บาลีวันละคำ

ครุฑ (บาลีวันละคำ 1,790)

ครุฑ

อ่านว่า คฺรุด

ครุฑ” บาลีเป็น “ครุฬ” (คะ-รุ-ละ) รากศัพท์มาจาก –

(1) คร (งู, นาค) + หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, ลบ , แปลง ที่ (ค)- เป็น รุ (คร > ครุ), แปลง หนฺ เป็น

: คร + หนฺ = ครหนฺ + = ครหนณ > ครหน > ครุหน > ครุฬ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เบียดเบียนพญานาค

(2) ครุ (ของหนัก) + ลา (ธาตุ = ถือเอา) + ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (ลา > ), แปลง ที่ ลา ธาตุ เป็น (ลา > ฬา)

: ครุ + ลา = ครุลา > ครุล + = ครุล > ครุฬ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถือของหนักได้” (คือจับพญานาคบินไปได้)

ครุฬ” (ปุงลิงค์) หมายถึง ครุฑ (the garuda)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ครุฬ” ว่า Name of a mythical bird, a harpy (ชื่อของนกในนิยาย, ครุฑ, นกหน้าเป็นมนุษย์)

บาลี “ครุฬ” สันสกฤตเป็น “ครูฑ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ครูฑ : (คำนาม) ยานปักษินของพระวิษณุ, ครุฑราชปักษิน, พญาครุฑหรือครุฑทรงขององค์นารายณ์ (ช่างเขียน ๆ รูปไว้กลายๆ, กล่าวคือ, มนุษย์ก็มิใช่ปักษินก็มิเชิง, นับว่าเปนพญานก; เปนโอรสกัศยปและวินตา, และเปนอนุภราดาของอรุณ); the vehicle bird of Vishṇu or Nārāyaṇa [he is represented as a being something between a man and a bird, and considered sovereign of the feathered race; he is the son of Kaśyapa and Vinatā, and younger brother of Aruṇa].”

ในภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “ครุฑ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ครุฑ : (คำนาม) พญานกในเทพนิยาย เป็นพาหนะของพระนารายณ์, ใช้เป็นตราแผ่นดินและเครื่องหมายทางราชการ. (ส.; ป. ครุฬ).”

…………..

ขยายความ :

ในทางศิลปกรรมไทยจัดว่าครุฑเป็นอมนุษย์จำพวกกึ่งเทพกึ่งสัตว์ ตามคติโบราณสืบเนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์ถือว่าครุฑเป็นใหญ่ที่สุดในบรรดานกทั้งหลาย มีรูปร่างลักษณะครึ่งนกครึ่งคน คือมีหัว ปีก เล็บ และปากเหมือนนกอินทรี ตัวและแขนเหมือนคน หน้าขาว ปีกแดง ตัวเป็นสีทอง หน้าตาท่าทางดุร้าย สวมมงกุฎยอดน้ำเต้า สวมสร้อยคอ พาหุรัด ทองกรและกำไล นุ่งผ้าชายเฟือยมีห้อยหน้า ไม่สวมเสื้อ

ครุฑอาศัยอยู่บนต้นงิ้ว ส่วนพญาครุฑอาศัยอยู่บนวิมานสวยงามชื่อว่า “วิมานฉิมพลี”

ครุฑเป็นนกที่บินได้เร็วไม่มีสัตว์อื่นเทียบ คือบินได้กวักละโยชน์ ที่อยู่อาศัยเป็นสถานที่ลี้ลับยากที่ใครจะไปได้ถึง มีฤทธานุภาพมาก ตามคติพราหมณ์ที่ตกมาถึงไทยเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือพระผู้เป็นเจ้าอวตารลงมาเกิดเพื่อปราบทุกข์เข็ญ ครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์จึงได้รับการยกย่องโดยนำมาทำเป็นภาพเขียน ปั้น หรือแกะสลัก ตามจินตนาการของช่าง ใช้ประดับตามวัด สถานที่สำคัญของทางราชการ สิ่งของเครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ สิ่งของของแผ่นดิน เช่น รถหลวง เรือหลวง หนังสือสำหรับของทางราชการ

(จากเรื่อง “เจ้าแห่งวิมานฉิมพลี” เขียนโดย พัชนะ บุญประดิษฐ์ คลังความรู้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ครุฑแท้ย่อมแปลงเป็นกระจอกได้

: ยอดแห่งผู้ยิ่งใหญ่ คือเล็กเป็น

——————

ภาพจาก google

3-5-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย