อินเดีย (บาลีวันละคำ 1,791)
อินเดีย
มีอะไรดีๆ มากกว่าที่ตาเห็น
อ่านตรงตัวว่า อิน-เดีย
ชื่อนี้ถ้าเขียนเป็นอักษรโรมัน (ซึ่งคนไทยมักเรียกกันผิดๆ ว่า “ภาษาอังกฤษ”) ก็สะกดเป็น India
India ถอดเป็นคำบาลีได้ว่า “อินทิย” อ่านว่า อิน-ทิ-ยะ ประกอบด้วย อินฺท + อิย ปัจจัย
(1) “อินท” (อิน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –
๑) อิทิ (ธาตุ = เป็นใหญ่ยิ่ง) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ แล้วแปลงเป็น นฺ (อิทิ > อึทิ > อินฺทิ), “ลบสระหน้า” คือ (อิทิ + อ ปัจจัย : อิทิ อยู่หน้า อ อยู่หลัง) ลบสระ อิ ที่ (อิ)-ทิ (อิทิ > อิท)
: อิทิ > อึทิ > อินฺทิ > อินฺท + อ = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง”
๒) อินฺทฺ (ธาตุ = ประกอบ) + อ ปัจจัย
: อินฺทฺ + อ = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบด้วยความยิ่งใหญ่”
“อินฺท” (ปุงลิงค์) หมายถึง จอม, เจ้า, ผู้ยิ่งใหญ่, ผู้เป็นใหญ่, พระอินทร์
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อินฺท” ว่า –
(1) lord, chief, king (ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา)
(2) The Vedic god Indra (พระอินทร์ตามคัมภีร์พระเวท)
(โปรดสังเกตอักษรโรมัน Indra ที่ถอดชื่อพระอินทร์ เป็นคำเดียวกับ Inda > India)
(2) อินฺท + อิย = อินฺทิย แปลว่า “ควรแก่ผู้ยิ่งใหญ่” คือ ความเป็นผู้ยิ่งใหญ่
ที่ว่ามานี้โปรดทราบว่าเป็นการลากเข้าวัดอย่างหน้าตาเฉยเท่านั้น เพราะชื่อประเทศ “อินเดีย” นี้ นักภาษาสันนิษฐานกันว่ากลายมาจากคำว่า “สินธุ” อันเป็นชื่อสายน้ำใหญ่ตอนเหนือของชมพูทวีป
จาก “สินธุ” ฝรั่งเรียกเพี้ยนเป็น Indus ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Hindu (ฮินดู) แล้วก็กลายมาเป็น India
โปรดทราบด้วยว่า ชาวอินเดียไม่ได้เรียกประเทศของตัวเองว่า “อินเดีย” หากแต่เรียกว่า “ภรตวรรษ” ภาษาไทยอ่านว่า พะ-รด-ตะ-วัด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภรตวรรษ : (คำนาม) แผ่นดินแห่งท้าวภรต คือ อินเดีย. (ส. ภรตวรฺษ).”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ภรตวรฺษ” บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ภรตวรฺษ : (คำนาม) ‘ภรตวรรษ,’ อินเดีย; Bharatavarsha, India.”
“ท้าวภรต” คือใคร สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ภรต : (คำนาม) พระภรต, อนุชาของพระราม; โอรสของทุษยันต์ อันเกิดด้วยศกุนตลา; นามของมุนิรูปหนึ่ง; นามของประสิทธลิปิการผู้หนึ่ง; นรรตก, นักฟ้อน; วิเทศิน, ผู้ชาวดอย; ช่างถัก, ช่างทอ-ช่างสาน; วงศ์วานของภรต; Bharata, the younger brother of Rāma; the son of Dushyanta by Śakuntalā; the name of a Muni; the name of a celebrated writer; an actor, a dancer; a barbarian, a mountaineer; a weaver; a descendent of Bharata.”
แต่โดยทั่วไป อินเดียเรียกชื่อประเทศของตัวเองว่า “ภารต” (พา-รด, พา-ระ-ตะ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภารต, ภารต– : (คำนาม) ชาวอินเดีย; คนแสดงละคร. (ส.).”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ภารต : (คำนาม) อินเดียพิเศษ; มหาบุณยกาพย์ของของชาวฮินดู; นรรตก; วงศ์วานของภรต; วากศักดิ์หรือวาจา; proper India; the great sacred epic poem of the Hindus; an actor; a descendent of Bharata; speech.”
คำว่า “อินเดีย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อินเดีย : (คำนาม) ชื่อประเทศและชนชาติหนึ่งในเอเชียใต้ อยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศพม่า.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “อินเดีย” ไว้ดังนี้ –
“อินเดีย : ชื่อประเทศ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย ถัดจากประเทศพม่าออกไป มีเมืองหลวงชื่อ นิวเดลี (New Delhi) อยู่ห่างจากกรุงเทพประมาณ ๓,๑๐๐ กิโลเมตร อินเดียมีเนื้อที่ทั้งหมด ๓,๒๘๗,๕๙๐ ตารางกิโลเมตร มีพลเมืองใน พ.ศ. ๒๕๒๔ ประมาณ ๖๓๘ ล้านคน (พ.ศ. ๒๕๔๙ ประมาณ ๑,๐๙๕ ล้านคน) ครั้งโบราณเรียก ชมพูทวีป เป็นประเทศที่เกิดพระพุทธศาสนา, พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๒,๐๐๐ กิโลเมตร.”
…………..
คนไทยมักมองอินเดียว่าเป็นประเทศที่ยากจน แต่อินเดียมีมหาเศรษฐีมากกว่าเมืองไทย
คนไทยมักมองอินเดียว่าเป็นประเทศที่ล้าหลัง แต่คนอินเดียคิดค้นวิทยาการทางคอมพิวเตอร์ก้าวหน้าถึงระดับโลก-แน่นอน ก้าวหน้ามากกว่าคนไทยหลายช่วงตัว
อินเดียมีอะไรอีกมากมายที่คนไทยยังไม่เข้าใจ หรืออันที่จริงก็คือ-ยังเข้าใจผิด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: จงมองอินเดียอย่างที่อินเดียเป็น
: อย่ามองอินเดียอย่างที่เราอยากให้อินเดียเป็น
4-5-60