บาลีวันละคำ

เวสสันดร [2] (บาลีวันละคำ 2,095)

เวสสันดร [2]

ผู้ให้จนโลกตามไม่ทัน

(คำในชุดนามานุกรมเวสสันดรชาดก)

อ่านว่า เวด-สัน-ดอน

เวสสันดร” บาลีเป็น “เวสฺสนฺตร” (เวด-สัน-ตะ-ระ)

นัย ๑

เวสฺสนฺตร” แยกศัพท์ตามรูปคำที่ตามองเห็นเป็น เวสฺส (เวด-สะ) + อนฺตร (อัน-ตะ-ระ)

(๑) “เวสฺส” รากศัพท์มาจาก วิสฺ (ธาตุ = ไป, เข้าไป) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ วิ-เป็น เอ (วิสฺ > เวส)

: วิสฺ + = วิสฺส > เวสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ไปทางโน้นทางนี้ด้วยความอยากได้ทรัพย์” (2) “ผู้เข้าไป” ( = เข้าไปติดต่อทำกิจการต่างๆ)

เวสฺส” เป็นวรรณะหนึ่งในสี่ของสังคมอินเดีย ( = กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร) หมายถึงคนสามัญ (a man of the people) ที่มิได้อยู่ในวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ และศูทร ตามที่เข้าใจกันก็คือ คนที่ประกอบอาชีพอิสระทั่วไป เช่น เกษตรกร พ่อค้า แต่มักเน้นที่ “พ่อค้า” (ตามรากศัพท์ที่แสดงข้างต้นก็หมายถึงพ่อค้าหรือคนค้าขาย)

(๒) “อนฺตร” รากศัพท์มาจาก อติ (ธาตุ = ผูก) + อร ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุ (อติ > อํติ) แล้วแปลงนิคหิตเป็น นฺ (อํติ > อนฺติ), ลบสระที่สุดธาตุ (อติ > อต)

: อติ > อํติ > อนฺติ > อนฺต + อร = อนฺตร แปลตามศัพท์ว่า “จุดที่ผูกสองข้างไว้” หมายถึง ภายใน, ระหว่าง (inside, in between)

เวสฺส + อนฺตร = เวสฺสนฺตร แปลตามศัพท์ว่า “ระหว่างพ่อค้า” หมายถึง ผู้อยู่ระหว่างพ่อค้า คืออยู่ในกลุ่มพ่อค้า หรืออยู่ในย่านการค้า

นัย ๒

เวสฺสนฺตร” รากศัพท์มาจาก –

(1) เวสฺส (พ่อค้า) + ตร ปัจจัย, ซ้อน นฺ

: เวสฺส + นฺ + ตร = เวสฺสนฺตร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดที่ถนนพ่อค้า

(2) เวสฺส (พ่อค้า) + ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + ปัจจัย, ซ้อน นฺ

: เวสฺส + นฺ + ตรฺ + = เวสฺสนฺตร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ข้ามตรอกพ่อค้า

ชื่อ “เวสสันดร” ในมหาเวสสันดรชาดก ท่านว่ามาจากรากศัพท์ตามนัย ๒ นี้

พระเวสสันดรเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ากรุงสญชัยแห่งสีวิรัฐ ประสูติแต่พระนางผุสดี ตามประวัติในคัมภีร์แสดงไว้ว่าประสูติในระหว่างที่พระมารดาเสด็จประพาสพระนครถึงย่านการค้าพอดี

ขอนำข้อความในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์หิมพานต์ ที่พรรณนาเรื่องตอนนี้มาเสนอดังนี้ –

……….

สา ผุสตี อันว่าสมเด็จพระผุสดี ผู้เป็นจอมนารีราชวงศ์

ทส มาเส ธารยิตฺวา เมื่อพระนางเธอทรงพระครรภ์ถ้วนทศมาส

ปรารถนาจะประพาสชมพระนคร

จึงทูลวอนพระภรรดา

ท้าวเธอก็ทรงพระกรุณาให้ตกแต่งนคเรศ

เหมือนทิพยนิเวศน์สุราลัยมโหฬาร

ให้ทรงพระสีวิกากาญจนประดับ

เป็นสีแสงสุวรรณวาบวับระยับตา

พร้อมไปด้วยตระกูลราชกัญญาแห่แหนเป็นขนัด

ธงชัยมยุรฉัตรพัดโบกบังแสงพระสุริยามาศ

เสียงดุริยางค์พิณพาทย์ฆ้องกลองนฤนาทประโคมแห่เป็นคู่ๆ ดูสะพรั่ง

ปุรํ ปทกฺขิณํ ประทักษิณเวียนรอบพระพารา

เวสฺสานํ วีถิยา ตามมรรคาถนนหลวง

ที่พ่อค้าทั้งปวงประชุมกันมิได้ขาด

กมฺมชวาตา ลมกัมมัชวาตประพาสผัน

ทรงประชวรพระครรภ์ดูอนาถ

ฝ่ายพระประยูรญาติแวดล้อมเป็นขนัด

นางกษัตริย์ก็ประสูติพระราชกุมาร ในสถานที่นั้นแล

……….

พระเวสสันดรมีอัธยาศัยที่จะบำเพ็ญทานบารมีตั้งแต่ยังอยู่ในพระครรภ์ กล่าวคือพระนางผุสดีทรงแพ้พระครรภ์ปรารถนาจะสร้างโรงฉทานศาลาและบริจาคทรัพย์วันละหกแสน พระเจ้ากรุงสญชัยก็ทรงจัดการให้เป็นไปตามที่ปรารถนา

วันที่ประสูติ พระเวสสันดรพูดกับพระมารดาว่า “มีทรัพย์อะไรบ้างไหม ลูกจะให้ทาน

ท่านว่าพระโพธิสัตว์ (คือพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้) พูดได้ในวันที่เกิดมี 3 ชาติ คือ ชาติที่เป็นมโหสถ ชาติที่เป็นพระเวสสันดร และพระชาติสุดท้ายที่เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ

พระเวสสันดรทรงบริจาคช้างปัจจัยนาค เป็นเหตุให้ต้องนิราศพระนครไปอยู่เขาวงกตเป็นเวลา 1 ปี 15 วัน จึงได้กลับมาครองเมืองดังเดิม

พระเวสสันดรครองราชสมบัติจนพระชนมายุ 120 พรรษาจึงสวรรคต ไปอุบัติเป็นสันดุสิตเทวราชเสวยทิพยสมบัติในสวรรค์ชั้นดุสิต

สันดุสิตเทวราชจุติลงมาอุบัติเป็นสิทธัตถราชกุมาร บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นในมนุษยโลกดังที่ปรากฏมาจนถึงกาลปัจจุบันนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เกิดที่ไหน ท่านเลือกไม่ได้

: แต่จะไปเกิดที่ไหน ท่านเลือกได้

—————–

(คำในชุดนี้ได้ความคิดจากคำถามของ วงษ์ชนะ สุรเชษฐ์)

#บาลีวันละคำ (2,095)

8-3-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย