บาลีวันละคำ

ตรีโลกเชฎฐ์ – ตรีโลกเชษฐ์ (บาลีวันละคำ 972)

ตรีโลกเชฎฐ์ตรีโลกเชษฐ์

ความหมายต่างกันหรือไม่

ทั้งสองคำอ่านว่า ตฺรี-โลก-กะ-เชด

ประกอบด้วย ตรี + โลก + เชฏฐ์ / เชษฐ์

(๑) “ตรี

บาลีเป็น “ติ” และแปลงเป็น “เต” ได้ด้วย แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)

หลักภาษา :

(1) ติ หรือ เต ถ้าคงรูปเช่นนี้ จะต้องมีคำอื่นมาสมาสท้ายเสมอ ไม่ใช้เดี่ยวๆ

(2) ติ หรือ เต ในบาลี มักแผลงเป็น “ตรี” หรือ “ไตร” ในภาษาไทย เช่น

ติ + จีวร = ติจีวร = ไตรจีวร (จีวร 3 ผืน)

ติ + ปิฏก = ติปิฏก = ตรีปิฎก, ไตรปิฎก (คัมภีร์ 3 หมวด = พระไตรปิฎก)

เต + ภูมิ = เตภูมิ > ไตรภูมิ (ภพภูมิทั้ง 3) เช่น “ไตรภูมิพระร่วง” ชื่อเดิมคือ “เตภูมิกถา” (เต + ภูมิ + กถา) หนังสือว่าด้วยภูมิทั้ง 3

เต + มาส = เตมาส = ตรีมาส, ไตรมาส (3 สามเดือน)

(๒) “โลก

๑) ในแง่ภาษา

(1) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก ลุชฺ (ธาตุ = พินาศ) + ปัจจัย แปลง เป็น แผลง อุ เป็น โอ

: ลุชฺ > ลุก > โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป

(2) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก ลุจฺ (ธาตุ = ย่อยยับ, พินาศ) + ปัจจัย แปลง เป็น แผลง อุ เป็น โอ

: ลุจฺ > ลุก > โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะย่อยยับไป

(3) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก โลก (ธาตุ = เห็น, ปรากฏ) + ปัจจัย

: โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างอันเขาเห็นอยู่

(4) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก โลก (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ปัจจัย

: โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างเป็นที่ตั้งอยู่แห่งบุญบาปและผลแห่งบุญบาปนั้น

๒) ในแง่ความหมาย

(1) โลก หมายถึง ดินแดน แผ่นดิน วัตถุธาตุ หรือดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง คือโลกที่เรามองเห็นและอาศัยอยู่นี้ รวมทั้งดาวดวงอื่น

(2) โลก หมายถึง สิ่งมีชีวิต เช่นคน สัตว์ เช่นในคำว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

(3) โลก หมายถึง สังคม หมู่ชน ชุมชน เช่นในคำว่า โลกติเตียน เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

(4) โลก หมายถึง ชีวิต อันประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ของแต่ละคน ที่สำนวนเก่าเรียกว่า “โลกคือกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก”

(5) โลก หมายถึงวิสัยหรือธรรมดาของโลก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบ พราก ได้ เสีย อิ่ม อด สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์

(6) โลก หมายถึง ค่านิยม ความคิดจิตใจ ความประพฤติแบบหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับ “ธรรม” เช่น ดื่ม กิน เที่ยว เสพสุข เป็น “โลก” สงบ สำรวม ควบคุมขัดเกลาตนเอง เป็น “ธรรม

(7) โลก หมายถึง ภพภูมิที่อุบัติของผู้ทำกรรมต่างๆ กัน เช่น นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน เทวดา มาร พรหม

โลก” บางความหมายขึ้นอยู่กับความเห็นและความเชื่อ

โลก” บางความหมายไม่ขึ้นกับความเห็นและความเชื่อ หมายความว่า ไม่ว่าใครจะเห็นอย่างไรหรือเชื่ออย่างไร “โลก” ก็มีก็เป็นอย่างที่มีที่เป็น ไม่ใช่มีหรือเป็นอย่างที่ใครเชื่อ

(๓) “เชฏฐ์ / เชษฐ์

บาลีเป็น “เชฏฺฐ” (เชด-ถะ) แปลตามศัพท์ว่า “คนที่เจริญโดยวิเศษกว่าคนที่เจริญคนนี้ ๆ” หมายถึงเจริญที่สุด หรือประเสริฐที่สุด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายตามรากศัพท์ว่า “stronger than others” (แข็งแรงกว่าผู้อื่น) และบอกความหมายว่า better (than others), best, first, supreme; first-born; elder brother or sister, elder, eldest (ดีกว่า (สิ่งหรือผู้อื่น), ดีที่สุด, เลิศ, ยอด; หัวปี; พี่ชายหรือพี่สาวคนโต, แก่กว่า, แก่ที่สุด)

เชฏฺฐ สันสกฤตเป็น “เชฺยษฺฐ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า (สะกดตามต้นฉบับ) –

เชฺยษฺฐ : (คำคุณศัพท์) ดียิ่ง, วิเศษยิ่ง, ประเสริฐ, บรม; แก่ยิ่ง, เก่ายิ่ง; เกิดก่อน; best, most excellent, pre-eminent; very old, oldest; or elder born;- น. ดาวหมู่หนึ่งซึ่งนับเป็นนักษัตร นักษัตรหมู่ที่สิบแปด, มีดาวอยู่สามดวง ๆ หนึ่งได้แก่ดาวแมลงป่อง; นิ้วกลาง; ทุกข์อันโรปยติเป็นภควดี; แม่น้ำคงคา; จิ้งจก; ชื่อเดือน; ความชรา; one of the astcrisms considered as a lunar mansion; the eighteenth lunar mansion comprising three stars, of which one is Scorpionis; the middle finger; misfortune, personified as a goddess; the Ganges; a small house-lizard; the name of a month; old age.”

ติ + โลก + เชฏฺฐ = ติโลกเชฏฺฐ แปลว่า “-ผู้ประเสริฐที่สุดในสามโลก

คำที่น่าสนใจคือ “ตรีโลก-” หมายถึงอะไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ตรีโลก : (คำนาม) ตรีภพ, ไตรโลก ก็ใช้. (ส. ตฺริโลก).

(2) ตรีภพ : (คำนาม) ภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ, ตามไสยศาสตร์ว่าได้แก่ สวรรค์ มนุษยโลก บาดาล, ไตรภพ ก็ใช้. (ส. ตฺริภว).

(3) ไตรภพ, ไตรภูมิ : (คำนาม) ภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ, ตามไสยศาสตร์ว่า สวรรค์ มนุษยโลก บาดาล, ตรีภพ ก็ว่า

(4) ไตรโลก : (คำนาม) โลกทั้ง ๓ ทางวรรณคดีหมายความถึง สวรรค์ มนุษยโลก บาดาล, ทางศาสนาหมายถึงภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ, หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึง มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก, ตรีโลก ก็ว่า.

พระพุทธรูปสำคัญวัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ ชื่อ “พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์” (-เชฐ์ ฏ ปฏัก)

พระพุทธรูปสำคัญวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ ชื่อ “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” (-เชฐ์ ษ ฤษี)

เชฎฐ์ และ เชษฐ์ ต่างกันแต่วิธีสะกด แต่ความหมายไม่ต่างกัน

เชฎฐ์ เขียนแบบบาลี

เชษฐ์ เขียนอิงสันสกฤต (สันสกฤต : เชฺยษฺฐ)

“-ตรีโลกเชฏฐ์” หรือ “-ตรีโลกเชษฐ์” แปลว่า “-ผู้ประเสริฐที่สุดในสามโลก” เหมือนกัน

: จะแก่ทั้งที อย่าให้มีดีแค่เกิดก่อน

—————

(คุณ Supachoke Thaiwongworakool ไปไหว้พระวันปีใหม่ แล้วสงสัยชื่อพระพุทธรูปทั้งสององค์)

#บาลีวันละคำ (972)

15-1-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *