บาลีวันละคำ

สุราสิวดี (บาลีวันละคำ 1,744)

สุราสิวดี

ไม่ใช่ “สุราสิวะดี”

อ่านว่า สุ-รา-สิ-วะ-ดี

คำว่า “สุราสิวดี” เป็นคำในนามปากกาของครูอบ ไชยวสุ นักเขียนชื่อดังในอดีตคนหนึ่งของเมืองไทย สมัยหนึ่งสตรีไทยเกิดอาการ “วดี-fever” คือนิยมตั้งชื่อให้มีคำลงท้ายว่า “วดี” เช่น ประทุมวดี ประภาวดี ลีลาวดี ผกาวดี เป็นต้น ท่านจึงตั้งนามปากกาขึ้นล้อเลียนว่า “ศรีฮูก สุราสิวดี” เป็นเหตุให้มีการอภิปรายกันอย่างครึกครื้นว่า “สุราสิวดี” แปลว่ากระไร

คำว่า “สุราสิวดี” คนส่วนใหญ่จะเข้าใจไปตามคำในภาษาไทย คือเป็นประโยคคำพูดว่า “สุราสิวะดี” เหมือนกับมีคำถามว่า อะไรเป็นของดี? ก็มีคนตอบว่า “สุราคือเหล้าสิวะเป็นของดี

เจ้าของนามปากกาอธิบายไว้ในที่แห่งหนึ่งว่า คำว่า “สุราสิวดี

แยกศัพท์เป็น สุร + อสิ + วดี

(๑) “สุร

สุร” ในความหมายนี้ บาลีเป็น “สูร” (สู-ระ สู- สระ อู) รากศัพท์มาจาก สุรฺ (ธาตุ = กล้าหาญ) + ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ สุ-(รฺ) เป็น อู (สุรฺ > สูร)

: สุรฺ + = สุร > สูร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กล้าหาญ

สูร” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) วีรบุรุษ, คนกล้า (a hero, a valiant man)

(2) กล้าหาญ, แกล้วกล้า (valiant, courageous)

(3) ความกล้าหาญ (valour)

บาลี “สูร” ภาษาไทยใช้เป็น “สุร” (สุ- สระ อุ) ก็มี คงเป็น “สูร” ก็มี ในที่นี้ใช้เป็น “สุร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สุร– ๑ : (คำนาม) ผู้กล้าหาญ, นักรบ; พระอาทิตย์. (คำวิเศษณ์) กล้าหาญ, เข้มแข็ง. (ป. สูร; ส. ศูร).”

(๒) “อสิ

บาลีอ่านว่า อะ-สิ รากศัพท์มาจาก –

(1) อสฺ (ธาตุ = ซัด, ขว้าง; พินาศ) + อิ ปัจจัย

: อสฺ + อิ = อสิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ศัสตราอันเขาฟาดไป” (2) “ศัสตราที่ยังสัตว์ให้พินาศ

(2) อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + สิ (ธาตุ = ตัด) + อิ ปัจจัย, รัสสะ อา เป็น

: อา + สิ = อาสิ + อิ = อาสิ > อสิ แปลตามศัพท์ว่า “ศัสตราที่ตัด คือบั่นศีรษะเป็นต้นของศัตรูและผู้มีความผิดมหันต์ด้วยอำนาจความโกรธยิ่ง

อสิ” (ปุงลิงค์) หมายถึง ดาบ, มีดใหญ่ (a sword, a large knife)

(๓) “วดี

บาลีเป็น “วติ” อ่านว่า วะ-ติ รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาตุ = ห้าม, ปิดกั้น) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (วรฺ > )

: วรฺ + ติ = วรติ > วติ ( : วรฺ > + ติ = วติ) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องกั้น

วติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) รั้ว (a fence)

(2) สิ่งที่เลือก, สิ่งที่เป็นคุณหรือได้ประโยชน์ (a choice, boon)

วติ” ในบาลี เป็น “วฺฤติ” ในสันสกฤต และเป็น “วดี” ในภาษาไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) วดี ๑ : (คำนาม) รั้ว, กําแพง. (ป. วติ; ส. วฺฤติ).

(2) วดี ๒ : (คำนาม) คําเติมท้ายคําอื่นที่เป็นนาม หมายความว่า มี เป็นเพศหญิงตามหลักไวยากรณ์ เช่น ดาราวดี ว่า มีดาว.

การประสมคำ :

๑. สุร + อสิ ทีฆะ อะ ที่ -(สิ) เป็น อา = สุราสิ แปลว่า “ดาบของผู้กล้า” “ดาบของนักรบ

๒. สุราสิ + วติ = สุราสิวติ แปลว่า “ผู้มีดาบของผู้กล้าเป็นรั้ว

อธิบายเป็นภาพคนยืนอยู่ตรงกลาง มีรั้วล้อมรอบ แต่รั้วนั้นแทนที่จะเป็นไม้หรือเป็นของอย่างอื่น กลับเป็นดาบของนักรบ คือเอาดาบมาทำเป็นรั้ว หรือมีนักรบถือดาบแวดล้อมเสมือนเป็นรั้วอยู่โดยรอบ ดังนี้แหละจึงเรียกว่า “ผู้มีดาบของผู้กล้าเป็นรั้ว

สุราสิวติ” เขียนแบบไทยเป็น “สุราสิวดี” อ่านว่า สุ-รา-สิ-วะ-ดี

เมื่ออ่านอย่างนี้ ฟังให้เป็นภาษาไทยก็จะได้ความอีกนัยหนึ่ง คือเป็นประโยคคำพูดว่า “สุราสิวะดี” เหมือนกับมีคำถามว่า อะไรเป็นของดี? ก็มีคนตอบว่า “สุราคือเหล้าสิวะเป็นของดี” ดังกล่าวไว้ข้างต้น

สุราสิวดี” จึงแปลเป็นบาลีก็ได้ แปลเป็นไทยก็สนุกดี นับว่าเป็นคำพิเศษได้คำหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ปราศจากวิทยายุทธเข้าสงคราม

นักรบจะสง่างามได้อย่างไร

: ปราศจากพระธรรมวินัย

สมณะจะเสงี่ยมงามในพระศาสนาได้ดังฤๅ

14-3-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *