พาหุง (บาลีวันละคำ 1,756)
พาหุง
บางคนหุงไม่สุก
อ่านว่า พา-หุง
“พาหุง” เขียนแบบบาลีเป็น “พาหุํ” (สระ อุ ข้างล่าง นิคหิตข้างบน) ศัพท์เดิมเป็น “พาหุ” รากศัพท์มาจาก วหฺ (ธาตุ = นำไป) + ณุ ปัจจัย, ลบ ณ (ณุ > อุ), “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” คือ อะ ที่ ว-(หฺ) เป็น อา (วหฺ > วาห), แปลง ว เป็น พ
: วหฺ + ณุ = วหณุ (> วหอุ) > วหุ > วาหุ > พาหุ (ปุงลิงค์) (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องนำไป” หมายถึง แขน (the arm)
ข้อสังเกต:
คำแปลตามศัพท์ที่ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องนำไป” นั้น ขอให้สังเกตเวลาคนเดิน แขนจะแกว่งตามธรรมชาติของการเคลื่อนไหว การที่แขนแกว่งไปมานั่นเองเป็นอาการที่ทำให้ร่างกายเคลื่อนที่ไปได้ (ถ้าสังเกตการว่ายน้ำจะยิ่งเห็นชัด)
“พาหุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกพจน์ ได้รูปเป็น “พาหุํ” อ่านว่า พา-หุง เขียนแบบไทยเป็น “พาหุง”
…………..
“พาหุง” ที่ชาวพุทธรู้จักกันมากที่สุดน่าจะเป็นคำว่า “พาหุง” ที่เป็นคำขึ้นต้นในบทพุทธชัยมงคลคาถา หรือที่มีชื่อโดยเฉพาะว่า “ชยมังคลัฏฐกคาถา” ซึ่งมักเรียกกันเป็นสามัญว่า “คาถาพาหุง” และเรียกสั้นๆ ว่า “พาหุง”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ถวายพระพระ” อธิบายไว้ว่า –
…. เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติมาว่า ในงานพิธีที่มีการสวดมนต์เย็น แล้วฉันเช้า หรือฉันเพลในวันรุ่งขึ้น เมื่อจะฉันภัตตาหารเช้าหรือเพลนั้น มีการสวดถวายพรพระก่อน คือ เมื่อเจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และสมาทานศีลแล้ว พระสงฆ์จะสวดถวายพรพระต่อไปเลย โดยไม่ต้องอาราธนาพระปริตร ดังนี้
๑. นมการปาฐะ (นโม ๓ จบ)
๒ .พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ (อิติปิ โส ภควา ฯเปฯ อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ)
๓. บทถวายพรพระ คือชยมังคลัฏฐกคาถา (พาหุํ ฯเปฯ นโร สปญฺโญ)
๔. ชยปริตฺตคาถา (มหาการุณิโก นาโถ ฯเปฯ ลภนฺตตฺเถ ปทกฺขิเณ)
จบแล้ว สวด ภวตุ สพฺพมงคลํ ฯเปฯ สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ต่อไปเลย โดยไม่ต้องหยุดขึ้นใหม่
(มักพูดให้จำกันง่ายๆ ว่า ถวายพรพระ คือสวด นโม… อิติปิ โส… พาหุํ… มหากาฯ… ภวตุ สพฺฯ…)
เมื่อสวดจบแล้ว พระสงฆ์ก็รับภัตตาหารฉันต่อไป …
…………..
มีธรรมเนียมพื้นถิ่นที่ปฏิบัติกันทั่วไปอย่างหนึ่งคือ เมื่อพระขึ้นบทพาหุง ญาติโยมจะลุกขึ้นไปใส่บาตร มีคำถามว่า ทำไมจึงทำเช่นนั้น
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอแนวคิดในการตอบคำถามข้อนี้ดังนี้ –
บทพาหุงบทแรกกล่าวด้วยเรื่องพระพุทธเจ้าทรงชนะมารด้วยทานบารมี ถอดเป็นคำพูดที่สมมุติว่าพระสนทนากับญาติโยมได้ว่า …
… โยมรู้ไหมว่าพระพุทธเจ้าชนะมารได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเพราะอะไร ก็เพราะพระองค์บำเพ็ญทานบารมีนะสิ ทานบารมีคืออะไร ก็คือการทำบุญถวายทาน อย่างการใส่บาตรนี่แหละใช่เลย พระขึ้นพาหุงแล้วโยมจะมามัวนั่งเฉยอยู่ทำไม ลุกขึ้นไปใส่บาตรกันสิ จะได้ชนะมารเหมือนพระพุทธเจ้ายังไงล่ะ …
จึงถือกันเป็นธรรมเนียมสืบมาว่า เมื่อพระขึ้นบทพาหุงในงานบุญ ญาติโยมต้องลุกขึ้นไปใส่บาตร
บท “พาหุง” ท่านแต่งเป็นวสันตดิลกฉันท์ บทแรกมีข้อความและคำแปลดังนี้ –
พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ.
พระจอมมุนีได้ชนะพญามารผู้เนรมิตแขนมากตั้งพัน
ถืออาวุธครบมือ ขี่คชสารคีรีเมขละพร้อมด้วยเสนามารโห่ร้องก้องกึก
ด้วยธรรมวิธีมีทานบารมีเป็นต้น
ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่านเทอญ.
…………..
ดูก่อนภราดา!
ท่านเคยเห็นบ้างฤๅหาไม่?
: พันแขนทำชั่วตัวเป็นเกลียว
: แขนเดียวทำดีทวีผล
: มือด้วนใส่บาตรอาจพิกล
: แต่มือดีสัปดนนั่งขอทาน
26-3-60