บาลีวันละคำ

วดี ในคำไทย (บาลีวันละคำ 1,743)

วดี ในคำไทย

มาจากคำอะไรในบาลี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) วดี ๑ : (คำนาม) รั้ว, กําแพง. (ป. วติ; ส. วฺฤติ).

(2) วดี ๒ : (คำนาม) คําเติมท้ายคําอื่นที่เป็นนาม หมายความว่า มี เป็นเพศหญิงตามหลักไวยากรณ์ เช่น ดาราวดี ว่า มีดาว.

ได้ความตามพจนานุกรมฯ ว่า “วดี” ในคำไทย มาจาก –

(๑) “วติ” ในบาลี ซึ่งสันสกฤตเป็น “วฺฤติ

(๒) เป็นคำเติมท้ายคำนามเพศหญิง แปลว่า “มี”

(๑) “วติ” ในบาลี

อ่านว่า วะ-ติ รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาตุ = ห้าม, ปิดกั้น) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (วรฺ > )

: วรฺ + ติ = วรติ > วติ (: วรฺ > + ติ = วติ) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องกั้น

วติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) รั้ว (a fence)

(2) สิ่งที่เลือก, สิ่งที่เป็นคุณหรือได้ประโยชน์ (a choice, boon)

บาลี “วติ” สันสกฤตเป็น “วฺฤติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

วฺฤติ : (คำนาม) การเลือก; การขอ, การเชิญ; การแวดล้อม; การซ่อนหรือปิดบัง; selecting; asking, requesting; surrounding; hiding.”

โปรดสังเกต :

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน (คนไทยทำ) “การเลือก” แปลเป็นอังกฤษว่า selecting

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ (ฝรั่งทำ) แปล “วติ” เป็นอังกฤษคำหนึ่งว่า a choice (สิ่งที่เลือก)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปล “วฺฤติ” คำหนึ่งว่า “การแวดล้อม” (surrounding)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วติ” เป็นอังกฤษคำหนึ่งว่า a fence (รั้ว)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน: วฺฤติ = การแวดล้อม > surrounding

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ: วติ = รั้ว > a fence

(๒) คำเติมท้ายคำนามเพศหญิง แปลว่า “มี”

ในบาลีมี “ปัจจัย” ตัวหนึ่ง คือ “วนฺตุ” (วัน-ตุ) ลงท้ายคำนาม ทำให้นามคำนั้นแปลว่า “มี-” (ต่อด้วยคำแปลนามคำนั้น) เช่น –

ภค” (พะ-คะ) แปลว่า โชค (โชคดี)

ภค + วนฺตุ = ภควนฺตุ แปลว่า ผู้มีโชคดี

ภควนฺตุ” เป็นปุงลิงค์ (คำนามเพศชาย = คำที่หมายถึงชาย) นำไปแจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ได้รูปเป็น “ภควา” เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้าที่เราคุ้นกันดี นิยมแปลกันว่า “พระผู้มีพระภาค” มีความหมายว่า พระผู้มีโชค

ถ้าจะทำให้เป็นคำนามเพศหญิง ต้องแปลง “วนฺตุ” ปัจจัยเป็น “วนฺตี” เช่น –

ภค + วนฺตี = ภควนฺตี

ภควนฺตี” นำไปแจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง เอกพจน์ ได้รูปเป็น “ภควตี” (พะ-คะ-วะ-ตี)

ภควตี” เขียนแบบไทยเป็น “ภควดี” แปลว่า หญิงผู้มีโชค

นี่คือที่พจนานุกรมฯ บอกว่า “วดี” เป็น “คําเติมท้ายคําอื่นที่เป็นนาม หมายความว่า มี เป็นเพศหญิงตามหลักไวยากรณ์” (ดูข้างต้น)

เมื่อไปเห็นคำที่ลงท้าย –วดี พึงเทียบเคียงโดยนัยนี้

…………..

อภิปราย :

ในสมัยพุทธกาล เศรษฐีคนหนึ่งตั้งโรงทานแจกอาหารแก่คนอนาถา คนที่มารับอาหารมักเบียดเสียดกันเข้ามารับ ส่งเสียงเอะอะอื้ออึงโกลาหลทุกวัน

ต่อมา ท่านเศรษฐีรับลูกสาวของเพื่อนมาเป็นลูกบุญธรรม หญิงสาวคนนี้ชื่อ “สามา” เป็นคนฉลาด คิดทำรั้วกั้นเป็นแนวยาว ให้คนที่มารับอาหารเดินเรียงกันเข้าไปตามรั้ว เข้าทางหนึ่ง ออกทางหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมาการแจกอาหารที่บ้านท่านเศรษฐีก็เป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นอันดี

คนทั้งหลายจึงเรียกนาง “สามา” ว่า “สามาวตี” แปลว่า สามาผู้ทำรั้ว คนไทยรู้จักหญิงสาวคนนี้ในนาม “สามาวดี

แนวคิดทำรั้วของนางสามาวดีน่าจะเป็นต้นกำเนิดของระบบเข้าคิวที่ใช้กันทั่วโลก

สมัยหนึ่งเมื่อราวเกือบหนึ่งศตวรรษที่ล่วงมา หญิงไทยจำนวนมากเกิดอาการ “วดี-fever” คือนิยมตั้งชื่อให้มีคำลงท้ายว่า “วดี” เช่น ประทุมวดี ประภาวดี ลีลาวดี ผกาวดี ว่ากันว่าแม้แต่ชื่อไทยดีๆ อยู่แล้ว เช่น “งามตา” เจ้าของชื่อก็แทบจะขอเปลี่ยนเป็น “งามตาวดี” นั่นเทียว

นักเขียนชื่อดังท่านหนึ่ง คือครูอบ ไชยวสุ ถึงกับตั้งนามปากกาล้อเลียนว่า “ศรีฮูก สุราสิวดี” เป็นเหตุให้มีการอภิปรายกันอย่างครึกครื้นว่า “สุราสิวดี” แปลว่ากระไร

(ดูเพิ่มเติม: “สุราสิวดี”บาลีวันละคำ (1,744) 14-3-60)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การไม่เร่งสร้างความดีขึ้นไว้เป็นรั้ว

: คือการเปิดประตูเชิญความชั่วให้เข้ามาลอยชาย

13-3-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *