำคัญระดับชาติเช่นนี้ และผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็ล้วนเป็นผู้ทรงภูมิรู้ด้านภาษาเป็นอย่างดียิ่งทั้งสิ้น ท่านจะปล่อยให้มีการผิดแผลงของคำเช่นนี้ได้เชียวหรือ

ดีร้าย “ศรีสินทร” น่าจะมีที่มาจากคำอื่นกระมัง?

ข้อแย้งนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำมีทางที่จะแถลงแก้ได้อย่างหนึ่งว่า คนรุ่นเก่า-ก่อนที่จะมีพจนานุกรม-ท่านเขียนหนังสือโดยมุ่งความสวยงามของตัวอักษร ดังที่เราเรียกกันว่า “ลายมือ” เป็นสำคัญ การสะกดการันต์เป็นรอง ถ้าใครอ่านสมุดข่อย-ใบลานจนคุ้น ก็จะพบความจริงที่กล่าวนี้

เช่นคำที่เราเขียนว่า “ขออภัย” สมุดข่อย-ใบลานที่คนรุ่นเก่าเขียนท่านสะกดหลากหลายรูป เช่น ขออะภัย ขออาภัย ขออะไพ ขออาไพ หรือแม้แต่ ขออำภัย ก็มี และทุกคำท่านถือว่าถูกต้อง

ดังนั้น การที่ สีสินฺท > ศีรษินทร กลายเป็น “ศรีสินทร” จึงยังมีทางที่จะเป็นไปได้อยู่

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีหลักฐานที่มาที่ชัดเจนแน่นอนของคำนี้ ขอท่านผู้รู้ได้โปรดนำมาแสดง ทั้งนี้เพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

เมื่อใด ผู้คนผู้คนในสังคม —

: ช่วยกันเทิดคนดีมีคุณธรรมไว้เหนือหัว

: ช่วยกันเหยียบคนชั่วไว้ใต้ฝ่าเท้า

เมื่อนั้น สังคมจะร่มเย็นเป็นสุข

#บาลีวันละคำ (2,315)

14-10-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย