บาลีวันละคำ

กรุษ – กรานต์ (บาลีวันละคำ 1,772)

กรุษกรานต์

ยิ่งนานก็ยิ่งเพี้ยน

อ่านว่า กฺรุด กฺราน

(๑) “กรุษ

มาจากคำว่า “ตรุษ” เป็นคำพูดภาษาปากของคนไทยรุ่นเก่าที่มักออกเสียง ตฺร เป็น กฺร เช่น “ไตร” เป็น “ไกร” “ตรม” เป็น “กรม” “ตรอก” เป็น “กรอก”

ตรุษ” จึงเป็น “กรุษ

ยังค้นไม่พบว่า “ตรุษ” เป็นภาษาอะไร แต่นักภาษาบอกว่า “ตรุษ” แปลว่า ตัด หมายถึงตัดปีเก่าให้สิ้นสุดลง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตรุษ, ตรุษไทย : (คำนาม) เทศกาลเนื่องในการสิ้นปี ตรุษไทยกําหนดตามจันทรคติ ตรงกับวันแรม ๑๕ คํ่า เดือน ๔.”

(๒) “กรานต์

ตัดมาจากคำว่า “สงกรานต์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “สงกรานต์” ว่า –

“เทศกาลเนื่องในการขึ้นปีใหม่อย่างเก่า ซึ่งกําหนดตามสุริยคติ ปรกติตกวันที่ ๑๓-๑๔-๑๕ เมษายน วันที่ ๑๓ คือวันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ คือวันเนา และวันที่ ๑๕ คือวันเถลิงศก. (ส. สงฺกฺรานฺติ)”

คำว่า “(ส. สงฺกฺรานฺติ)” ในวงเล็บ หมายถึง คำว่า “สงกรานต์” ภาษาสันสกฤตเป็น “สงฺกฺรานฺติ” อ่านว่า สัง-กฺราน-ติ (ดูเพิ่มเติมที่ “สงกรานต์” บาลีวันละคำ (336) 13-4-56)

บาลีมีคำว่า “สงฺกนฺติ” (สัง-กัน-ติ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + กมฺ (ธาตุ = ก้าวไป, เคลื่อน) + ติ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ), แปลง ติ กับ มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺติ

: สํ > สงฺ + กมฺ = สงฺกมฺ + ติ = สงฺกมฺติ > สงฺกนฺติ แปลตามศัพท์ว่า “การก้าวไปพร้อม” หมายถึง การผ่านไป, การอพยพ, ทางเดิน (transition, transmigration, passage)

สงฺกนฺติ” สันสกฤตเป็น “สงฺกฺรานฺติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สงฺกฺรานฺติ : (คำนาม) ‘สังกรานติ, สังกรานติ์,’ คติของดวงอาทิตย์หรือดาวพระเคราะห์ดวงอื่น จากภูจักร์หนึ่งไปสู่อีกภูจักร์หนึ่ง; คติหรือการไป; the passage of the sun or other planetary bodies from one sign of the zodiac into another; passage or going.”

สงฺกฺรานฺติ” –ติ เราเขียน – ไม่ใช่ –ติ และไม่ออกเสียง โดยใช้เครื่องหมายทัณฑฆาต คือ ต์ สัง-กฺราน-ติ จึงกลายเป็น สง-กฺราน

…………..

อภิปราย:

สงกรานต์” คนเก่ามักเรียกควบกับ “ตรุษ” ซึ่งมักออกเสียงเป็น กฺรุด = กรุษ และตัดคำ “สงกรานต์” เป็น “กรานต์” จึงพูดควบกันว่า “กรุษกรานต์” เช่น กรุษทีกรานต์ทีก็เส่นสนุกกัน

กรุษ” หรือ “ตรุษไทย” กําหนดตามจันทรคติ ตรงกับวันแรม 15 คํ่า เดือน 4 หรือสิ้นเดือน 4

ส่วน “กรานต์” หรือ “สงกรานต์” กําหนดตามสุริยคติ ปรกติตกวันที่ 13-14-15 เมษายน

ดังนั้น จึงมีบางปีที่เทศกาลตรุษกับสงกรานต์ใกล้เคียงกัน ปรกติคนสมัยก่อนรื่นเริงเทศกาลตรุษ 3 วัน สงกรานต์ 4 วัน บางปีเล่นสนุกเทศกาลตรุษครบ 3 วันก็พอดีถึงเทศกาลสงกรานต์ จึงมีคำพูดติดปากว่า “กรุษสามกรานต์สี่

กรุษกรานต์ สมัยก่อนส่วนใหญ่มุ่งการบุญ คารวะผู้ใหญ่ และเยี่ยมเยี่ยนญาติมิตร เล่นสนุกกันพอประมาณ

ต่างจากสมัยนี้ที่เล่นสนุกกันเกินประมาณ และแทบไม่สนใจว่าเทศกาลกรุษ – กรานต์ เราควรทำอะไรกันบ้างที่เป็นความดีงามตามวัฒนธรรมไทย

…………..

ดูก่อนภราดา!

เทศกาล กรุษ-กรานต์ คืออะไร?

: คือเทศกาลสนานสนุกกันทุกถนน

: ไม่เห็นคนเห็นแต่เทพท่านเสพสวรรค์

: มีกรุษกรานต์ไว้ให้สุขสนุกครัน

: แต่ไทยนั้นมาแต่ไหน-กูไม่รู้!

13-4-60