บาลีวันละคำ

พระพุทธปฏิมา (บาลีวันละคำ 1,753)

พระพุทธปฏิมา

… แต่พระพุทธปฏิมายังราคิน …

อ่านว่า พฺระ-พุด-ทะ-ปะ-ติ-มา

แยกศัพท์เป็น พระ + พุทธ + ปฏิมา

(๑) “พระ

คำว่า “พระ” มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง เป็น ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

ในที่นี้ใช้ตามนัยที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ตอนหนึ่งว่า “… ใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่อง …”

(๒) “พุทธ

บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –

one who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)

(๓) “ปฏิมา” (ปะ-ติ-มา)

รากศัพท์มาจาก ปฏิ (เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + มา (ธาตุ = นับ) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ปฏิ + มา = ปฏิมา + = ปฏิม + อา = ปฏิมา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เทียบกันโดยเฉพาะ” หมายถึง รูปจำลอง, รูปเปรียบ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏิมา” ว่า counterpart, image, figure (รูปที่เปรียบกันได้, รูปเหมือน, รูปจำลอง)

การประสมคำ –

: พุทธ + ปฏิมา = พุทธปฏิมา

: พระ + พุทธปฏิมา = พระพุทธปฏิมา แปลตามศัพท์ว่า “รูปเปรียบของพระพุทธเจ้า” หมายถึง พระพุทธรูป (the figure of the Buddha; a Buddha image)

…………..

อภิปราย :

พระพุทธปฏิมามีมาตั้งแต่เมื่อใด?

พระพุทธปฏิมาหรือที่เราเรียกรู้กันว่า พระพุทธรูป เป็นของมีมานานนักหนา แม้ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพานก็มีร่องรอยแสดงว่าคนสมัยนั้นมีแนวคิดที่จะสร้างพระพุทธรูปกันแล้ว

แต่นักปราชญ์ทั้งหลายประมาณว่าพระพุทธรูปมีมาตั้งแต่ราวพุทธศักราช 500 เป็นต้นมา

ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถามีกล่าวถึงพระพุทธรูปชัดเจน

ศาสนิกบางศาสนาเรียกพระพุทธรูปว่า “รูปเคารพ” และเรียกศาสนาที่มีรูปเคารพว่า “ศาสนาที่นับถือรูปเคารพ” เขาถือว่ารูปเคารพเป็นสิ่งชั่วร้ายที่จะต้องทำลายให้สิ้นซาก

เวลานี้แม้ในหมู่ชาวพุทธเองก็มีแนวคิดไม่นับถือพระพุทธรูป

ผู้สร้างพระพุทธรูปมิได้สร้างขึ้นเพื่อให้ชาวพุทธกราบไหว้ในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เมื่อใครบนบานวอนขอสิ่งใดก็จะกระโดดลงมาจากหิ้งจากแท่นแล้วมาช่วยบันดาลให้สิ่งที่ปรารถนานั้นสำเร็จโดยผู้บนบานวอนขอไม่ต้องทำอะไรนอกจากกราบไหว้วอนขออย่างเดียว

แต่ผู้สร้างพระพุทธรูปสร้างขึ้นด้วยเจตนาจะให้เป็นอุปกรณ์เครื่องช่วยให้ชาวพุทธที่ยังมีอินทรีย์อ่อนสามารถระลึกถึงพระพุทธคุณได้สะดวกโดยอาศัยพิจารณาพระพุทธปฏิมาเป็นอารมณ์ แล้วก้าวขึ้นสู่การปฏิบัติจิตภาวนาต่อไป

เมื่อยกจิตสูงขึ้นถึงระดับนั้นแล้ว อย่าว่าแต่พระพุทธรูปที่เป็นปูนเป็นทองเหลืองเลย แม้แต่องค์พระพุทธเจ้าแท้ๆ ท่านก็ยังตรัสไม่ให้ยึดถือ

ชาวพุทธกราบไหว้พระพุทธปฏิมาด้วยเหตุผลเช่นนี้

สำหรับชาวพุทธที่มีอินทรีย์แก่กล้าแล้วก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยพระพุทธปฏิมาเป็นอารมณ์อีกต่อไป เหมือนนักว่ายน้ำที่แข็งแรงไม่ต้องอาศัยห่วงยางเป็นเครื่องช่วยเหมือนเด็กเพิ่งหัดว่ายน้ำอีกต่อไปฉะนั้น

แต่เด็กที่เพิ่งหัดว่ายน้ำยังจำเป็นต้องอาศัยห่วงยางหรืออุปกรณ์อื่นๆ จนที่สุดแม้แต่มือของผู้ใหญ่ที่คอยช่วยจับช่วยอุ้มไม่ให้จมน้ำ

คนต่างศาสนาเขารังเกียจพระพุทธรูปก็เพราะเขาไม่ได้เรียนรู้ให้เข้าใจว่าชาวพุทธสร้างพระพุทธรูปไว้ทำไม กราบไหว้พระพุทธรูปด้วยเหตุผลอะไร

แต่ชาวพุทธเองรังเกียจพระพุทธรูปนี่น่าสงสาร

แต่ที่น่าสงสารยิ่งกว่านั้นก็คือชาวพุทธที่กราบไหว้พระพุทธรูปในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ววอนขอให้ช่วยดลบันดาลโดยตัวเองไม่ต้องทำอะไรนอกจากวอนขออย่างเดียว

ชาวพุทธต้องถามตัวเองว่า เราจะเป็นเด็กสวมห่วงยางหัดว่ายน้ำไปจนตาย หรือจะพัฒนาศักยภาพของตัวเองขึ้นไปเป็นแชมป์ว่ายน้ำ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ท่านเคยเห็นทารกหัดว่ายน้ำโดยไม่ต้องใช้ห่วงยางบ้างหรือไม่

: และท่านเคยเห็นแชมป์ว่ายน้ำสวมห่วงยางลงแข่งขันบ้างหรือไม่

– ถ้าท่านเข้าใจคำถามของข้าพเจ้า ท่านก็ควรหาดอกไม้ธูปเทียนไปกราบไหว้พระพุทธปฏิมา มิใช่เพื่อวอนขอ แต่เพื่อเป็นแรงใจพัฒนาตัวเอง

– ถ้าท่านไม่เข้าใจคำถามของข้าพเจ้า ท่านจะหาค้อนหาระเบิดไปทุบทำลายพระพุทธปฏิมาที่มีอยู่ทั่วโลก ก็เชิญตามสบาย

23-3-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย