โคตมะ ศากยะ สิทธัตถะ (บาลีวันละคำ 971)
โคตมะ ศากยะ สิทธัตถะ
พระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ชื่ออะไร?
(๑) “โคตมะ”
บาลีเป็น “โคตม” (โค-ตะ-มะ) ภาษาไทยมักเรียกว่า “โคดม” (โค-ดม) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ทรงเป็นเหล่ากอของมุนีชื่อโคตมะเพราะเกิดในวงศ์โคตมะ” (โคตม + ณ ปัจจัย)
(2) “ผู้ทรงเป็นโอรสแห่งโคตมะ” (โคตม + ณ ปัจจัย)
(3) “เหล่ากอของพระอาทิตย์” (โคตม + ณ ปัจจัย)
(๒) “ศากยะ”
บาลีเป็น “สกฺก” (สัก-กะ) และ “สกฺย” (ออกเสียงว่า สัก-เกี๊ยะ จะได้เสียงที่ตรง) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้สามารถที่จะรักษาตระกูลวงศ์ไว้ได้” (สกฺกฺ ธาตุ = อาจ, สามารถ + อ ปัจจัย)
(2) “ผู้ประสูติในศากยตระกูลซึ่งมีมาแต่เดิม” (สกฺก + ณ ปัจจัย)
(3) “ผู้สามารถ” (สกฺ ธาตุ = อาจ, สามารถ + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก)
(4) “ผู้อยู่ในป่าสักซึ่งเป็นที่อยู่ของกบิลมุนี” (สาก = ไม้สัก + ณ ปัจจัย, ลบ อา, ซ้อน ก)
(๓) “สิทธัตถะ”
บาลีเขียน “สิทฺธตฺถ” (สิด-ทัด-ถะ) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ทรงเป็นเหตุสำเร็จประโยชน์โดยประการทั้งปวง” (สิทฺธ + อตฺถ)
(2) “ผู้ทรงทำความสำเร็จแห่งประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งปวง” (สิทฺธ + อตฺถ)
คำเรียกพระพุทธเจ้าพระองค์นี้อีกชื่อหนึ่งคือ “ศากยมุนี” (สาก-กะ-ยะ-มุ-นี) บาลีเป็น “สกฺยมุนิ” (สัก-เกี๊ยะ-มุ-นิ) แปลตามศัพท์ว่า “พระมุนีผู้ประสูติจากตระกูลศากยะ หรือประสูติในตระกูลศากยะ” (สกฺย + มุนิ)
สรุปว่า คำว่า โคตมะ (โคดม) ศากยะ สิทธัตถะ และ ศากยมุนี เป็นชื่อที่หมายถึงพระพุทธเจ้าของเราพระองค์ปัจจุบันนี้
ความรู้ที่ควรบอกกันก็คือ ชื่อเหล่านี้บางชื่อใช้เรียกในชั้นอรรถกถา ไม่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก บางชื่อใช้ทั้งในคัมภีร์พระไตรปิฎกและคัมภีร์ชั้นอรรถกถา
แต่ไม่ควรบอกว่า พระพุทธเจ้าชื่อ “โคดม” เท่านั้น คำอื่นนอกจากนี้ไม่ใช่ชื่อของพระพุทธเจ้า เพียงเพราะเหตุว่าชื่ออื่นๆ ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎกหรือพุทธวจนะ
: วงศ์ตระกูล ช่วยได้เพียงแค่เปิดโอกาสให้ได้ทำงาน
: แต่ผลงานจะดีหรือเลวไม่มีใครช่วยได้ เพราะเจ้าตัวต้องทำเอง
————
(ตามคำขอของ Thank Sukchai)
#บาลีวันละคำ (971)
14-1-58