บาลีวันละคำ

ราชวัติ ไม่ใช่ ราชวัตร (บาลีวันละคำ 1,759)

ราชวัติ ไม่ใช่ ราชวัตร

ที่ผิดถนัดประเดี๋ยวก็กลายเป็นถูกจนได้

อ่านว่า ราด-ชะ-วัด

แยกศัพท์เป็น ราช + วัติ

(๑) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –

(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (ปัจจัย) = ราช

หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + (ปัจจัย) ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา = ราช

หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

(๒) “วัติ

บาลีเป็น “วติ” (วะ-ติ) รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาตุ = ห้าม, ปิดกั้น) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (วรฺ > )

: วรฺ + ติ = วรติ > วติ ( : วรฺ > + ติ = วติ) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องกั้น

วติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) รั้ว (a fence)

(2) สิ่งที่เลือก, สิ่งที่เป็นคุณหรือได้ประโยชน์ (a choice, boon)

วติ” ในภาษาไทยใช้ว่า “วัติ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วัติ : (คำนาม) วดี, รั้ว. (ป. วติ).”

ราช + วติ = ราชวติ > ราชวัติ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราชวัติ : (คำนาม) รั้วที่ทำเป็นแผงโปร่ง ปักรายเป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องกันหรือปักประจำมุมเพื่อแสดงอาณาเขตของมณฑลพิธี มีฉัตรปักหัวท้ายแผง.”

ส่วนคำว่า “วัตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วัตร, วัตร– : (คำนาม) กิจพึงกระทำ เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น, หน้าที่ เช่น ข้อวัตรปฏิบัติ, ธรรมเนียม เช่น ศีลาจารวัตร; ความประพฤติ เช่น พระราชจริยวัตร, การปฏิบัติ เช่น ธุดงควัตร อุปัชฌายวัตร, การจำศีล. (ป. วตฺต; ส. วฺฤตฺต).”

(ดูเพิ่มเติมที่: “กิจกรรม-กิจวัตร” บาลีวันละคำ (1,147) 16-7-58)

ดังนั้น ถ้าเขียนว่า “ราชวัตร” (-วัต-ร) ก็ต้องแปลว่า กิจที่พึงปฏิบัติของพระราชา

ไม่เกี่ยวกับรั้ว ไม่เกี่ยวกับราชวัติฉัตรธงแต่ประการใด

ราชวัตร” (เขียนผิด) เป็นอีกคำหนึ่งที่มีอาการแบบเดียวกับ “ศรีษะ” (เขียนผิด คำถูกคือ “ศีรษะ”) คือพอได้ยินคำบาลีสันสกฤตที่มีเสียง “วัด” ใจก็ประหวัดไปถึง “วัตร” ทุกทีไป ไม่คิดถึงคำอื่นเลย เหมือนได้ยินเสียงว่า สี– ก็มองเห็นแต่ “ศรี-” ทุกทีไปฉะนั้น

ราชวัติ” จึงกลายเป็น “ราชวัตร” ไปด้วยประการฉะนั้น

สะกดผิดกันให้มากๆ เข้าไปเถิด ต่อไปราชบัณฑิตยฯ ท่านก็คงจะไปแก้พจนานุกรมฯ ให้เองนั่นแหละ คือบอกว่า –

ราชวัติ : (คำนาม) รั้วที่ทำเป็นแผงโปร่ง ปักรายเป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องกันหรือปักประจำมุมเพื่อแสดงอาณาเขตของมณฑลพิธี มีฉัตรปักหัวท้ายแผง. เขียนเป็น ราชวัตร ก็มี.”

เท่านี้ก็เรียบร้อย และนับเป็นเกียรติประวัติแก่ผู้เขียนผิดโดยทั่วกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำผิด สมมุติให้เป็นถูกได้ทุกคำ

: แต่บาปที่ทำ สมมุติให้เป็นบุญไม่ได้

—————-

(ภาพประกอบจาก google)

31-3-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย