นักขัตฤกษ์ (บาลีวันละคำ 989)
นักขัตฤกษ์
อ่านว่า นัก-ขัด-ตะ-เริก
ประกอบด้วย นักขัต + ฤกษ์
(๑) “นักขัต”
บาลีเป็น “นกฺขตฺต” (นัก-ขัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) น (ไม่, ไม่ใช่) + ขี (ธาตุ = สิ้นไป) + ต ปัจจัย, แปลง อี (ที่ ขี) เป็น อ, ซ้อน ก และ ต
: น + ก + ขี = นกฺขี > นกฺข + ต = นกฺขต + ต = นกฺขตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เทหวัตถุที่ไม่สิ้นสุดเพราะขึ้นอยู่เรื่อยๆ”
(2) น (ไม่, ไม่ใช่) + ขรฺ (ธาตุ = เสื่อม, สิ้น, พินาศ) + ต ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ, ซ้อน ก และ ต
: น + ก + ขรฺ = นกฺขร > นกฺข + ต = นกฺขต + ต = นกฺขตฺต แปลตามศัพท์ว่า 1) “เทหวัตถุที่ไม่เสียทางโคจรของตน” 2) “เทหวัตถุที่ไม่เสื่อมสิ้นไป”
(3) นกฺขฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ต ปัจจัย, ซ้อน ต
: นกฺขฺ + ต = นกฺขต + ต = นกฺขตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เทหวัตถุที่โคจรเรื่อยไป”
(4) นกฺขตฺต + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: นกฺขตฺต + ณ = นกฺขตฺต ที่มาข้อนี้ท่านร่ายสูตรแสดงความหมายไว้ว่า –
“เอตฺโต อิโต จาติ วิสมคติยา อคนฺตฺวา อตฺตโน วีถิยาว คมเนน นกฺขตฺตํ คมนํ ตายติ รกฺขตีติ นกฺขตฺตํ”
แปลว่า “เทหวัตถุใดรักษานักษัตรคือการโคจรไว้ด้วยการโคจรไปตามวิถีของตนอย่างเดียว ไม่โคจรนอกเส้นทางไปมา เหตุนั้น เทหวัตถุนั้นจึงชื่อว่า นักขัต”
“นกฺขตฺต” หมายถึง ดาว, ดาวฤกษ์, นักษัตร
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายความหมายของคำว่า “นกฺขตฺต” ไว้ค่อนข้างละเอียด ดังนี้ :
the stars or constellations, a conjunction of the moon with diff. constellations, a lunar mansion or the constellations of the lunar zodiac, figuring also as Names of months & determinant factors of horoscopic and other astrological observation; further a celebration of the beginning of a new month, hence any kind of festival or festivity
(ดาวหรือกลุ่มดาว, การอยู่ใกล้กันของพระจันทร์กับกลุ่มดาวต่างๆ (นักษัตรโยค), ดาวฤกษ์หรือกลุ่มดาวของจักรราศีของพระจันทร์, เรียกเป็นชื่อของเดือนต่างๆ และเป็นตัวกำหนดของการทำนายหรือส่วนที่กำหนดการสังเกตเกี่ยวกับโหราศาสตร์และดาราศาสตร์; นอกจากนี้หมายถึงการฉลองในวันขึ้นเดือนใหม่, รวมถึงการรื่นเริงหรืองานฉลองเนื่องในโอกาสใดๆ ก็ตาม)
(๒) “ฤกษ์”
เป็นรูปคำสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “อิกฺก” (อิก-กะ)
ในบาลี “อิกฺก” แปลว่า หมี (a bear) ยังไม่พบว่ามีใช้ในความหมายเกี่ยวกับดวงดาว
อย่างไรก็ตาม สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ อนึ่ง ความหมายของคำไทยบางคำโปรดเทียบเคียงกับคำอังกฤษเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน)
(1) นกฺษตฺร : (คำนาม) นักษัตร, ดาวทั่วไป; ดาวในจันทรบถหรือเรือนจันทร์; มุกดาผล, ไข่มุกด์; a star in general; an asterism in the moon’s path or lunar mansion; a pearl.
(2) ฤกฺษ : (คำคุณศัพท์) อันแทงแล้ว, ตัดแล้วหรือแบ่งแล้ว; pierced, cut or divided;- (คำนาม) ดาว, นักษัตร; ภูเขาในทวีปกัลป, ที่ประทับชั่วคราวของพระราม; หมี; a star, a constellation; a mountain in the peninsula, the temporary residence of Rāma; a bear.
“นักขัตฤกษ์” บาลีน่าจะเป็น “นกฺขตฺตอิกฺก” หรือ “นกฺขตฺติกฺก”
คือ นกฺขตฺต = นักขัต + อิกฺก = ฤกษ์ : นกฺขตฺตอิกฺก = นักขัตฤกษ์
แต่ไม่มีศัพท์เช่นนี้ คงมีใช้แต่ “นกฺขตฺต” คำเดียว แต่ในภาษาไทยเอามาใช้เป็น “นักขัตฤกษ์”
นักขัต, นักษัตร, นักขัตฤกษ์ ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ :
(๑) นักขัต, นักขัต– : (คำนาม) ดาว, ดาวฤกษ์. (ดู นักษัตร). (ป. นกฺขตฺต; ส. นกฺษตฺร).
(๒) นักษัตร ๑, นักษัตร– : (คำนาม) ดาว, ดาวฤกษ์, มี ๒๗ หมู่ ฯลฯ (ส.; ป. นกฺขตฺต).
นักษัตร ๒ : (คำนาม) ชื่อรอบเวลา กําหนด ๑๒ ปี เป็น ๑ รอบ เรียกว่า ๑๒ นักษัตร โดยกําหนดให้สัตว์เป็นเครื่องหมายในปีนั้น ๆ …
(๓) นักขัตฤกษ์ : (คำนาม)
(1) ฤกษ์ที่ขึ้นกับการโคจรของดวงจันทร์ว่าผ่านดาวนักษัตรหมู่ใดหมู่หนึ่งใน ๒๗ หมู่ รวมถึงฤกษ์ที่ขึ้นกับการโคจรของดวงดาวในสุริยจักรวาลว่าผ่านดาวนักษัตรหมู่ใดหมู่หนึ่งใน ๒๗ หมู่.
(2) เรียกงานที่จัดขึ้นตามนักขัตฤกษ์ว่า งานนักขัตฤกษ์.
(3) เรียกวันที่มีงานนักขัตฤกษ์ว่า วันนักขัตฤกษ์.
: ทำความดีทุกเวลา-อย่าประมาท
: เพราะมัจจุราชไม่รอนักขัตฤกษ์
#บาลีวันละคำ (989)
1-2-58