โลกียวิสัย (บาลีวันละคำ 1,758)
โลกียวิสัย
อยู่กับมัน แต่อย่าติดมัน
อ่านว่า โล-กี-ยะ-วิ-ไส
แยกศัพท์เป็น โลกีย + วิสัย
(๑) “โลกีย”
บาลีเป็น “โลกิย” รากศัพท์มาจาก โลก + อิย ปัจจัย
(ก) “โลก” บาลีอ่านว่า โล-กะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ลุชฺ (ธาตุ = พินาศ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ช เป็น ก, แผลง อุ ที่ ลุ-(ชฺ) เป็น โอ
: ลุชฺ + ณ = ลุชณ > ลุช > โลช > โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป”
(2) ลุจฺ (ธาตุ = ย่อยยับ, พินาศ) + อ ปัจจัย, แปลง จฺ เป็น ก, แผลง อุ เป็น โอ
: ลุจฺ + อ = ลุจ > ลุก > โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะย่อยยับไป”
(3) โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ปรากฏ, ตั้งอยู่) + อ ปัจจัย
: โลกฺ + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างอันเขาเห็นอยู่” (2) “ร่างเป็นที่ตั้งอยู่แห่งบุญบาปและผลแห่งบุญบาปนั้น”
“โลก” มีความหมายหลายหลาก เช่น โลก, แผ่นดิน, จักรวาล, คน, มนุษยชาติ, ประชาชน, สัตว์ (world, earth, universe, man, mankind, people, beings)
(ข) โลก + อิย = โลกิย แปลตามศัพท์ว่า “เกี่ยวข้องกับโลก” “ตั้งอยู่ในโลก” “อันเป็นของโลก” (belonging to the world)
“โลกิย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ทั่วโลก, ครอบคลุมทั่วโลก, มีชื่อเสียง, มีกิตติศัพท์ (world-wide, covering the whole world, famed, widely known)
(2) เป็นของโลก, พลเมืองหรือผู้อยู่ประจำโลก (belonging to the world of, an inhabitant of as lokika)
(3) สามัญ, ทั่วไป, เป็นธรรมดาโลก (common, general, worldly)
(4) (ความหมายพิเศษเมื่อใช้ตรงกันข้ามกับ โลกุตฺตร) ทางโลก, ทางโลกีย์ (worldly, mundane)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โลกิย-, โลกิยะ, โลกีย์ : (คำวิเศษณ์) เกี่ยวกับโลก, ทางโลก, ธรรมดาโลก, ของโลก, ตรงข้ามกับ โลกุตระ, เช่น โลกิยธรรม เรื่องโลกิยะ, โดยปริยายหมายถึงที่เกี่ยวกับกามารมณ์ เช่น เรื่องโลกีย์. (ป.; ส. เลากฺย).”
(๒) “วิสัย”
บาลีเขียน “วิสย” (วิ-สะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา; ผูก, พัน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (สิ > เส > สย)
: วิ + สิ = วิสิ + ณ = วิสิณ > วิสิ > วิเส > วิสย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภูมิภาคเป็นที่เสพอาศัย” (2) “ภาวะที่ผูกอินทรีย์ไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิสย” ไว้ดังนี้ –
(1) locality, spot, region; world, realm, province, neighbourhood (ที่ตั้ง, แหล่งที่; ภูมิภาค, โลก, อาณาจักร, จังหวัด, บริเวณ)
(2) reach, sphere [of the senses], range, scope; object, characteristic, attribute (ขอบเขต, โลก [ของความรู้สึก], แนว, วง; วิสัย, ลักษณะ, คุณสมบัติ)
จับความหมายของ “วิสย > วิสัย” สั้น ๆ ว่า –
(1) ขอบเขต
(2) สิ่งที่จิตไปรับรู้เกาะเกี่ยว = อารมณ์
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิสย-, วิสัย : (คำนาม) ความสามารถ เช่น อยู่ในวิสัยที่จะเลี้ยงดูบุตรภรรยาได้ เป็นเรื่องเหลือวิสัยที่จะทำได้; ขอบ, เขต, เช่น คามวิสัย โคจรวิสัย อยู่ในทัศนวิสัย. (ป.).”
โลกีย + วิสัย = โลกียวิสัย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โลกียวิสัย : (คำนาม) เรื่องโลกีย์, เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับกามารมณ์, เรื่องของคนที่ยังมีกิเลสอยู่.”
…………..
อภิปราย :
ถ้าดูที่คำตั้งของพจนานุกรมฯ จะเห็นว่า พจนานุกรมฯ สะกดเป็น “โลกิย-, โลกิยะ, โลกีย์”
“โลกิย-” มีขีดท้าย ย และไม่มีสระ อะ หลัง ย– หมายความว่า เขียน “โลกิย-” เมื่อมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย
“โลกิยะ” มีสระ อะ หลัง ย หมายความว่า เขียน “โลกิยะ” เมื่อไม่มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย
“โลกีย์” –กี– สระ อี ไม่ใช่ –กิ– เหมือน โลกิย– และ โลกิยะ และ “โลกีย์” ใส่การันต์ที่ ย จึงไม่ต้องออกเสียง –ยะ เหมือน โลกิย– และ โลกิยะ
เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว ดูต่อไปจะเห็นว่า “โลกิยะ” กับ “โลกีย์” ไม่มีปัญหาเพราะสำเร็จรูปอยู่ในตัวเอง
แต่ “โลกิย-” ที่สะกดแบบนี้ก็เพื่อรอให้มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย แต่เมื่อดูคำตั้งในพจนานุกรมฯ แล้ว ก็ไม่พบคำที่ขึ้นต้นด้วย “โลกิย” แม้แต่คำเดียว มีแต่คำที่ขึ้นด้วย “โลกีย” (-กี– สระ อี ไม่ใช่ –กิ-) คือคำว่า โลกียวัตร โลกียวิสัย โลกียสุข
ไม่มีคำว่า โลกิยวัตร โลกิยวิสัย โลกิยสุข
คำถามคือ –
(1) แล้วจะตั้งคำว่า “โลกิย-” (-กิ– สระ อิ และมีขีดท้าย ย) ไว้เพื่อการอันใดในเมื่อไม่มีคำใดๆ เลย (โดยเฉพาะคำที่มีในพจนานุกรมฯ) ที่จะมาสมาสข้างท้าย?
(2) แล้วทำไมไม่มีคำว่า “โลกีย-” (-กี– สระ อี มีขีดท้าย ย) เป็นคำตั้ง เพื่อที่จะเอาคำว่า วัตร วิสัย สุข เป็นต้น มาสมาสข้างท้ายได้?
(3) ถ้าเป็นเช่นนี้ คำว่า โลกียวัตร โลกียวิสัย โลกียสุข (-กี– สระ อี) จะเขียนเป็น โลกิยวัตร โลกิยวิสัย โลกิยสุข (-กิ– สระ อิ) ได้หรือไม่?
ถ้าเขียนไม่ได้ ก็เป็นอันยืนยันว่า คำตั้งว่า “โลกิย-” (-กิ– สระ อิ มีขีดท้าย ย) ไม่จำเป็นต้องมี เพราะไม่มีคำใดๆ ที่จะมาสมาสข้างท้ายได้เลย
ถ้าเขียนได้ ก็มีคำถามอีกว่า ทำไมคำว่า โลกิยวัตร โลกิยวิสัย โลกิยสุข (-กิ– สระ อิ) จึงไม่มีเก็บไว้อีกรูปหนึ่ง?
เพียงแค่ “ฝากคำลอยลม” ไปถึงใครก็ได้ให้ช่วยกันคิด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ใบบัวไม่เคยปฏิเสธน้ำ แต่น้ำก็ไม่อาจชำแรกติดอยู่ในใบ
: บัณฑิตไม่จำต้องดัดจริตปฏิเสธโลกียวิสัย แต่ควรฝึกใจอย่าให้ติดมัน
30-3-60