บาลีวันละคำ

รสนิยม (บาลีวันละคำ 1,757)

รสนิยม

ระวังจะถมไม่เต็ม

ประกอบด้วยคำว่า รส + นิยม

(๑) “รส

บาลีอ่านว่า ระ-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) รสฺ (ธาตุ = ยินดี; ติดใจ, เยื่อใย) + ปัจจัย

: รสฺ + = รส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นที่ยินดีแห่งเหล่าสัตว์” (2) “สิ่งอันเหล่าสัตว์ติดใจ” “สิ่งเป็นเหตุติดใจ

(2) (แทนศัพท์ “รม” = พอใจ) + อสฺ (ธาตุ = กิน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: + อสฺ = รส + กฺวิ = รสกฺวิ > รส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่สัตว์พอใจกิน

รส” ในบาลีใช้ในความหมายหลายหลากมากกว่าที่เรารู้กันในภาษาไทย พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ รวบรวมไว้ดังนี้ –

(1) juice (น้ำผลไม้)

(2) taste as [objective] quality, the sense-object of taste (รสในฐานเป็นคุณลักษณะ [เชิงวัตถุวิสัย], รสายตนะ)

(3) sense of taste, as quality & personal accomplishment (ความรู้สึกเกี่ยวกับรสในฐานเป็นใหญ่ และความสำเร็จส่วนตน)

(4) object or act of enjoyment, sensual stimulus, material enjoyment, pleasure (วัตถุ หรือสิ่งเร้าเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน, สิ่งกระตุ้นทางอารมณ์, ความเพลิดเพลินทางวัตถุ, สุขารมณ์)

(5) flavour and its substance or substratum (รสและสาระของรส หรือสิ่งที่ประกอบขึ้นมาเป็นรส)

(6) essential property, elegance, brightness (สมบัติอันเป็นสาระสำคัญ, ความสง่างาม, ความเจิดจ้า)

(7) essential property [in philosophy] (สมบัติอันเป็นสาระสำคัญ [คำเฉพาะในทางปรัชญา])

(8) fine substance, semi-solid semiliquid substance, extract, delicacy, fineness, dust (สิ่งของที่ละเอียดอ่อน, สิ่งของครึ่งแข็งครึ่งเหลว, สิ่งที่กลั่นออกจากของอื่น, ของที่แบบบาง, ความละเอียด, ละออง)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

รส : (คำนาม) สิ่งที่รู้ได้ด้วยลิ้น เช่น เปรี้ยว หวาน เค็ม ฝาด, โดยปริยายหมายถึง ความไพเราะ เช่น กลอนบทนี้ไม่มีรส. (ป., ส.).”

(๒) “นิยม

บาลีอ่านว่า นิ-ยะ-มะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ยมุ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + ปัจจัย

: นิ + ยมฺ = นิยมฺ + = นิยม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ต้องกำหนดด้วยเวลาเป็นต้น” (คือ เหตุผลที่จะนำมาใช้เป็นข้อกำหนดมีหลายอย่าง หนึ่งในหลายอย่างนั้นคือกาลเวลา)

นิยม” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การสำรวม, การบังคับยับยั้ง, การฝึกฝน, การควบคุมตนเอง (restraint, constraint, training, self-control)

(2) การกำหนดแน่, ความแน่นอน, การจำกัด (definiteness, certainty, limitation)

(3) กฎธรรมชาติ, กฎของจักรวาล (natural law, cosmic order)

ความหมายของ “นิยม” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิยม : (คำแบบ คือคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) การกำหนด. (ป., ส.). (คำกริยา) ชมชอบ, ยอมรับนับถือ, ชื่นชมยินดี, ใช้ประกอบท้ายคำสมาสบางคำใช้เป็นชื่อลัทธิ เช่น ลัทธิชาตินิยม ลัทธิสังคมนิยม.”

รส + นิยม = รสนิยม แปลตามศัพท์ว่า “การกำหนดความพอใจ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

รสนิยม : (คำนาม) ความนิยมชมชอบ, ความพอใจ, เช่น เขามีรสนิยมในการแต่งตัวดี.”

คำว่า “รสนิยม” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า taste

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล taste เป็นบาลีดังนี้ –

(1) rasa รส (ระ-สะ) = ความพอใจ, ความติดใจ

(2) assāda อสฺสาท (อัด-สา-ทะ) = ความพึงใจ, ความเพลิดเพลิน

(3) ruci รุจิ (รุ-จิ) = ความชอบใจ, ความชื่นชม

ตามคำแปลนี้เป็นอันได้ความว่า ใครชอบอะไรอย่างไร สิ่งนั้นแบบนั้นก็เป็น “รสนิยม” ของเขา

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล taste ไว้ดังนี้ –

1. รส, มีรส, รสนิยม, ลิ้มรส, ลิ้ม, ลองชิม, กระเดียด

2. ความพอใจ, ความพิจารณา, ความสามารถรู้จักของดีไม่ดี, ความรู้จักเลือกเฟ้น, การดูของเป็น, การฟังดนตรีเป็น, การดูภาพเป็น, การอ่านหนังสือเป็น

…………..

รสนิยม อ่านอย่างไร ?

คำว่า “รสนิยม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อ่านว่า รด-สะ-นิ-ยม ก็ได้

อ่านว่า รด-นิ-ยม ก็ได้

อ่านว่า รด-สะ-นิ-ยม เป็นการอ่านตามความ “รักภาษา”

อ่านว่า รด-นิ-ยม เป็นการอ่านตามความ “รักง่าย”

ผู้มีรสนิยมดีในการอ่าน ไม่พึงอ่านคำนี้ว่า รด-นิ-ยม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความพอใจของมนุษย์สุดกำหนด

: นิยมรสลึกลับสลับสลอน

: สูจะตักน้ำเพิ่มเติมสาคร

: หรือจะสอนใจสูให้รู้พอ

27-3-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย